7 ปีเศษของ “รัฐบาลประยุทธ์” จาก “รัฐบาล คสช. สู่รัฐบาลพลเรือน” กู้สะท้านโลกไปแล้ว 12 ล้านล้านบาท แม้ตัวเลขหนี้สาธารณะจะหดเหลือ 8.9 ล้านล้านบาท เพราะมีการชำระคืนหนี้ไปแล้วบางส่วน แต่การปรับเพิ่มเพดานก่อหนี้เป็น 70% ของจีดีพี เท่ากับเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท สุดท้าย ภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ จะไหลกลับมาทำร้ายคนไทยเอง
“ก่อนยึดอำนาจ!...ประกาศจะเข้ามากอบกู้ชาติ แต่พอมีอำนาจแล้ว...กลับกู้เงินเป็นอย่างเดียว เก่งแต่ใช้เงิน แต่หาเงินไม่เป็น จนประเทศชาติ มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว”
วลีข้างต้นถูกนำพาดพิง...รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในช่วงหลังมากที่สุด
และเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ให้ทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้ไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70%
ด้วยเหตุผลของรัฐบาล คือ ต้องการจะเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาลและไม่เป็นอุปสรรค หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินก้อนใหม่ มาเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี
พร้อมกับยกอ้างจุดที่จะใช้ชำระล้างมลทิน ที่ว่า การขยายกรอบหนี้สาธารณะในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
7 ปีเศษ...ต่อเนื่องจากเป็นรัฐบาล คสช. ถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ภายใต้โควตาของพรรคพลังประชารัฐ “รัฐบาลประยุทธ์” กู้เงินมาตลอด ทั้งที่เป็นเงินกู้จากการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายฯ ของแต่ละปี และการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เมื่อปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาท และเตรียมจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ครั้งใหม่ อีก 5 แสนล้านบาท
รวมกันๆ แล้ว “รัฐบาลประยุทธ์” กู้สะท้านโลกไปแล้ว มากถึง 12 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้ ได้รับการยืนยันจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่ง นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ออกมาตอกย้ำในมุมที่ว่า...
“หลายปีในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการกู้เงินกันทุกปี แต่การกู้เงินเงินของรัฐบาลไม่เคยช่วยให้ประเทศดีขึ้น รัฐบาลคุยโตว่า รัฐบาลนี้แจกเงินประชาชนมากที่สุด แต่การกู้เงินมาแจกประชาชนไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ จึงไม่เกิดประโยชน์กับระบบเศษรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกัน หากมองดูจะพบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วง 2-3 ปีทีผ่านมา ไม่มีการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนการลงทุนจากภาครัฐก็น้อยมาก รัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอในการลงทุน เนื่องจากเก็บภาษีพลาดเป้า คาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564 รัฐบาลเก็บภาษีพลาดเป้าไป 300,000 ล้านบาท สะท้อนถึงการบริหารราชการที่ล้มเหลวทุกด้าน”
ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายนี้ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า...“ในการกู้เงินรอบใหม่ของรัฐบาล หากใช้เพียงกระดาษแผ่นเดียวมากู้ พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า จะนำไปใช้อะไรบ้าง ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านไม่คัดค้านการกู้เงิน เพราะคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น จะทำให้พี่น้องอยู่ดีกินดี แต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้เลย เงินที่กู้มาหายไปกับโครงการเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนใกล้ชิด”
ขณะเดียว พรรคฝ่ายค้าน ยังระบุอีกว่า...การที่รัฐบาลสร้างหนี้ให้กับคนไทยทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องใช้หนี้กันนานกว่า 3 ชั่วอายุ หรือไม่ต่ำกว่า 100 ปี ก็ไม่แน่ว่าจะใช้หนี้หมดหรือไม่? ในขณะที่ศักยภาพการใช้หนี้ของไทยมีน้อยมาก
ตรงนี้สะท้อนว่า...นักลงทุนไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล พูดให้ชัด! นักลงทุนไม่กล้าลงทุนกับรัฐบาลชุดนี้ ที่บอกว่านักลงทุนพร้อมมาลงทุนในประเทศไทยเป็นเรื่องมโนของ พล.อ.เอกประยุทธ์ ที่วาดฝันแต่ไม่เป็นจริง
ยิ่งไปกว่านั้น นายสมคิด ยังตีจุดตายของรัฐบาล อีกว่า...มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการทั้งปี (2564) ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ใครที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ คงรู้เองว่า...ตัวเลขที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า จะถูกชดเชยด้วยการกู้เงินนั่นเอง!
