เห็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาตีปี๊บความสำเร็จ โครงการกำหนดอัตราความเร็วของรถยนต์ที่วิ่งบทางหลวงแผ่นดิน จากที่กำหนด 90 กม./ชม. เป็น 120 กม./ชม. ที่กระทรวงคมนาคมดีเดย์โครงการนำร่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยนำร่องโครงการบนนทางหลวงหมายเลข 32 หรือสายเอเชีย ช่วงหมวดการทางบางประอิน-อ่างทอง
ปรากฏว่า สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและรุนแรงลงได้ ซึ่งจากสถิติพบว่า ลดอุบัติเหตุได้กว่า 15%
จึงทำให้ล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้ขยายเส้นทาง “ออโตบาห์นเมืองไทย” ในระยะ 2 ไปอีก 6 เส้นทาง รวม 120 กม. เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.) ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตอนบ่อทอง - มอจะบก กม.ที่ 74.5 -กม. ที่ 88 ระยะทาง 13.500 กิโลเมตร 2.) ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตอนหางน้ำหนองแขม - บ้านหว้า - วังไผ่ ระหว่าง กม. ที่ 306+640-กม.ที่ 330+600 ระยะทาง 23.960 กิโลเมตร 3.) ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย)ตอนอ่างทอง - ไชโย - สิงห์ใต้ - สิงห์เหนือ – โพนางดำ ระหว่าง กม.ที่ 50-กม. ที่ 111+473 ระยะทาง 61.473 กิโลเมตร 4.) ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนสนามกีฬาธูปเตมีย์ - ประตูน้ำพระอินทร์ ระหว่าง กม. ที่ 35-กม. ที่ 45แข ระยะทาง 10.000 กิโลเมตร 5.) ทางหลวงหมายเลข34 (ถนนบางนา - ตราด) ตอนบางนา - ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่าง กม. ที่ 1+500 - กม. ที่ 15 ระยะทาง 13.5 กม. และ 6.) ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนสุวินทวงศ์) ตอนคลองหลวงแพ่ง - ฉะเชิงเทรา ระหว่าง กม. 53 - กม. ที่ 62 ระยะทาง 5.8 กม.
กระทรวงคมนาคม ยังมีแผนที่จะขยายเส้นทางถนนออโตบาห์นเมืองไทยในระยะ 3 เพิ่มอีก 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 152 กม.ในเดือน มี.ค. 65 ได้แก่ 1.) ทล. 1 ช่วงหนองแค-หินกอง--แยกพุแค กม.79 – 105 ระยะทาง 26 กม. 2.) ทล. 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กม.23 – กม.31 3.) ทล.347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย กม.1 – กม.10 ระยะทางประมาณ 10 กม. 4.) ทล. 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56 – 80 ระยะทางประมาณ 24.6 กม. 5.) ทล.4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.160– 167 ระยะทางประมาณ 7 กม. 6.) ทล. 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.172– 183 ระยะทางประมาณ 11.5 กม. และถนนของกรมทางหลวงชนบทอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.) นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 51.7 กม. และ 2.) นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 12.4 กม.
การปรับปรุงยกระดับถนนหลวงเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม.นั้น ทางกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ใช้งบจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถและถนน (กปถ.) มาสนับสนุนการปรับปรุงผิวจราจร เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การนำนโยบายใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหรือถนนออโตบาห์นเมืองไทย เสียงสะท้อนของผู้ใช้รถใช้ถนนออโตบาห์นเมืองไทยเรานั้น ไม่แน่ใจว่าจะชื่นชมความสำเร็จของการเปิดและขยายถนนออโตบาห์นเมืองไทย ไปกับวิชั่นของกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก ที่ทุ่มเทงบประมาณไปกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
เพราะมันแตกต่างไปจากถนนออโต้บาห์นต้นแบบอย่าง “เยอรมัน ออโตบาห์น” ราวฟ้ากับเหว เพราะถนนออโต้บาห์นในเยอรมันที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2472 (1929) ที่จะครบ 100 ปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมระหว่างเมืองโคโลญกับเมืองบอนน์ โดยโครงข่ายถนนของเขามีความยาวทั้งหมดประมาณ 12,917 กิโลเมตร และจัดได้ว่า เป็นทางหลวงที่ดีที่สุดของโลก มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่รถยนต์แต่ละคันขับด้วยความเร็วที่สูงมาก ทางหลวงแห่งนี้เป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่ชอบขับรถเร็วจากประเทศอื่นๆ ไปเพื่อขับรถสักครั้งหนึ่งในชีวิต
แต่พอหันมาดู “ออโตบาห์นเมืองไทย” แล้ว บอกตามตรงมันตรงกันข้ามชนิดฟ้ากับเหวเอาเลย ไม่น่าจะเรียกว่าออโต้บาห์นอะไรได้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ทางหลวง RC” กันเสียมากกว่า เพราะกำหนดเขตควบคุมความเร็วแบบขยักขย่อน ตรงนั้นนิด เส้นนี้หน่อย กำหนดกันแบบเป็นช่วงๆ แถมขับขี่อยู่ดีๆ เจอกล้องตรวจจับความเร็วส่งถึงบ้านบานตะไทเอาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากกำหนดจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการนั้นสุดแสนจะปวดเศียรเวียนเกล้า ลักปิด -ลักเปิด จะขึ้นต้น-ลงท้ายเมื่อไหร่ หา RC กันเอาเองครับพี่น้อง!
