คนไทยซึมซับจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะพวกเขาต้องร่วมแบบรับภาระหนี้จำนวนมหาศาลไปกับรัฐบาล แม้กระทรวงการคลัง เตรียมโอนเงิน 1,500 บาท ในโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ช่วงที่ 2 ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ก็ไม่ก่อความรู้สึกใดๆ สะท้อนภาพที่การแจกเงินรอบใหม่ของรัฐบาล ไร้ซึ่งมนต์ขลังอีกต่อไป ความชิงชังจะนำมาซึ่งการตัดสินใจในทางการเมือง
หลายนโยบายของรัฐที่ได้ดำเนินการผ่านโครงการหรือมาตรการต่างๆ ตลอดช่วง 7 ปีเศษที่ผ่านมา นับจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงสงครามการค้า “สหรัฐฯ และจีน” เมื่อราวปลายปี 2560 เป็นต้นมา
ต่อเนื่องจนถึงมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน นั้น
อันที่จริงความรุนแรงและเลวร้ายจากผลกระทบของไวรัสโควิดฯ ซึ่งนับเป็น “โรคอุบัติใหม่” ที่โลกเพิ่งเคยประสบพบเจอ ก็นับว่ารุนแรงเกินจะคาดเดาได้ถึงจุดสิ้นสุดของปัญหาว่า จะจบและลงเอยตรงจุดใด?
แต่รัฐบาลหลายประเทศกลับค้นพบว่า...ในความรุนแรงและเลวร้ายของไวรัสโควิดฯ เราสามารถจะอยู่กับมันได้ในระดับที่ต้อง “รักษาระยะห่าง” จากกัน
แล้วดำเนินการขับเคลื่อนทุกชีวิตในสังคม ทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนและการดำเนินธุรกิจต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสามารถจะก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไปได้
แต่สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่วิธีคิดในการรับมือและจัดการปัญหาไวรัสโควิดฯ ไปจนถึงการออกมาตรการทางด้านสังคม การสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจแล้ว
ดูเหมือนจะมีมาตรฐานต่ำมาก เมื่อเทียบกับรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกและบางประเทศในเอเชีย
จุดพีคสุด! ของความรุนแรงและเลวร้าย ที่คนไทยและธุรกิจไทยประสบ ไม่ได้อยู่ที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ เพียงลำพัง แต่กลับอยู่ที่ความไม่เข้าใจในสถานการณ์ “โรคอุบัติใหม่” ของตัวรัฐบาลเอง
นั่นจึงนำไปสู่การกำหนดนโยบาย “เกาไม่ถูกที่คัน!” หลายๆ เรื่อง???
ชัดๆ ก็คือ นโยบาย “ปิดประเทศ” หรือ “ล็อคดาวน์” ชนิดปิดกันเต็มรูปแบบ เมื่อช่วงกลางปี 2563
สถานการณ์ยามนั้น ความรุนแรงและเลวร้ายของไวรัสโควิดฯ ยังคงเป็นเพียงเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมๆ ที่เรียกกันว่า “สายพันธุ์อู่ฮั่น” แต่รัฐบาลที่ไร้หลักคิดและวิสัยทัศน์ กลับประเมินปัญหาได้รุนแรงเกินความเป็นจริง!
กระทั่ง นำไปสู่การออกมาตรการรุนแรงในระดับสูงสุด นั่นคือ “ล็อคดาวน์” เต็มรูปแบบ หยุดทุกกิจกรรมทางสังคมและธุรกิจโดยสิ้นเชิง
พร้อมกับ อัดฉีดเงินที่มี รวมถึงเงินกู้ก้อนแรก 1 ล้านล้านบาท มาใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบหว่านแห! โดยหวังจะหยุดยั้งปัญหานี้จบ! ภายในยุคของ รัฐบาลประยุทธ์
แต่เพราะความหละหลวม จากความละโมบโลภมาก เห็นแก่อามิสสินบน...ของข้าราชการในสังกัดหน่วยงานด้านความมั่นคงบางกลุ่ม...บางคน ที่ปล่อยให้มีการลักลอบขนแรงงานเถื่อน ติดเชื้อโควิดฯ สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่า เข้ามาแพร่เชื้อในประเทศ
และปล่อยให้มีการลักลอบเล่นการพนันเถื่อน ไปจนถึงการลักลอบจัดปาร์ตี้ในใจกลางเมือง จนนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ตามมา จนถึงทุกวันนี้...
เรื่องมันจึงยังไม่จบ!!!
หันดูสถานการณ์ปัจจุบัน ในวันที่....เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเกือบจะหมดแล้ว และเงินกู้ก้อนใหม่อีก 5 แสนล้านบาท กำลังจะดำเนินการ “กู้เพิ่ม” ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
แถมรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังได้แก้ไขกฎหมาย “พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ” เพื่อปรับสัดส่วนเพดานการก่อหนี้จากเดิมร้อยละ 60 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี อันจะทำให้รัฐบาลสามารถก็เงินได้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาท
ทั้งที่วงวิชาการ...กลับเห็นต่างๆ ด้วยเชื่อว่า...หนี้ก้อนใหม่ที่รัฐบาลจะพึงกู้เงินมาโปะความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย อาจสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ!