อย่างไรก็ตาม แม้เงินกู้รวมในช่วง 7-8 ปีในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีสูงถึง 12 ล้านล้านบาท แต่ระหว่างทางในแต่ละปี รัฐบาลได้ทำการชำระคืนหนี้ไปแล้วบางส่วน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในสังกัดกระทรวงการคลัง เผยตัวเลขหนี้สาธารณะของไทย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า...
มีเหลือแค่...8.9 ล้านล้านบาทเศษ หรือราว 55.59% ของจีดีพี ที่มีขนาดเศรษฐกิจ เมื่อคำนวณอออกมาเป็นตัวเลขก็ราวๆ 16 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 7,836,723 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 781,052 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 284,141 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานของรัฐ อีก 7,146 ล้านบาท
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร? หนี้สินก็คือหนี้สิน เป็นภาระที่ลูกหนี้จะต้องชำระคืนแก้เจ้าหน้าหนี้! และยิ่งเป็นหนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล หรือหนี้ในส่วนใด ก็ล้วนเป็นหนี้ก้อนรวมที่คนไทยทุกคน...จะต้องมีส่วนรับรู้ในภาระหนี้เหล่านั้น อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
ต่อให้รัฐบาล ยกแม้น้ำทั้ง 5 มาพูดอย่างไร? สุดท้าย...รัฐบาลก็ต้องหาทางดูดเงินจากประชาชนคนไทย ทั้งจากการขึ้นภาษีบาป เช่น เหล้า เบียร์ บุหรี่ ฯลฯ รวมถึงภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะภาษีน้ำมัน ที่รัฐบาลหาทางซิกแซ็ก ปรับขึ้นผ่านค่าอะไรก็ตาม
ปลายทางคือ ขึ้นราคาสินค้าและนำเงินที่ได้ไปใช้คืนหนี้สินที่มี...
แล้วอย่างนี้...จะบอกว่า “ประชาชนไม่เกี่ยวกับหนี้สินของรัฐบาลได้อย่างไร?” ในเมื่อประชาชน...จำต้องถูกรีดนาทาเร้น เพื่อนำเงินไปโปะคืนหนี้ของรัฐบาล
ย้อนกลับไปถึงการปรับแก้สัดส่วนเพดานก่อหนี้ จาก 60% เป็น 70% ของจีดีพีนั้น มีนักวิชาการและกูรูด้านการเงิน วิเคราะห์ตรงกัน นี่จะทำให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้ ด้วยการกู้เงินได้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท
แม้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะออกมายอมมารับว่า...กู้ได้จริงแค่ 1.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น และรัฐบาลก็ไม่ได้หวังจะกู้เต็มเพดานในช่วงของรัฐบาลนี้ แต่จะกู้ต่อเมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ยอมหยุด หรือเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ก็เท่านั้น
แต่อย่าลืมว่า...นี่คือ การ “ตีใบเสร็จล่วงหน้า” รองรับการกู้เงินก้อนใหม่ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดไหน? และหากเป็นการกู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหาที่ไร้ความสำเร็จในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่ะก็
มันคือหายนะทางเศรษฐกิจตามมาหรือไม่?
ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์...ก็จะมีแนวทางในการหาเงินเข้าประเทศ เพื่อลดภาระการก่อหนี้ แถมบางครั้ง...ยังเป็นการช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาส่งออกไม่ได้ เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อถึงสวนฯ เนื่องจากไม่มีแรงงานต่างด้าวจะมาทำงานให้ อันเป็นผลมาจากพิษโควิดฯ
โดยเลือกใช้วิธีการ “แลกเปลี่ยนสินค้า” กับรัฐบาลของประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เช่น...นำสินค้าเกษตรไปแลกน้ำมัน ก๊าซธรรม ปุ๋ย และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ไม่ใช่กับ “รัฐบาลประยุทธ์” ที่นอกจากจะใช้เงินเก่ง และใช้ไปในแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยสักเท่าใด? แต่กลับหาเงินเข้าประเทศไม่เป็น...
ใช้เงินเก่ง แต่หาเงินไม่เป็น! ทางเดียวที่ทำก็คือ “รีดเลือดจากปู” หรือการขึ้นสารพัดภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชนและภาคธุรกิจ
หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้อง...กู้ๆๆๆๆๆ กู้แหลก! ถึงขั้นต้องขยายเพดานการกู้ให้มันสูงยิ่งๆ ขึ้นไป
กู้จนได้ฉายาจาก... “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” สู่ “นักกู้สะท้านโลก” กันเลยทีเดียวเชียว!