ตีปี๊บกันมาหลายปีแล้วกับกระแสไหลบ่าของรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง..
ยิ่งเมื่อ Tesla ป่าวประกาศจะสามารถพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการเตรียมปั๊มรถ EV จากโรงงานผลิตในเมืองจีนได้เป็นล้านคันต่อปี ไม่เพียงจะทำเอาราคาหุ้นของ Tesla กระฉูดไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ตลาด EV ต่างจับตากันอย่างไม่กระพริบ
ล่าสุด ค่ายรถยนต์ Nissan ของญี่ปุ่น ยังกระโดดร่วมวงไพบูลย์ด้วยการประกาศหยุดพัฒนารถยนต์สันดาปรุ่นใหม่ หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ โดยจะเริ่มในตลาดจีนและญี่ปุ่นก่อน ส่วนไลน์การผลิตรถยนต์ไฮบริดยังจะคงดำเนินต่อไป
จึงยิ่งทำให้นักวิเคราะห์น้อยใหญ่ทั้งไทย-เทศพากันคาดการณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังจะพลิกโฉมหน้า ยานยนต์ไฟฟ้า EV กำลังไหล่บ่าเข้ามาพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์
ตลาดรถยนต์สันดาปในปัจจุบันเตรียมนับถอยหลัง “สูญพันธุ์” แบบอุตสาหกรรมฟิล์มถ่ายภาพทั้งหลายแหล่กันได้แล้ว
ประเทศไทยเรา รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติและกระทรวงการคลัง ก็เตรียมเสนอมาตรการสนับสนุนรถ EV ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2565-2568 ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ 1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะ คันละ 70,000 - 150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน 2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% 3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 และ 4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
ทั้งนี้ ค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ 1. ผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ช่วงปี 2565-2566 ในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น อุดหนุนคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ตามก้นชาวบ้านร้านรวงกันเป็นการใหญ่ โดยจะมีทั้งมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถ EV แบบรถยนต์คันแรกที่เคยใช้ การลดภาษีสรรพสามิต มีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่เกิน 10 หรือ 20 ปี จากนี้รถยนต์เก่า ๆ ที่ใช้พลังงาน Fossil หรือน้ำในจะหมดไปจากโลก
บริษัทพลังงานในไทยหลายแห่ง ประกาศจะตั้งโรงงานแบตเตอรี่ขนานใหญ่รองรับยานยนต์ EV ที่ว่านี้ หรือตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ทุกทิศทั่วไทย
จนก่อให้เกิดคำถาม ยานยนต์ไฟฟ้า EV จะเข้ามาทดแทนอุตสาหกรรมรถยนต์ดั้งเดิมระบบสันดาปจริงหรือ อนาคตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติจะหมดไปจากโลกจริงหรือ?
ย้อนรอย..อุตสาหกรรมที่ล่มสลาย Disrupt
หากทุกฝ่ายจะย้อนไปดูเส้นทางการล่มสลายหรือถึงขั้น “สูญพันธุ์” ของอุตสาหกรรมมือถือ อย่าง Nokia Motorola Ericsson และแม้กระทั่งรายล่าสุด Blackberry ที่เพิ่งประกาศปิดการให้บริการไปเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของมือถือในระบบ Classic โดยสิ้นเชิงนั้นจะเห็นได้ว่า
การไหล่บ่าและรุกคืบของตลาดมือถือเจนเนอเรชันใหม่ คือ Smartphone ทั้ง iPhone SS และบรรดาสมาร์ทโฟนจากจีนทั้งหลายแหล่นั้น
จะเห็นได้ว่า รุกคืบของตลาดสมาร์ทโฟนเหล่านี้ได้ทำลาย Destroy ตลาดมือถือเดิมชนิด “เรียบวุธ” ชนิดไม่เหลือซากลงไปในทันที คือ ตายไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ทำลายรากเหง้าเดิมของตลาดมือถือดั้งเดิมชนิดไม่เห็นฝุ่น และใช้เวลาอันสั้นมากชนิดม้วนเดียวจบหรือปีเดียวจบ
