เหลือบไปเห็นการจุดพลุนโยบายพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ สถานีหัวลำโพงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ภายหลังจากที่การรถไฟฯ เตรียมหยุดการเดินรถไฟ เข้ามายังสถานีประวัติศาสตร์ดังกล่าวในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ หลังจากเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ พร้อมกับได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ พิจารณาแผนพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงลบางส่วนในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้มาล้างขาดทุนสะสมให้แก่การรถไฟฯ ที่มีอยู่กว่า 1.6 แสนล้านบาท
โดย รมว.คมนาคม ระบุว่า โครงการรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และปัจจุบัน รฟท.ยังมีภาระหนี้สินสะสมอยู่เป็นจำนวนมากรวมกว่า 1.6 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนหนี้ที่ไม่ได้ลงบัญชีอาจมีถึง 6 แสนล้านบาท จึงเป็นโจทย์ที่ รฟท.ต้องเร่งแก้ปัญหา ซึ่ง รฟท.ได้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เป็นบริษัทลูก เพื่อดำเนินการบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.เพื่อหารายได้แก้ปัญหาขาดทุน ซึ่งมีหลายแปลงที่มีศักยภาพไม่เฉพาะสถานีหัวลำโพง แต่ยังมีสถานีธนบุรี ซึ่งจะพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช, บริเวณอาร์ซีเอ บริเวณสถานีแม่น้ำ โดย SRTA คาดการณ์คาดว่าในปีแรกจะสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาทรัพย์สินให้กับ รฟท.ประมาณ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท และรวม 30 ปี รฟท.ได้มากถึง 8 แสนล้านบาท
“วันนี้ (22 พ.ย.) จะมีการนำข้อมูล ข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณาประเมินตัวเลขต่างๆ และผลกระทบ แนวทางการเยียวยา หากตัวเลข ข้อมูลชัดเจนตัดสินใจได้ก็ตัดสินใจ ตอนนี้อย่าเพิ่งดรามากัน ซึ่งจากที่มี 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนเข้าหัวลำโพง ก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ให้ รฟท.ไปดูอีกว่าจะปรับได้อีกหรือไม่ หรือจะปรับเวลาไม่ให้กระทบช่วงเร่งด่วน เพราะเราต้องแก้ปัญหาจราจร และในที่สุดการบริหารที่สถานีหัวลำโพงจะต้องเปลี่ยนไป เพราะเรามีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางระบบราง ผมกล้าตัดสินใจ ผมทำงานก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่เป็นไร ซึ่งการพัฒนาหัวลำโพงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องประมูลแบบนานาชาติ และคงไม่ได้เกิดในสมัยผม แต่วันนี้ผมต้องเริ่มนับหนึ่งไว้ก่อน หากผมไม่เริ่มนับ ก็ต้องรอคนอื่นซึ่งก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไหร่ และนั่นหมายถึงหนี้สินสะสมของรถไฟไม่รู้จะเพิ่มไปเป็นเท่าไร”
จะว่าไป การจุดพลุแนวคิดในการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ของ รมต.กระทรวงคมนาคม ล่าสุดนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดเพราะในช่วงปี 2558 ในสมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็น รมว.คมนาคม ก็เคยมีนโยบายให้การรถไฟฯ ปัดฝุ่นการพัฒนาที่ดินทำเลทองของการรถไฟฯ มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำรายได้มาล้างขาดทุนสะสมของการรถไฟฯ ที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาทในเวลานั้น
โดยทำเลทองผืนแรกที่กระทรวงและการรถไฟฯ มีแนวคิดที่จะดึงเอกชนดึงนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการด้วย ก็คือ โครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” เนื้อที่กว่า 497 ไร่ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฯ ได้ดำเนินการศึกษาความความเป็นไปได้ และทำ Feasibility study มานับ 10 ปี
