สำหรับ “พ่อฟ้า-นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)ที่แม้จะสามารถลบคำปรามาสนำ อนค. กวาดที่นั่ง ส.ส.ในระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์นำโด่งมาเป็นอันดับ 3 โค่นพรรคเก่าแก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างพรรคประชาธิปัตย์ขาดลอย
แถมการก่อกำเนิดของอนาคตใหม่ใน กทม. ยังส่งผลให้ ปชป. ถึงกับ “สูญพันธุ์” ไปเลยนั้น
แต่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็น “แคนดิเดทนายกฯ” อีกคน กลับต้องเผชิญมรสุมจนสุดจะบรรยาย ทั้งกรณีที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอน และอาจตามมาด้วยการยุบพรรคจากปมการถือหุ้นสื่อที่แม้จะปิดตัวเองลงไป และเจ้าตัวก็ยืนยันว่าได้ขายและโอนหุ้นในมือฝากแม่ฝากและน้องสาวไปหมดแล้ว
แต่หลักฐานการจดแจ้งที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ กลับขัดแย้งในตัวเอง กลายเป็นปมเขื่องที่ทำให้ถูก กกต.ยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาปมขาดคุณสมบัติ แถมยังเป็นเพียงกรณีเดียวที่ กกต.หมายหัว
วิบากกรรม และ “วีรกรรม” ของ ”พ่อฟ้า-นายธนาธร” ยังไม่หมดแค่นี้ ล่าสุดเมื่อเจ้าตัวลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้โชว์วิสัยทัศน์จวกมาตรการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของรัฐบาลที่ดำเนินไปก่อนหน้าตามกรอบที่สหภาพยุโรป (อียู) ขีดเส้นเอาไว้ หลังจากที่ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำ Lift Yellow Card ถูกกล่าวหาว่าทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) มาตั้งแต่เมษายนปี 2558
แม้รัฐบาล คสช. จะใช้ความพยายามและมาตรการมาตรการอันเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดช่วง 4 ปีจนสามารถ “ปลดล็อก” ใบเหลืองไอยูยูลงไปได้ ซึ่งน่าจะถือเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ของประเทศ
แต่ในมุมมองพ่อฟ้าก็กลับมองว่า การที่รัฐไปรับเงื่อนไขแก้ปัญหาประมงอย่างเข้มงวด ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงและแรงงานประมงอย่างหนัก ทำให้ชาวประมงสูญเสียรายได้และเสียโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างมาก
จนกลายเป็นปมดราม่า เมื่อหลายฝ่ายออกมาสัพยอกพ่อฟ้าต่อกรณีดังกล่าวว่า น่าจะให้ความจริงแค่ครึ่งเดียว
ย้อนรอยปัญหา "หมักหมม" ประมงไทย
หากย้อนรอยกลับไปดูปัญหาประมงไทยที่สหภาพยุโรปขึ้นบัญชีดำแจกใบเหลือง “ไอยูยู” เมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ไทยจะมีการส่งออกสินค้าประมงมูลค่ากว่า 110,000 ล้านบาทต่อปี แต่สภาพสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเลของไทยต่างอยู่ในภาวะวิกฤติ
ด้วยปริมาณเรือทำประมงของไทยนั้นมีมากเกินสมดุล ยังผลให้เกิดการทำประมงผิดกฎหมายสารพัดรูปแบบ มีการใช้เครื่องมือจับปลาที่ขาดมาตรฐาน จับแหลกแม้ปลาเล็กปลาน้อย แม้แต่สัตว์น้ำหวงห้ามก็ไม่เว้นจนกลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมู และไทยถูกขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศที่ทำประมงอย่างผิดกฎหมาย ก่อนที่สหภาพยุโรปจะงัด ”ใบเหลือง” ขึ้นบัญชีดำเพื่อสั่งให้ประเทศไทยดำเนินการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นภายในระยะ 6 เดือน
หลังไทยถูกอียูแจกใบเหลือง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หยิบยกกรณีดังกล่าวเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)” ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
มีการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมเนื้อหาทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกฎหมาย มีการยกร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอาทิ พ.ร.บ.การประมง (ฉบับที่2) พ.ศ.2560
กำหนดมาตรการ ควบคุม เฝ้าระวัง ทั้งเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การแจ้งเข้า-ออกของศูนย์ PIPO การติดระบบติดตามเรือ (VMS) รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเทียบเรือ
การจัดตั้งศูนย์ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง(FMC) ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) 32 ศูนย์
จัดตั้งจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIP) 19 ศูนย์ เพื่อเข้าไปสนับสนุนและประเมินผลการปฏิบัติ การติดระบบติดตามเรือประมง (VMS)
ปัจจุบันมีผลบังคับให้เรือประมงพาณิชย์ (30 ตันกรอสขึ้นไป) และเรือสนับสนุนต่าง ๆ ต้องติด VMS การออกกฎหมายควบคุม การจดทะเบียนเรือ กำหนดมาตรการควบคุมเฝ้าระวัง เครื่องไม้เครื่องมือทำการประมง จดแจ้งแรงงานประมง ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงทั้งไทยและต่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอย่างเข้มข้นห้ามเรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนออกจับปลา ซื้อเรือประมงที่ไม่ได้มาตรฐานคืนจากประชาชน
หาไม่แล้วจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ที่เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
