การเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นผลงาน "ชิ้นโบแดง" ที่ สามารถพลิกฟื้น ความสัมพันธ์อันดีกลับคืนมาได้ หลังตกต่ำมายาวนานกว่า 30 ปี จากคดีอัปยศ "เพชรซาอุฯ" แต่มุมกลับกันเห็นว่า ไม่สมศักดิ์ศรี ผู้นำประเทศไทย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีคำตอบประกอบให้เห็น ทั้งด้าน "การเมือง และเศรษฐกิจ"
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางกลับจากการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
สำหรับเบื้องหลังเรื่องนี้ นายดอน ปรมัถต์วินัย รมว.ต่างประเทศ อธิบายว่า "มาจากการทำงานที่ใช้เวลาต่อเนื่องมา 6 ปี นับตั้งแต่มีการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 -10 ต.ค. 59 ที่ กรุงเทพฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์, เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรน ในขณะนั้น และ นายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รมว.ต่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องง่ายจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ชะงักงันไปกว่า 30 ปี วันที่ 25 ม.ค. นี้ จึงถือว่าเป็นนิมิตใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นกุญแจสำคัญ”
มีคำถามตามมาว่า ประเทศไทยได้อะไรบ้างจากการเดินทางครั้งนี้ ??
และเมื่อมองอย่างเป็นกลาง ต้องยอมรับความจริงว่า มีเสียงตอบรับที่ออกมาในด้านบวก เป็นอย่างมาก!
แม้จะมีเสียงค่อนขอดมาบ้างจาก นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns” ระบุว่า การไปเยือนคราวนี้ ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายบินไปหาเขา แต่กลับไม่ได้ถูกจัดให้เข้าพบกษัตริย์ หรือนายกรัฐมนตรี แม้สักนิด ซึ่งแลดูไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม แต่ถ้ามองภาพรวมอย่างเป็นกลาง เห็นได้ชัดว่า เสียงชื่นชม "บิ๊กตู่" ดูจะมีมากกว่าคำตำหนิหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐ ด้วยกันเอง หรือภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปากของ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสมาคมหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า
"การเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ภาคเอกชนของไทยต้องใช้โอกาสอันดีนี้ต่อยอดและขยายผล ทั้งด้านการส่งออก การท่องเที่ยว ตลาดแรงงาน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพรวมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”
กรณีดังกล่าว เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ภาคเอกชน จับตามองอย่างใกล้ชิด ว่าจะสร้างจุดเปลี่ยนของไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยทำให้การค้าของทั้งสองชาติกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมากว่า 30ปี จากคดีเพชรอาซุฯ
ปีที่ผ่านมา หอการค้าไทยหารือกับภาคเอกชนของทางซาอุฯ นอกรอบแล้ว เพื่อเตรียมการส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกัน คาดว่า จะลงนามความร่วมมือต่อกันภายในครึ่งปีแรก หลังจากการภาครัฐได้ไปเยือนซาอุฯ ในครั้งนี้
ประธานสมาคมหอการค้าไทย งัดข้อมูลสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับซาอุฯ ระบุว่า หากดูสัดส่วนการค้า ในปี 64 ไทยส่งออกไปประเทศซาอุฯ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมด หากไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนทางการค้า การส่งออกไปซาอุฯ กลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด ได้เหมือนปี 32 ซึ่งหมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 150,000 ล้านบาท โดยไทยจะสามารถเจาะตลาดได้หลายสินค้า เช่น รถยนต์ และ ส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวลรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด
ขณะที่การท่องเที่ยว เมื่อปี 62 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40 ล้านคน มาจากตะวันออกกลางประมาณ 700,000 คน แต่จากซาอุฯ เพียง 36,000 คน จากค่าเฉลี่ยปี 30-31 ที่มี 73,000 คน คาดว่าจะเดินทางมาไทย 150,000 คน ต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ 9,000 ล้านบาท คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุ 90,000 บาทต่อราย ในปี 62
นอกจากนี้ แรงงานไทยจะสามารถกลับไปทำงานที่ซาอุฯไ ด้ คาดว่า เมื่อซาอุฯ เปิดโอกาสให้แรงงานไทย ขอใบอนุญาตทำงาน หรือ วีซ่า อีกครั้ง จะทำให้จำนวนแรงงานไทยในซาอุฯ เพิ่มขึ้นจาก10,000 คนในปัจจุบัน เป็น 50,000 คน ในระยะ 3 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน ในระยะ 5 ปี ซึ่งจะมีรายได้ส่งกลับไทย 2,250-4,500 ล้านบาทต่อปี จากในอดีตซาอุฯ เป็นตลาดแรงงานของไทยที่ใหญ่สุดในตะวันออกกลาง มีแรงานไทยไปทำงานมากถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับประเทศเฉลี่ยประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งหมดนี้ คือ..ข้อสรุปจากภาคเอกชน ในแง่ของผลพวงเศรษฐกิจที่จะตามมา และที่ขานรับมาในทันทีทันใด คือ สายการบินซาอุเดียอาระเบีย แอร์ไลน์ ประกาศเปรี้ยง จะขอเปิดเส้นทางการบิน ไทย-ซาอุฯ ทันที ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี และเป็นผลงาน "ชิ้นโบแดง" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หันกลับไปทางด้านการเมือง "บิ๊กตู่" ได้โพสต์ ตีปี๊บถึงความสำเร็จของตนเอง หลังฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติกลับมา
"ภายใต้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่างสองประเทศ"
พร้อมระบุประเทศไทย จะได้รับประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล หลายๆ ด้าน ทั้งท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน อาหาร สุขภาพ ความมั่นคง การค้าการลุงทุน กีฬา โดยเฉพาะด้านความมั่นคง "พลเอกประยุทธ์" ระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก็เรียกว่า พยายามโยงการไปเยือนซาอุฯ หวังสร้างภาพ "ดับไฟใต้" ทั้งที่ข้อเท็จจริง ความรุนแรง พื้นที่ปลายด้ามขวาน ไม่ได้ลดลงอย่างที่ภาครัฐต้องการ ทว่า "ไฟใต้" ได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ล่าสุด เมื่อ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา สดๆ ร้อนๆ ยังมีการก่อเหตุ ที่ บ้านบาโงระนะ อ.ระแงะ จ.ปัตตานี จนท.บาดเจ็บ 1 นาย
ตัดฉับ กลับมาที่ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ มาหมาดๆ ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ว่า พลเอกประยุทธ์ พยายามนำเรื่องการเยือนซาอุฯ มาเป็นผลงาน เพราะโดยข้อเท็จจริง ซาอุฯ ต้องการเปิดประเทศและหวังฟื้นความสัมพันธ์กับไทยเองต่างหาก และที่สำคัญตนได้กลิ่นรัฐประหารโชยมาแล้ว
โดยให้เหตุผลประกอบว่า จะมาจากกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติขับ กลุ่ม 21 ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า ออกจาก พปชร. โยงถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงช่วงระหว่างทางที่หากรัฐบาลจำเป็นต้องเสนอกฎหมายสำคัญ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้รัฐบาลต้องพ่ายโหวตจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 21 ส.ส. ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น การ "ยุบสภา" หรือ "รัฐประหาร"
อย่าลืมว่า " การเมืองไทย ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร " อันเป็นสัจธรรม สะท้อนภาพ "ผลประโยชน์" ต้องมาก่อนเสมอ