แต่ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ใหม่ก้อนใด? ก็ล้วนเป็นภาระของประเทศและประชาชนที่จะต้องมีส่วนร่วม “จ่าย” ในภาระหนี้ก้อนนี้อยู่ดี
หนี้สินของประเทศ หรือหนี้สาธารณะ...ที่ภาพรวมได้พุ่งทะยานไปถึงระดับ 12 ล้านล้านบาท อันเกิดจากการกู้เงินของ “รัฐบาลประยุทธ์” ในช่วง 7 ปีเศษ แม้จะการใช้คืนหนี้ในบางส่วน กระทั่ง หนี้จากการกู้ยืมก้อนนี้เหลือเพียง 8.9 ล้านล้านบาทในช่วงกลางปี 2564
แต่หลังจากนี้...นับจากที่รัฐบาล โดย คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ให้ทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้ไม่เกิน ร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 แล้ว
กล่าวกันว่า...ก้อนหนี้ใหม่ เมื่อรวมกับหนี้เก่าแล้ว จะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท และอาจไหลกลับสู่จุดเดิมที่ 12 ล้านล้านบาท หรือมากกว่านั้น หากจะมีการแก้ไขเพดานการกู้เงินใหม่อีกครั้ง จากไม่เกินร้อยละ 70 เป็นไม่เกินร้อยละ 80
ที่ยกเหตุผลข้ออ้างมาทั้งหมดนี้ เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า...สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มันได้สร้างการรับรู้ กระทั่งซึมซับเข้าไปในเซลล์สมองของคนไทยเรียบร้อยแล้ว
และได้พิพากษาเรียบร้อยแล้วว่า...รัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่เหมาะสมที่จะอยู่บริหารประเทศต่อไปได้อีก
ไม่ว่าการจากไปของรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ จะเป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุในทางการเมือง หรือเพราะตัว “ผู้นำ” เกิดอาการถอดใจเอง
แต่โอกาสที่เขาและคณะจะกลับมาบริหารประเทศ โดยวิธีการธรรมดาและสะอาดบริสุทธิ์ จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับสังคมไทยเด็ดขาด
คนไทยส่วนใหญ่ได้ “พิพากษา” แกนนำและคนในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่เป็น “เสาหลัก” ค้ำยันรัฐบาล ไปหมดสิ้นแล้ว
รอแค่เพียงเวลาที่อำนาจจะไหลกลับมาเป็นของประชาชน แม้จะเป็นเพียงแค่ “วันเดียว” ของการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า ก็ตาม
ดังนั้น ในวันที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง เตรียมจะโอน “เศษเงิน” จำนวน 1,500 บาท ให้กับผู้มีสิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ระยะที่ 2 ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นั้น
แทบไม่มีอาการตื่นเต้นใดๆ จากคนไทย ที่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ว่า ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ทั้งหมด 27 ล้านคน และมีคนใช้สิทธิ์จริงๆ เพียง 24.32 ล้านคน แต่อย่างใด?
ตรงนี้มีประเด็นให้ต้องขบคิดกันต่อ...หนึ่ง เหตุที่คนไทยรู้สึกเฉยๆ กับเม็ดเงินก้อนใหม่ที่รัฐบาลโอนมาให้? เนื่องจากสถานการณ์จริงในปัจจุบัน มันรุนแรงและเลวร้ายเกินกว่าที่เงินจำนวน 1,500 บาท จะเข้าช่วยเหลือและเยียวยาชีวิตให้พวกเขาดีขึ้นได้
แถมบางคน...บางครอบครัว ยังต้องประสบชะตากรรม “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ถูกน้ำท่วมบ้านเข้าไปอีก
อาการเฉยๆ ไม่รู้สึก “ร้อนหนาว” กับการแจกเงิน 1,500 ของรัฐบาล จึงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
และยิ่งเป็นเงินที่ได้จากภาครัฐ ในแบบ “โคเพย์” หรือร่วมจ่ายในแบบ “รัฐจ่ายครึ่ง...ประชาชนควักจ่ายอีกครึ่ง” ...ยิ่งนำไปสู่เหตุผลข้อที่สอง กล่าวคือ มีจำนวนคนได้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 รวม 27 ล้านคน แต่มีคนใช้สิทธิ์จริงแค่ 24.32 ล้านคน
แล้วอีก 2.68 ล้านคนหายไปไหน? คำตอบคือ...ไม่ได้หายไปไหน! แต่เพราะคนเหล่านี้...ไม่มีเงินจะนำไปร่วม “จ่ายคนละครึ่ง” กับภาครัฐอีกต่อไป
แถมในจำนวน 27 ล้านคน ที่ใช้จ่ายเงินในโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ยังพบอีกว่า...มีเพียงแค่ 10 ล้านคนเท่านั้น ที่ใช้จ่ายเงินเต็มวงเงินก้อนแรก 1,500 บาท
นั่นหมายความว่า..มีคนอีก 17 ล้านคน ที่ไม่ได้ใช้จ่ายเงินให้ครบจำนน 1,500 บาท เนื่องเพราะพวกเขาไม่มีเงินที่จะนำไปร่วมจ่ายคนละครึ่งกับรัฐบาลอีกแล้ว
ถึงตรงนี้...มันสะท้อนภาพได้ชัดเจนเหลือเกินว่า อาการไม่รู้ร้อนรู้หนาว หรือรู้สึกรู้สาใดๆ กับนโยบายและมาตรการแจกเงินใดๆ ของภาครัฐ ได้หยั่งรากฝังลึกลงในเซลล์สมองและความรู้สึกของคนไทยไปหมดแล้ว
จากอาการเมินเฉยต่อมาตรการแจกเงินของเรัฐบาล อาจนำไปสู่ความรู้สึก...ชิงชังในตัวรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลได้ หากยังไม่หยุดพฤติกรรมสร้างหนี้ให้กับคนไทย
นาทีนี้...พูดกันตรงๆ ก็คือ นโยบายแจกเศษเงินของรัฐบาล มันสิ้นมนต์ขลังไปเสียแล้ว!!!