4 ปีแห่งการรอคอย
ความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูข้างต้นนั้นสัมฤทธิ์ผลเอาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เมื่อสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศ “ปลดล็อค” ใบเหลืองไอยูยูประเทศไทยอันเป็นการ "การันตี" ความพยายามถึง 4 ปี ในการยกระดับประมงไทยสู่สากล
และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมายมาโดยตลอด ทั้งการออกกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย
ฟื้นฟู ประมงพื้นบ้าน
ผลจากมาตรการยกระดับการทำประมงของรัฐกรุยทางไปสู่การแก้ไขปัญหาหมักหมมของการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ข้างต้น แม้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของขาวประมูลนับหมื่น นับแสนรายโดยเฉพาะในส่วนของประมงพื้นบ้านที่ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่
แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การทำประมงพื้นบ้านเริ่มกลับเข้าสู่ความสมดุลทางด้านทรัพยากรอย่างเห็นได้ชัด เพราะผลพวงจากการปิดอ่าว ระงับการทำประมงในฤดูวางไข่ รวมทั้งมาตรการอันเข้มงวดได้ทำให้ระบบนิเวศน์ด้านการทำประมงในหลายพื้นที่ ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาดังเดิม
ปริมาณปลาที่จับได้รอบชายฝั่งของประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาประมงพื้นบ้านที่เคยออกเรือไปและแทบจะกลับหรือเปล่า กลับพบว่า สามารถจับปลาใกล้ชายฝั่งได้เป็นกระตัก สามารถที่จะเลี้ยงชีพอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และกลายเป็นประการหลักที่ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่เริ่มหันมาปกป้องมาตรการการทำประมงอย่างถูกกฎหมายของรัฐบาล
พล.ท.วีรชน สุคนธปฎิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันหลังจากรัฐบาลถูกโจมตีในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า “รัฐบาลลุงตู่” ไม่ได้ทอดทิ้งชาวประมง มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลประมงพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งเงินทุน ให้ชาวประมงนำไปปรับเปลี่ยนอาชีพ และจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ
"หลังดำเนินการตามไอยูยู ปี 2561 จับปลาได้เพิ่มมากกว่าปี 2560 ถึง 2 แสนตัน ประมงพื้นบ้านรายย่อยจับปลาได้เพิ่มกว่า 1.5 หมื่นตัน เรือประมงพาณิชย์ มีการเพิ่มวันจับปลาให้ถึง 100 กว่าวัน ทั้งนี้ ปัญหาฝังรากลึก หากไม่แก้ให้ถูกต้อง ประเทศจะเสียหาย หากพูดยั่วยุให้เข้าใจผิด ประเทศจะล่มจม"
ไม่บ่อยนักที่จะเห็นเครือข่ายเอ็นจีโอในภาคประชาชนจะออกมาขานรับมาตรการของรัฐ แต่กับกรณีการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในครั้งนี้ เราได้เห็น นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ข้อมูลที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้รับฟังจากกลุ่มชาวประมงที่เดือดร้อนนั้น เป็นเพียงข้อมูลเพียงบางส่วนของปัญหาประมงเท่านั้น
"ผมพูดตรงๆ ว่า กลุ่มชาวประมงที่มาฟังคุณธนาธรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพาณิชย์ ที่มีสัดส่วนแค่ 15% ของประมงทั้งประเทศเท่านั้น ในประเทศนี้แบ่งประมงออกเป็นพาณิชย์ พื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ มีสัดส่วนแค่ 15% อีก 85% ใน 22 จังหวัดส่วนใหญ่เป็นชาวประมงที่มีเรือลำเดียวหากินในครอบครัว ไม่ใช่มี 30 ลำ มี 60 ลำๆ ละ 20-30 ล้าน การสรุปว่ามาตรการแกไขปัญหาไอยูยูได้ทำให้ชาวประมงทั้งประเทศเดือดร้อนนั้นเป็นการสรุปผิดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง"
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยืนยันว่า ทะเลไทยไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่อ้าง คงย่ำแย่ในส่วนของประมงพาณิชย์ที่เคยชินกับเครื่องมือเดิมๆ แต่พี่น้องประมงชายฝั่ง 22 จังหวัด ยืนยันว่าทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งเพิ่มขึ้น ในบางพื้นที่มีปลาอินทรีย์ตัวละ 30 กิโลกรัม ตนทำมา 30ปี ไม่เคยเห็นมาก่อน หมายความว่าในพื้นใกล้ชายฝั่งมีการดูแลอย่างดี
แม้ประเด็นในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมข้างต้น จะยังคงเป็นปมเขื่องที่ติดอยู่ในใจในหลายภาคส่วนว่า มาตรการแก้ไขปัญหาอันเข้มงวดของรัฐบาลที่ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น ส่งผลดี-ผลเสีย หรือสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวอ้างหรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศต้นแบบในการยกระดับการทำประมงสู่สากล จนได้รับการโหวตให้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาประมงในภูมิภาคนี้ไปแล้วในเวลานี้ ดังนั้นมาตรการใด ๆ ที่จะออกมาจากนี้คงทำได้แต่การต่อยอดมาตรการที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการปูพื้นฐานเอาไว้เท่านั้น
หากจะถึงขั้นรื้อหรือสังคายนามาตรการที่ดำเนินการไปจนทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้ง ก็เชื่อแน่ว่าพรรคการเมืองนั้นๆ คงตกที่นั่งลำบากแน่!!!!