แต่โครงการดังกล่าวถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น "กระตุกเบรก" หัวทิ่ม ด้วยข้ออ้างต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์รถไฟ เพื่อให้เป็น "ปอดคนกรุง" ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์บางส่วน โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการ
สุดท้ายโครงการดังกล่าวก็ชะงักงันอยู่แค่นั้น กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังที่หมายมั่นปั่นมือจะเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ ในระยะยาว 50-99 ปี แลกกับการล้างหนี้ส่วนหนึ่งจำนวรน 60,000 ล้านบาท ให้กับการรถไฟฯ ก็กลับไม่สามารถจะดำเนินการรับโอนที่ดินที่เป็นศูนย์ซ่อมรถไฟไปดำเนินการต่อได้ ด้วยติดปัญหาข้อกฎหมายเวนคืนที่ดินผืนดังกล่าว จนทำให้โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ต้องล้มครืนลงไป
ผลพวงจากการติดเบรกการพัฒนาที่ดินโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ข้างต้น ทำเอากระทรวงการคลัง และนักลงทุนน้อย-ใหญ่ ที่หมายมั่นป้ันมือกับการพัฒนาทำเลทองผืนสุดท้ายแห่งนี้ ต้อง “หาวเรอ” ไปตามๆ กัน เพราะเท่ากับพับโครงการ "มักกะสัน คอมเพล็กซ์" มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท ลงไปโดยปริยาย
วันดีคืนดี เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน (พีพีพี) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว นอกจากจะได้รับวงเงินอุดหนุนการก่อสร้างร่วมแสนล้านจากรัฐบาลพร้อมสัมปทานรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว ยังได้สิทธิ์การบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท และสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทาง รวมทั้งที่ดิน “ทำเลทอง” 140 ไร่ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ที่ถือเป็นทำเลทองผืนสุดท้ายใจกลางกรุงที่มีการประเมินว่า มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทแถมพกไปด้วย!
สำหรับ ”แก่ง หินเพิง” แล้ว คงต้องฟันธงลงไปตรงนี้งว่า ขนาดที่ดินทำเลทองผืนสุดท้ายใจกลางกรุง อย่างศูนย์ซ่อมรถไฟมักกะสัน เนื้อที่กว่า 497 ไร่มูลค่ากว่า 3 แสนล้าน ที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หมายมั่นปั้นมือมากที่สุด และการรถไฟฯ เองยังมีการศึกษาแนวทางการพัฒนา จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเอาไว้นับ 10 ปีแล้ว กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังไม่มีปัญญา “ผ่าทางตัน” ปัญหาข้อกฎหมายและนโยบาย “ไม้หลักปักเลน” ของรัฐบาลไปได้
แล้วจะฝันเฟื่องอะไรเอากับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ถือเป็นอาคารประวัติศาสตร์ เป็นอาคารที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ได้ เอาแค่การศึกษาความคุ้มค่าฝในการลงทุน ทำ Feasibility study ให้ฝ่าด่านเครือข่ายเอ็นจีโอภาคประชาชนให้ได้ก่อนก็นับเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว
หากจะต้องฝ่าด่านกรมศิลปากรอีกหน่วยคงได้หืดจับแน่!
ที่สำคัญรัฐบาลคงต้องตอบคำถามประชาชนคนไทยให้ได้ว่า เหตุใดทำเลทองมักกะสันคอมเพล็กซ์ที่ไม่ได้มีอาคารโบราณสถาน ไม่ได้มีอาคารประวัติศาสตร์อย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือตึกที่ทำการรถไฟฯ ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย แต่นายกฯ และรัฐบาลกลัลบกระตุกเบรกเส้นทางการพัฒนา ก่อนจะประเคนที่ดินทำเลทองผืนงามไปให้กลุ่มทุนเจ้าสัวดำเนินการแทน
แต่กับที่ดินที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับอยากรื้อผังนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ซะงั้น ไม่ใช่หรือ ฯพณฯท่าน ???
โดย.. แก่ง หินเพิง