ก่อนหน้านี้ ถ้าจะถ่ายรูปเมนูอาหารลงอวดในโลกโซเชียล คนส่วนใหญ่มักจะโชว์อาหารจากร้านหรู ดูดี มีราคา ชวนน่ารับประทาน แต่ช่วงนี้ที่เห็นชินตา เมนูที่นำมาอวดกัน คือ “ข้าวราดผัดกะเพราหมู” พร้อมข้อความ “ขอกินของแพงสักมื้อ” กลายเป็นเรื่องฮาในโลกโซเชียล แต่ในความฮานั้นก็ทำเอาจุกเข้าไปในอกของพ่อบ้านแม่บ้านหลายคนกับภาวะ “หมูแพง”
ราคาหมูแพงตั้งแต่เมื่อไหร่?
ราคาหมูขึ้นไปแบบก้าวกระโดดประมาณช่วงปลายปี 2564 โดยข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า ราคาหมูมีชีวิตในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 82-84 บาท ราคาแนะนำขายปลีกหมูเนื้อแดงอยู่ที่กิโลกรัมละ 162-168 บาท จากนั้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ราคาหมูเริ่มขยับขึ้น โดยราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 88-89 บาท ราคาแนะนำขายปลีกหมูเนื้อแดงอยู่ที่กิโลกรัมละ 174-178 บาท
และแล้วก็มาถึงจุดที่ขยับแบบก้าวกระโดดในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 96-100 บาท และราคาแนะนำขายปลีกหมูเนื้อแดงขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 190-200 บาท ขยับขึ้นพรวดสัปดาห์เดียวกิโลกรัมละ 22 บาท และเป็นการแตะราคากิโลกรัมละ 200 บาทครั้งแรก จากนั้นก็แพงต่อเนื่องมาแบบหยุดไม่อยู่
หลังปีใหม่ ณ วันที่ 2 มกราคม 2565 ราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 104-108 บาท ส่วนราคาแนะนำหมูเนื้อแดงอยู่ที่กิโลกรัมละ 206-214 บาท ล่าสุดวันที่ 17 มกราคม 2565 ราคาหมูมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ราคาแนะนำหมูเนื้อแดงขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 218-220 บาท
จากต้นเดือนธันวาคม 2564 ถึงกลางเดือนมกราคม 2565 ราคาหมูเนื้อแดงขึ้นมากิโลกรัมละ 52-56 บาท
สาเหตุที่ราคาหมูแพงเพราะอะไร?
การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย แต่ละประเทศประกาศว่า พบเชื้อ ASF แต่ประเทศไทยยืนหยัดมาตลอดว่า ไม่พบเชื้อดังกล่าว
คนในแวดวงหมูทราบดีว่า โรค ASF เข้าประเทศไทยมาตามแนวตะเข็บชายแดนตั้งแต่ปี 2562 ช่วงนั้นมีหมูของเกษตรกรรายย่อยตามแนวตะเข็บชายแดนเริ่มทยอยตายมากขึ้น จึงมีการระดมทุนกันในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูได้หลักร้อยล้านบาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการทำลายหมูและจ่ายชดเชยให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นแบบลับๆ โดยไม่มีการประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ จึงไม่สามารถจ่ายชดเชยอย่างเป็นทางการได้ หวังสกัดโรค ASF ไม่ให้ลามขยายวงกว้างออกไป
แต่การดำเนินการทางลับ มีจุดอ่อน คือ ไม่สามารถตรวจสอบได้จริงว่า เงินถึงมือเกษตรกรเท่าไหร่ และมีการจ่ายกันจริงมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายก็เอาไม่อยู่
ขณะที่มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคของกรมปศุสัตว์ก็มีช่องโหว่ เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีอำนาจในมือบางคนทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ ปล่อยผ่านให้หมูเคลื่อนย้ายได้โดยไม่ต้องตรวจเลือด โดยเรียกรับผลประโยชน์เที่ยวละ 30,000 บาท หรือจ่ายทีเดียว 300,000 บาท ก็ผ่านฉลุยทุกเที่ยว เหตุนี้จึงทำให้โรค ASF กระจายตัวอย่างรวดเร็ว
หลังจากที่โรค ASF ตีทะลวงทะลุแนวตะเข็บชายแดนเข้ามาแล้ว ใช้เวลาไม่นานก็บุกถึงเมืองหลวงผู้เลี้ยงหมู คือ จังหวัดนครปฐม และ ราชบุรี
จากนั้น หมูก็ตายเพราะโรค ASF และลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบันมีการประเมินกันว่า จากยอดผลิตหมูของไทยประมาณปีละ 20-22 ล้านตัว อาจจะเหลือแค่ประมาณ 50-60% เท่านั้น ทำให้ราคาหมูแพงตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงก็เพิ่มขึ้น เช่น ราคาลูกหมูจากตัวละ 1,600-1,800 บาท ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ที่ตัวละ 3,700 บาท
สำหรับการจะเพิ่มจำนวนการผลิตหมูนั้น ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะหลังจากแม่หมูได้รับการผสมพันธุ์แล้ว กว่าจะเป็นลูกหมูและเลี้ยงจนโตจับขายได้ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ยิ่งพื้นที่เดิมที่เคยเกิดโรค ASF ก็ไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ ต้องพักเล้าเป็นเวลานานหลายปี การจะหาพื้นที่ใหม่และเพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงรายใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญต้องมีความรู้ในการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วย
ทำไมประเทศไทยไม่ประกาศว่า พบโรค ASF ตั้งแต่แรก?
เมื่อหลายประเทศประกาศพบโรค ASF โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่สูญเสียหมูไปจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกหมูของไทย ยิ่งประเทศไทยไม่ประกาศว่า พบเชื้อ ASF การส่งออกก็ทำได้แบบไม่สะดุด
การส่งออกหมูพันธุ์และหมูมีชีวิตของไทยในปี 2562 มีจำนวน 750,061 ตัว มูลค่า 3,570.75 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตัวละประมาณ 4,760 บาท
ขณะที่ปี 2563 ไทยส่งออกหมูจำนวน 2,676,880 ตัว มูลค่า 17,164.40 ล้านบาท เฉลี่ยตัวละประมาณ 6,412 บาท ไทยส่งออกหมูเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,926,819 ตัว มูลค่าเพิ่มขึ้น 13,593.65 ล้านบาท ส่วนราคาเฉลี่ยต่อตัวเพิ่มขึ้น 1,652 บาท
จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ในครั้งนี้จริงในหลักหมื่นล้านบาท จากการที่ประเทศไทยไม่ประกาศว่า พบโรค ASF ในหมูตั้งแต่แรก
แม้คนบางกลุ่มจะได้ประโยชน์ แต่ความเสียหายในด้านการบริหารจัดการโรค ASF ในหมูเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ไม่สามารถควบคุมโรคได้ เพราะไม่มีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้เข้าทำลายและใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างจริงจัง สุดท้ายผลกระทบก็พุ่งตรงเข้ามาหาประชาชนคนไทยที่ต้องกินหมูแพงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นายตือฮวน