"ชัชขาติ" ชี้เศรษฐกิจไทย รวยกระจุก-จนกระจาย บริษัทใหญ่สุดแกร่ง แต่ระดับล่างสุดเปราะบาง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวในงาน Dinner Talk ที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จัดขึ้น เมื่อค่ำวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาเติบโต ในลักษณะ "แข็งบน อ่อนล่าง" โดยธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับบน มีความแข็งแกร่ง ดูได้จาก ยอดขายและกำไรบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ สุดแข็งแกร่ง มียอดขายรวมมากกว่า 12 ล้านล้านบาท แต่ธุรกิจโดยทั่วไปกลับอยู่ในสภาพกลับบ้าน อ่อนแอ หากปล่อยไว้เช่นนี้ ปัญหายิ่งจะลุกลามบานปลาย เกิดปัญหารวยกระจุก โดยเฉพาะกระจุกตัวอยู่แต่ในพื้นที่ อีอีซี หรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด แต่ในต่างจังหวัดไม่ขยายตัวตาม นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาแข็งนอก-อ่อนใน ประเทศพึ่งพาแต่การส่งออกเป็นหลัก โดย GDP กว่า 70% พึ่งพาการส่งออก ซึ่งแม้จะเป็นผลดีกับประเทศ แต่เมื่อใดเกิดปัญหาส่งออกชะลอตัวหรือชะงักงัน จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจภายใน เช่นในปีนี้ที่เกิดปัญหาส่งออกชะลอตัวจากปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะติดลบถึง 1.64 % ขณะที่ นักท่องเที่ยวก็ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อ GDP โดยรวมของประเทศอย่างรุนแรงตามมา โดยคาดว่าในปีนี้ GDP ไทยคงจะขยายตัว ประมาณ 3.2 %เท่านั้นทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่ภาคเศรษฐกิจสำคัญเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้วขายไม่ออกเป็นจำนวนมาก ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป นายชัชชาติ กล่าวว่า คงหวังพึ่งโครงการ Mega project การลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น ปี 62 มีโครงการลงทุนมากกว่า 3.69 แสนล้านบาท ขณะที่ภาครัฐบาลเองก็ทุ่มเทการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งทุกฝ่ายก็ได้แต่เอาใจช่วยให้โครงการลงทุนเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ เพราะหากเกิดความชะงักงันหรือผิดพลาดลงไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องจากภาครัฐได้ทุ่มเทการลงทุนลงไปในพื้นที่ดังกล่าวหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำในอนาคต แม้การลงทุนในอีอีซีจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่การเข้ามาลงทุนของต่างชาติในเขตอีอีซี ต้องยอมรับว่า มีแต้มต่อเหนือกว่าธุรกิจไทย หลายโครงการในอีอีซี ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 หรือรถไฟความเร็วสูง บริษัทรับเหมาที่เข้ามารับงาน ล้วนเป็นบริษัทต่างชาติอย่างจีน เป็นต้น และในอนาคตจะเข้ามาอีกมาก ซึ่งคงจะส่งผลต่อธุรกิจไทยได้ จึงต้องคิดหาทางรับมือไว้แต่เนิ่นๆ สำหรับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่จะเข้ามากระทบต่อธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีใดก็ไม่น่ากลัวเท่ากับ Platform Model หรือการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจที่กำลังเขย่าทุกภาคธุรกิจในขณะนี้ จากการเข้ามาของบรรดา Platform Model เหล่านี้ อย่าง อาลีบาบา อเมซอน Google ซึ่งจะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกระบวนการในการทำงานแบบครบวงจร ต่างจากรูปแบบในปัจจุบัน ที่เป็นแบบ Pipe-line ดังจะสังเกตได้จาก 5 บริษัทยักษ์ในอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐ ล้วนเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งสิ้น มีมูลค่ามากกว่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลดและตัดขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆ ออกไปหมด ไม่ต้องมีผู้ควบคุม ขยายตัวได้เร็ว ใช้งานได้สะดวก และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรือ feedback Loop ที่รวดเร็วอันเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันในอนาคต