กรณีมีการค้านต่อสัมปทาน เพราะจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ข้ออ้างการเมือง จริงหรือ?!!!
โดยข้ออ้างคำโตของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นของพรรคภูมิใจไทย หรือนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม้กระทั่งสภาองค์กรของผู้บริโภค ต่างดาหน้าออกมาคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา..
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงนั้น..
ขออธิบายกันแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องเอาตัวเลขรายละเอียดมากมายมาชี้แจงว่า
รถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครเวลานี้มีอยู่ด้วยกันหลักๆ คือ
1. รถไฟฟ้าบีทีเอสหรือที่เรียกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งให้บริการมากกว่า 22 ปีแล้ว
2. รถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของ รฟม. หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
ท่านผู้อ่านจำบรรทัดนี้ไว้ว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุนด้วยเงินของเอกชนทั้งหมด โดยได้รับสัญญาสัมปทาน 30 ปี และสำหรับส่วนต่อขยายถ้ามีการต่อสัญญาทางเอกชนก็ต้องเข้าไปรับภาระหนี้ทั้งหมดให้กับทาง กทม.
รวมทั้งการแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นให้กับ กทม. กว่าสองแสนล้าน และถ้ารายได้ดีกว่าที่คาดการณ์ ก็จะต้องมีการแบ่งเพิ่มเติมอีก แต่ทั้งนี้ ถ้ารายได้ต่ำกว่าประมาณการและเกิดการขาดทุน เอกชนก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด โดยที่ กทม. ไม่ได้มีส่วนในการรับผิดชอบ
นอกจากนี้ อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บก็จะถูกกำหนดโดย กทม. ตามสัญญา
ส่วนรถไฟฟ้าสาย “สีน้ำเงิน” นั้น เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบด้วยเงินของรัฐ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 70% ของโครงการ เอกชนที่ได้สิทธิ์เดินรถจะลงทุนเพียงประมาณ 30% และจะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว หากรายได้ยังไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งรายได้ให้กับรัฐ
วันนี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าคำนวณจากระยะทางที่เดินทางได้ไกลสุดและราคาค่าโดยสารสูงสุด คือ..
สายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาท/กม.
สายสีน้ำเงิน 1.62 บาท/กม.
สายสีม่วง 1.83 บาท/กม.
ความจริงที่ปรากฏชัดเจนบอกอะไรกับท่านผู้อ่านและประชาชน
คำตอบ ก็คือ.. ที่อ้างว่าต้องคัดค้านการต่อสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดลง รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะกลับมาเป็นของรัฐ และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เป็นเรื่องปาหี่ทางการเมือง ที่กล้าพูดอย่างนี้
เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้วว่า ขนาดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของรัฐ และรัฐควักเงินลงทุนโครงสร้างเป็นเงินถึง 70% ของการลงทุน ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในระบบนี้ก็ควรจะต้องถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างน้อยต้อง 70% เพราะเป็นส่วนที่รัฐได้ลงทุนไปให้เอกชน หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด
แต่เหตุไฉนกลับเก็บค่าโดยสารแพงกว่าระบบรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน 100% เสียอีก
มีคนพยายามเรียกร้องคนที่ออกมานำเสนอว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ควรจะมีราคาถูก ลองไปทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาล มีราคาถูกลง 70% ก่อนจะง่ายกว่าหรือไม่
เรื่องนี้ช่วยถามดังๆ ไปยังผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่า เหตุใดจึงไม่มีใครเลยที่พูดถึงและคิดจะทำ ทั้งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐ และถ้าคุณทำได้จริง เราพร้อมจะเป็นอีกคนหนึ่งที่จะสนับสนุนไม่ให้ต่อสัมปทานตามที่คุณเสนอ!