แม้ผู้ประกอบการบางค่ายผู้ให้บริการบางรายจะพยายามยื้อสุดฤทธิ์ที่จะประคับประคองอุตสาหกรรมมือถือของตนไม่ให้สูญสลาย อย่างค่าย BlackBery : BB แต่ก็ยื้อเอาไว้ได้ไม่ถึง 3-5 ปี ก็สูญสลายไปในที่สุด แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV นั้นต่างออกไป
จุดตาย EV - ลิเธียมหมดโลกเสียก่อน
การก่อกำเนิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงจะไม่สามารถทำลายรากเหง้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ระบบสันดาปดั้งเดิมลงไปได้แล้ว ตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV เองยังมีข้อจำกัดในตัวเองที่ผู้ประกอบการน้อย-ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ยังต้องลุ้นระทึก เพราะเป็น “จุดอ่อน” และแทบจะเป็นจุดตายที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้อยู่หรือไปด้วย
นั่นคือ..ตัวพลังงานขับเคลื่อนที่ต้องอาศัย “แบตเตอรี่ลิเธียม” (Lithium) ที่ถือเป็นหัวใจหลักของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีนเป็นหลักถึง 80% ของ Supply ในตลาดโลกอีกด้วย ผิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบสันดาปทั้งหลายที่อาศัยเชื้อเพลิง Fossil อย่างน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาตินั้น มีซัพพลายกระจายอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก มีประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก และมีปริมาณเหลือเฟือ จนต้องจัดระเบียบการซื้อขาย จัดตั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปก OPEC เพื่อจัดระเบียบการผลิตน้ำมันหรือก๊าซออกสู่ตลาดโลกกัน
วันนี้แค่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และทั่วโลกผลิตกันออกมาในหลัก 1 ล้านคัน ยังไม่ถึง 50 ล้านคันด้วยซ้ำ ก็เริ่มมีกระแสข่าวสะพัดรัฐบาลจีนและผู้ผลิตส่งออก “ลิเธียมคาร์บอนเนต” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ “ลิเธียมไอออนฟอสเฟต” (LFP) ราคากระฉูดขึ้นมาเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวไปแล้ว
โดยราคา LFP ล่าสุดเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมานั้น ทะยานขึ้นมาถึงตันละ 40,000 เหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 500% และยังคงมีแนวโน้มที่จะยืนอยู่ในระดับสูงเช่นนี้อยู่ต่อไป
สาเหตุที่ราคาลิเธียมขยับขึ้นหลายเท่าตัวนั้น มาจากความต้องการใช้งาน เพื่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั่นเอง
ทั้งๆ ที่ปริมาณรถยนต์ EV นั้น เพิ่งจะออกสู่ตลาดโลกไปได้เพียง 10 ล้านคันเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ทุกชนิดประเภทในโลกวันนี้ที่มีถึง 1,000 ล้านคัน โดยยังคงมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดโลกปีละกว่า 95-100 ล้านคัน
ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่าจนถึงปี 2573 (2030) ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมี 145 ล้านคัน ซึ่งก็ยังไม่ถึง 15% ของตลาดรถยนต์ทั่วโลกด้วยซ้ำ แต่ถึงเวลานั้น สิ่งที่เป็นจุดอ่อนและจุดตายของรถยสนต์ EV จะเกิดตามมาทันที เพราะหากมีปริมาณการใช้รถยนต์ EV ไปถึง 50 หรือ 100 ล้านคัน ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ “ลิเธียมไอออนฟอสเฟต” ที่ว่านี้ ราคาจะทะยานไปถึงไหน เอาจากไหนมาป้อนให้หรือเกิดรัฐบาลจีนระงับการส่งออกแร่ลิเธียมที่ว่านี้ ราคารถยนต์ EV จะมีสภาพเช่นไร?
