เหลือบไปเห็นสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกมาเปิดเผย 2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เนื้อหมูราคาแพง-ขาดตลาด โดยราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มพุ่งไปถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 95-96 บาท และยังมีโอกาสขยับขึ้นไปได้อีกจ่อจะทะลุ กก.ละ 100 บาท ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงพุ่งกระฉูดไปถึง กก.ละ 200 บาทแล้วในเวลานี้
ทำเอาประชาชนผู้บริโภคร้องแรกแหกกระเชอไปตามๆ กัน ร้านรวงชาบู-หมูกระทะ ข้าวขาหมู เตี๋ยวหมู ทั้งหลายแหล่เดือดร้อนไปตามๆ กัน ต่างขยับจะขอปรับขึ้นราคากันหน้าสลอน ทำเอาประชาชนผู้บริโภคร้องแรกแหกกระเชอให้รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน เร่งเข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
เพราะสันดอน(สันดาน) พ่อค้าประเทศไทย ที่หน่วยงานรัฐโคตรไม่เอาถ่านอะไรเลยนั้น ลองราคาข้าวแกง ราคาสินค้าหรือหมูเป็นหมูชำแหละได้ปรับขึ้นราคาไปแล้วก็อย่าได้ฝันว่ามันจะปรับลดราคาลงอีกในอนาคต แม้แต่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มหรือหมูชำแหล่ะหน้าเขียงก็เถอะ!
ทั้งนี้ สมาคมผู้ลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกมาระบุสาเหตุของการปรับขึ้นราคาหมูที่เกิดขึ้นว่า มาจากต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30% เช่น กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นจาก กก.ละ 16 บาท เป็น 21.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก กก.ละ 6.50 บาท เป็น 10.5 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายดูแลป้องกันโรคติดต่ออีกตัวละ 500 บาท
ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี ต้องแบกต้นทุนอาหารและการป้องกันโรคเข้มข้นจนหลายคนถอดใจเลิกเลี้ยงไปก่อนหน้า ทำให้ปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดลดลง โดยปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วมากกว่า 50% จากผลกระทบของโรคในหมูและภาวะขาดทุนสะสม ทำให้ต้องหยุดเลี้ยง ปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ เกษตรกรที่ยังเดินหน้าเลี้ยงต่อไปต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุด
"จึงอยากขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคอาหารอื่นทดแทน ทั้งปลา ไข่ ไก่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง"
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาขาดแคลนสุกรระดับราคาต่างปรับขึ้นต่อเนื่อง อย่างเช่น จีน ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 90-103 บาทต่อกิโลกรัม และฟิลิปปินส์ ราคา 137-147 บาทต่อกิโลกรัม
ฟังเหตุผลของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่ออกมาโอดครวญแล้ว ก็ได้แต่ทอดถอนหายใจครับ หากราคาหมูแพงขึ้นนั้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้ลืมตาอ้าปากจริง ประชาชนคนไทยคงพอจะยอมรับกันได้ แต่เท่าที่รู้กลไกราคาหมูเป็นและเนื้อหมูที่พุ่งพรวดขึ้นไปนั้นอานิสงส์ไม่ได้ลงไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงแม้แต่น้อย ไม่งั้นจะมาร้องแรกแหกกระเชอเป็นรายวันอยู่หรือ?
และการจะให้ประชาชนผู้บริโภคที่กำลังสำลักพิษจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ต้องแบกรับราคาเนื้อหมูที่พุ่งกระฉูด ยอมรับจากนี้ไปจะต้องทนรับกับราคาเนื้อหมูและราคาอาหารที่ทำจากเนื้อหมูที่จำเป็นปรับขึ้นราคากันนั้น ถามหน่อยเถอะ หากสถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว ราคาต้นทุนการเลี้ยงปรับตัวลดลงไปแล้วราคาหมูเป็นหรือหมูชำแหล่ะ รวมทั้งราคาอาหารข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวหมู สุกี้ชาบู-หมูกระทะเหล่านี้ จะปรับลดลงตามหรือไม่ ทุกฝ่ายต่างก็รู้แก่ใจกันอยู่ลองได้ปรับขึ้นไปแล้วก็อย่าได้ฝัน
และที่ผู้คนเขาไม่เข้าใจ ก็ไหนกระทรวงพาณิชย์เพิ่งจะออกมา “ตีปี๊บ” ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยง และฟาร์มหมูรายใหญ่ จัดจำหน่ายเนื้อหมูราคาธงฟ้า กก.ละ 120-130 บาท ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยแห่งไปหยกๆ ไม่ถึงขวบเดือน แล้วราคาหมูหน้าฟาร์ม หมูชำแหล่ะ มันจะทะยานพรวด ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร โดยไม่ส่งสัญญาณบ้าอะไรมาก่อนหน้า
มันจึงคิดเป็นอื่นได้เลย นอกจากมีใครหรือไอ้โม่งที่ไหนสักแห่งชักใยอยู่เบื้องหลังราคาเนื้อหมูในครั้งนี้แน่ และหากจะให้ประชาชนคนไทยต้องยอมศิโรราบแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว บอกตามตรง คงไม่มี่ใครยอมรับได้แน่ เพราะสุดจะเหลือทนกันพออยู่แล้วจากวิกฤตที่ประดังถั่งโถมเข้าใส่รอบด้าน
ก็หากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเมืองไทยมันแพงนัก เกษตรกรผู้เลี้ยงเองก็บอกว่าหดหายไปจากระบบแล้วกว่า 50% ดังข้อมูลที่สมาคมผู้เลี้ยงออกมาโอดครวญกันจริง กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลก็สมควรเปิดให้มีการนำเข้าลูกหมู และเนื้อหมูจากต่างประเทศให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลยจะดีกว่าไหม
เปิดนำเข้าหมูแบบผักผลไม้ไทยที่แพงกันดีนัก เล่นสงครามราคากับประชาชนกันดีนัก เจอผักผลไม้จากจีนขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ถึงไทยในวันสองวันเข้าให้ถึงกับไปไม่เป็นกันเลยในเวลานี้ กล้าไหมหล่ะ !!!
แก่งหิน เพิง