“....คนไทยถึงกับร้องจ๊ากกับของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟซ้ำเติมวิกฤติ....กกพ.ขยับหน่วยละ 16.71 สต. ขึ้นค่าไฟ มค.65.... เติมทุกข์ กกพ.เคาะโขกค่าไฟฟ้า รีดเลือดรับปีใหม่ 65....”
ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
กับเรื่องที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที (FT) ที่จะเรียกเก็บในช่วงเดือน มค. - เม.ย.65 จะปรับขึ้นก่อน 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากงวดปัจจุบัน
ทั้งยังส่งสัญญาณตลอดปี 2565 อัตราค่า FT ยังจะทยอยปรับขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่องตลอดปี 65 จากผลกระทบของต้นทุนพลังงานและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณในงวดปัจจุบันที่ 31.3 บาท ขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น
โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 60.27 นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว และมาเลเซีย) รวมร้อยละ 13.92 และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 7.68 ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 7.55 และอื่นๆ อีก ร้อยละ 6.92 เช่นเดียวกับราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น
เลขาธิการ กกพ.ยังระบุด้วยว่า ที่จริง ค่าไฟฟ้า FT งวดเดือน ม.ค.65 นั้น น่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าตัว แต่รัฐได้พยายามหาทางบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยการนำเงินบริหารจัดการค่า Ft และเงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 5,129 ล้านบาท และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชีเงินที่จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณก๊าซตามสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาจำนวน 13,511 ล้านบาท รวมเป็นเงิน ทั้งหมด 18,640 ล้านบาทมาใช้ อีกทั้งยังใช้วิธีเกลี่ยค่า Ft มาใช้ เพราะถ้าไม่เกลี่ยแบบนี้ ช่วงงวด ม.ค.-เม.ย.65 Ft จะพุ่งถึง 48.01 สตางค์ต่อหน่วยเลยทีเดียว แต่กระนั้นไม่ว่าจะอย่างไร กกพ.ก็ส่งสัญญานชัดเจนแล้วว่า นับจากต้นปี 65 อัตราค่าไฟ FT จะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ฟังเหตุผลของเลขาธิการ กกพ.แล้ว สำหรับ “ประชาชนคนไทย” ก็คงได้แต่นั่งทำตาปริบๆ และคงเต็มไปด้วยข้อกังขา ค่า FT ที่มันพุ่งทะลักมาจากปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนได้ยังไง เพราะทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรนี้ ปัจจัยในเรื่องของค่าเงินจะถูกนำมาเป็นเหตุผลสุดคลาสสิกก่อนเป็นอันดับแรก
ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ส่งผลต่อค่า FT แพงขึ้น
จนก่อให้เกิดคำถามหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไหน(วะ) ขยันไปกู้เงินมาสร้างโรงไฟฟ้า หรือสายส่ง สายไฟกันนัก และหากปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทเป็นมูลเหตุหลักที่ทำให้ค่า FT มันพุ่งทะยานนัก กกพ. ก็ควรต้องชี้แจงให้ประชาชนคนไทยได้เกิดความกระจ่างทีว่า ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตไฟฟ้ามีหนี้สกุลเงินนอกอยู่เท่าไหร่กันแน่ กี่หมืนกี่แสนล้าน และหน่วยงานใดแบกหนี้ไว้มากที่สุด ประชาชนคนไทยจะได้รู้ว่า ต่อไปควรจะทำยังไงกับหน่วยงานนั้น
ไม่งั้นค่าเงินมันจะกลายเป็น “วิชาแพะ” ที่เอาไว้หลอกประชาชนคนไทยไปตลอดศกนั่นแหล่ะ
เหนือสิ่งอื่นใด อีกปัจจัยที่ทำให้ค่า FT พุ่งทะยานนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการพลังงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานเองที่ไม่รู้จะมี “รัฐมนตรีพลังงาน” เอาไว้ทำไม?
เพราะนอกเหนือจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ที่กำลังทำเอาภาคขนส่งและสิงห์รถบรรทุกในสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทยลุกฮือขึ้นประท้วง จะหยุดวิ่งกันทั้งประเทศ โดยที่รัฐมนตรีพลังงานได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ ปากก็ท่องแต่คำว่า ลดราคาดีเซลลงเหลือ 25บาทต่อลิตรไม่ได้ ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงไม่ได้ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลในภาคขนส่งได้แค่ 30 บาท ต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ทำให้ย้อนไปถึงในช่วงรัฐบาลก่อนหน้าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เศรษฐกิจทั่วโลกบูมสนั่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานไปสู่วิกฤตถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันในบ้านเราก็ทะยานขึ้นไปสูงกว่า 40 บาท/ลิตร ทำไมรัฐบาลในเวลานั้น สามารถประคับประคองราคาน้ำมันและพลังงานในภาคขนส่งฝ่าวิกฤติมาได้
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกวันนี้ก็เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงราคา 70-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ต่ำกว่าในอดีตเป็นเท่าตัว แต่กระทรวงพลังงานกลับบ้อท่าไม่สามารถจัดการกับปัญหากล้วย ๆ นี้ได้ ก็ไม่รู้จะต้องให้นายกฯ “ลุงตู่” นั่งไทม์แมชชีนไปขุดเอาอดีตรัฐมนตรีพลังงานยุคนั้นกลับมาแก้ไขปัญหาให้กัน!
มาถึงเรื่องของค่าไฟฟ้า และ FT ที่กำลังทำเอา “ประชาชนคนไทย” อกสั่นขวัญผวา ทำเอาเศรษฐกิจไทยอาจถึงขั้นพับฐานกันอีกระลอกนั้น ที่จริงยังมีปัจจัยในเรื่องต้นทุนพลังงานต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งจากแหล่งผลิตต่างประเทศ และต้นทุนจากการนำเข้าพลังงานมาผลิตไฟฟ้า ที่กระทรวงพลังงานเองรู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่า ผลพวงจากความล้มเหลวในการจัดหาแหล่งก๊าซในอ่าวไทยในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านสัมปทานในแหล่งผลิตก๊าซสำคัญของประเทศนั้น จะส่งผลต่อราคาพลังงานและราคาไฟฟ้าในบ้านเราอย่างไร
นักวิชาการพลังงาน และกูรูต่างพากันเตือนแล้วเตือนอีกว่า จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและค่าไฟในมือ ”ประชาชนผู้บริโภค”
แล้วกระทรวงพลังงาน รวมถึง กกพ.ทำอะไรกันไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา ถึงได้ปล่อยให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้
ทั้งหมดล้วนสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหรือไม่?
แก่งหิน เพิง