โตโยต้ากลับหลังหัน-รถยนต์มือสองยังไม่สะเทือน
จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ของญี่ปุ่น อย่างค่ายโตโยต้า ที่ถือเป็นเจ้าแรกของค่ายรถยนต์ที่คิดค้นนำเอาระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าลิเธียมที่ว่านี้มาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของตน และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเจ้าแรกออกสู่ตลาดด้วยซ้ำนั้น กลับหันไปทุ่มเทมุ่งการวิจัยและพัฒนาและผลิตรถยนต์ในระบบสันดาปเดิมเป็นหลัก หรืออย่างดีก็ทำระบบ “ไฮบริด Hybrid” ออกมาเป็นทางเลือกควบคู่กับระบบสันดาป โดยไม่ยอมทุ่มเทงบวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า EV เต็มตัว
ความคืบหน้าล่าสุดนั้น นัยว่า ค่ายโตโยต้าใช้วงเงินในการพัฒนาวิจัยรถยนต์ในระบบสันดาปแบบเดิม จนทำให้รถยนต์ที่ออกมาใหม่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และนำเอาระบบไฟฟ้ากำลัง Hybrid เข้ามารวมอยู่ในเครื่องยนต์จนทำให้เกิดการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นแทบจะไม่มีความแตกต่างไปจากรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปแล้ว
อย่างตัว VIOS รุ่นใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร แค่ 1000 ซีซี แต่สามารถรีดกำลังแรงม้าออกมาได้ไม่แตกต่างจากรุ่นเดิม 1500 ซีซี หรืออาจจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ประหยัดพลังงานประหยัดน้ำมันลงไปกว่าระบบเดิมกว่า 50% รวมทั้งยังเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านไฮโดรเยน Hydrogen เป็นหลัก โดยพัฒนาไปเป็นระบบแอมโมเนีย Ammonia ด้วยหวังว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของระบบขับเคลื่อนรถยนต์ในอนาคต
ทำให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ระบบสันดาปเดิมได้มีการพัฒนาเทคโนโลบยีไปในทิศทางที่เน้นการประหยัดพลังงานน้ำมัน และทำให้ราคาจับต้องได้ไม่ต่างไปจากราคา EV จึงทำให้ การเข้ามาของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ที่ว่านี้ หาได้ทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์ระบบสันดาปเดิมให้สูญพันธ์ไปอย่างที่เราเข้าใจ
ตรงกันข้ามตลาดรถยนต์เก่า หรือรถยนต์มือสองนั้น ยังคงมีการใช้กันได้เต็มท้องถนนทั่วโลก และยังคงสามารถใช้งานไปได้อีกนับร้อยปี ผิดกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมือถือที่พอเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็เบียดอุตสาหกรรมเดิมสาบสูญไปในทันที เครื่องมือถือรุ่นเก่าไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ แต่รถยนต์เก่า รถยนต์มือสองที่ยังคงมีอยู่เต็มทั่วทั้งตลาดโลกนับ 100 ล้านคันนั้น ก็ยังคงวิ่งปร๋ออยู่
นั่นจึงทำให้จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่า EV จะเข้ามาทดแทนรถยนต์หรือยานยนต์ในระบบสันดาปที่กำลังพัฒนาไปเป็นระบบ Hybrid แล Hydrogen แล้ว ซึ่งนั่นจะทำให้รถยนต์ในระบบเก่ายังคงไม่มี่วันตาย
ตรงกันข้ามกับยานยนต์ EV ที่ไม่มี่ใครบอกได้ว่า หากมีการใช้แบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานที่ว่านี้กันไปถึง 100 ล้าน 200 ล้านคัน แล้วจะยังมีวัตถุดิบจากแหล่งไหน Supply ให้ได้บ้าง หรือหากรัฐบาลจีนที่เป็นแหล่งผลิตลิเธียมไออนฟอสเฟตรายใหญ่ของโลกเกิดระงับการส่งออกขึ้นมา ก็มีหวังได้ “เอวัง” กันทั้งโลก!!!
แก่งหิน เพิง