“แก่ง หินเพิง” เพิ่งจะไปลองใช้ทางหลวงบางปะอิน-อ่างทอง และที่กำลังทดลองทำต่อไปยังสิงห์บุรี -นครสวรรค์อะไรนั้น บอกตามตรงไม่ประทับใจเอาเลย แถมยังพาลจะหงุดหงิดเอากับการขับขี่บนถนนสายนี้เอาด้วย เพราะปัญหาที่ประสบนั้นเหลือคณานับจริงๆ
ไหนจะสิงห์รถบรรทุก สิบล้อ บรรทุกกระบะ และเก๋งที่ขับแช่ขวา เขากำหนดความเร็ว 100-120 พี่ก็ขับตามกำหนดเป๊ะคือ 100-120 นั่นแหล่ะ คือจะอยู่ช่วงเกิน 100 และแช่มันอยู่อย่างนั้น โดยไม่สนโลก แม้จะมีป้ายรถช้าชิดซ้ายแต่นิสัย (หรือสันดาน) คนไทยเป็นอย่างไรก็รู้กันอยู่ จะขับแช่เสียอย่าง อยากแซง(มรึง)หาทางแซงซ้ายไปเองครับ และหากไปไล่จี้ก้น ไปดริฟหรือกระพริบไฟใส่ ก็อาจมีการตามมาเอาคืนตามมาอีก หรือไม่ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เดี๋ยวพี่จะเลี้ยวขวา (ทั้งที่เขาปิดเส้นทางกลับรถไปหมดแล้ว)
ประการที่ 2 ที่เห็นก็คือ แม้เป้าหมายและวัตถุประสงค์กรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงอยากสร้างถนนออโต้บาห์นเมืองไทย แต่ไม่เข้าใจเหตุใด จึงไปกำหนดเขตทางหลวงตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อยแบบลักปิด -ลักเปิด เพราะจุดเริ่มต้น-สิ้นสุดโครงการขยักขย่อนเป็นช่วงๆ และมักจะไม่ประสานเชื่อมต่อกันเสียด้วย บางช่วงที่เป็นรอยต่อนั้นห่างกัน 3-5 กิโล ซึ่งก็มักจะมีสะพานลอยและมีกล้องตรวจจับความเร็วคอยทำหน้าที่ตรวจจับความเร็วแบบผู้ใช้รถต้องหา RC กันเอาเองว่า กำลังขับอยู่ในช่วงไหน เผลอไผลเมื่อไหร่เป็นโดนใบสั่งส่งไปถึงบ้านได้เมื่อนั้น
3. บางช่วงยังมีการผสมผสานระหว่างทางพิเศษ 120 กม.กับทางกลับรถ และขึ้นป้ายให้มันสับสน ทั้งป้ายลดความเร็ว 100 -90-120 + กับกล้องตรวจจับความเร็วของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พร้อมจะทำหน้าที่โดยไม่สนโลกอีกเช่นกัน
4. นี่ยังไม่นับรวมถึงสภาพพื้นผิวจราจร พื้นผิวถนนทางบางเส้นก่อสร้างมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เหมาะที่จะใช้ความเร็วอยู่แล้ว แต่ก็ใช้งบปะผุ ปรับปรุงให้มันราบเรียบ(ชั่วคราว) แล้วไปวัดดวงกันเอาเอง
ก่อนจะขยับขยายออโตบาห์นเมืองไทย ช่วยกลับไปสำรวจสภาพถนนและกำหนดนโยนบายที่ว่านี้ให้มันสะเด็ดน้ำเสียทีเถอะ อย่างที่ไปกำหนดใช้กับทางหลวงมอเตอร์เวย์นั่นแหล่ะเหมาะที่สุด เพราะไม่มีจุดตัด ไม่มีจุดกลับรถ ไม่มีจุดลักปิด-ลักเปิดของท้องถิ่นแทรกเป็นยาดำเข้ามา และการกำหนดถนนที่ใช้ความเร็วได้ ก็ไม่ชื่จะขยักชขย่อน ตรงนี้ 3 กิโล 5 กิโลหรือแค่ 10-15 กิโลอย่างวที่เป็นอยู่ กลายเป็นถนนให้ผู้ขับขี่ต้องคอยระแวดระวังควานหา RC เพื่อจะได้ไม่ต้องเจอด่าน เจอตรวจับความเร็วในช่วงหลุด RC เพราะการขาดการประสานระหว่างหน่วยงานหรือ ทำงานกับแบบไร้การบูรณาการ
หาไม่แล้ว มันก็เป็นได้แค่ออโต้บาห์นแบบไทยๆ เจอสันดานขับคนไทยมันก็จบเห่ครับ!
แก่งหิน เพิง