มติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. .... นับเป็นความพยายามอีกครั้งของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่จะแก้ปัญหา “ข่าวปลอม” หรือที่เรียกว่า “เฟคนิวส์ “(Fake News)
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” (Anti -Fake News Center : AFNC) ขึ้นในปี 2562 ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนไปไม่ใช่น้อย โดยในปีงบประมาณ 2565-2567 ตั้งงบประมาณไว้ปีละประมาณ 80 ล้านบาท รวม 240 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณทั้งโครงการรวม 8 ปี ใช้งบประมาณ รวม 668 ล้านบาท
หลังจัดตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” ขึ้นแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่สบอารมณ์นักกับการแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล
ความพยายามครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นอีกในวันที่ 28 มกราคม 2563 ครม. พิจารณาเห็นว่า ปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน รวมทั้งในบางกรณีกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) บรรลุผลและสามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดได้ จึงมีมติกำชับให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือแก่ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการแต่งตั้งผู้แทนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหายหรือเป็นเจ้าของข้อมูลที่มีการนำไปบิดเบือนเป็นข่าวปลอม และเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว
ยังไม่จบแค่นั้น ความพยายามครั้งที่ 3 ผุดขึ้นมาอีกในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ครม.มีมติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดตั้งหน่วยงานภายในขึ้นเพื่อรับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมให้รวดเร็ว ทันท่วงที และให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในสื่อของหน่วยงานภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งประเด็นข่าวปลอมจากประชาชน จากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) หรือจากหน่ายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องและให้ประชาชนเข้าถึงได้ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทราบโดยด่วนคู่ขนานกันไปด้วย
และความพยายามครั้งล่าสุดเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญได้ว่า จะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ได้แก่ ศูนย์ประสานงานกลาง ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง และศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด โดยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงและศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละกระทรวงและจังหวัดมีหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นข่าวปลอมเพื่อตรวจสอบ และพิจารณาเนื้อหา รับรองข่าวปลอม
รวมทั้งเพื่อให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือมีการเผยแพร่ข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดความเสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรือจังหวัดใด ให้เป็นหน้าที่ของศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงหรือศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอมดำเนินการแถลงข่าวทันทีที่พบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม และแจ้งกรมประชาสัมพันธ์ภายใน 1 ชั่วโมง
และให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องจัดให้มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่ากระทำผิดวินัย
...ไล่เลียงมาเสียยืดยาว ก็เพื่อจะให้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ของรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัดสั้นๆ ใส่สำนวนหวือหวาเอาความมันส์เป็นหลัก เดี๋ยวจะถูกเล่นงานว่าเป็นเฟคนิวส์ บิดเบือนข้อมูล
ครับ...จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาเฟคนิวส์ของรัฐบาลในทุกรอบล้วนตั้งอยู่บนฐานความคิดแบบระบบข้าราชการเดิมๆ รวมทั้งใช้ช่องทางและวิธีการเดิมๆ มีการขู่เอาผิดทางวินัย ซึ่งก็เป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยมเดิมๆ เช่นกัน
บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า การแก้ปัญหาเฟคนิวส์ได้แอบซ่อนมีดที่มุ่งหมายจะกรีดแทงเล่นงานฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามหรือไม่เห็นด้วย จึงใช้ระบบราชการเป็นหลัก ไม่ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณา ให้ทำหน้าที่แค่แจ้งเรื่องร้องเรียนเท่านั้น
ที่สำคัญกว่านั้น คือ การอาศัยการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่นการระบุว่า “มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม” ซึ่งอะไรคือความไม่เหมาะสม การแปลความก็อยู่ที่ฐานความคิดของเจ้าหน้าที่แต่ละคนอยู่ดี
ส่วนเรื่องการแจ้งเรื่องร้องเรียน แทนที่จะให้เบ็ดเสร็จในที่เดียวหรือระบบวันสต๊อปเซอร์วิส กลับให้แยกเป็นหน่วยงานของกระทรวง หรือของจังหวัด ให้วุ่นวายซ้ำซ้อนไปกันใหญ่ ทั้งที่เว็บไซต์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็มีช่องทางให้แจ้งเรื่องร้องเรียนได้อยู่แล้ว
การเอาไดโนเสาร์ตาบอดมาคลำช้างก็จะเป็นแบบนี้ ยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งมั่วไปกันใหญ่ พันกันวุ่นวายเหมือน “ลิงแก้แห” เทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ มีมากมายหลายช่องทางที่ใช้ในการสื่อสาร แต่ความคิดไปไหนไม่ได้ไกล วนแต่จะพึ่งพิงอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานที่โลกก้าวไปถึงไหนยังไงๆ ก็ก้าวตามไม่เคยทัน
ขณะที่ผู้คนกำลังหลั่งไหลเข้าสู่โลก Metaverse หรือที่เรียกกันแบบไทยๆ ว่า จักรวาลนฤมิต แต่วิธีคิดของรัฐบาลยังอยู่ยุคไดโนเสาร์ บอกเลยว่า มันไม่ต๊าชชช!!!
นายตือฮวน