"...หนู ช่วยกันหน่อยนะ..." กลายเป็นวาทะเด็ดทางการเมือง ที่ "บิ๊กตู่" ส่งต่อถึง อนุทิน ชาญวีรกูร หรือ "เสี่ยหนู" ให้ช่วย ประคองรัฐนาวา ท่ามกลางกระแสคลื่นลมทางการเมือง ที่กำลังโหมกระหน่ำ ว่าด้วยปัญหา "สภาล่ม" และ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"
กลายเป็นประเด็นร้อน ต่อคำขอร้องของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มีต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูร รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หน.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ว่า "หนูช่วยกันหน่อยนะ" หลังร่วมกันแถลงข่าว เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ศบค. ที่ทำเนียบ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ วาทะ คารม สวยหรู แต่สะท้อนถึงอาการ "ขอร้อง-ร้องขอ" อย่างตรงไปตรงมา เป็นการแสดงถึงความจริงใจ ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก
เพื่อต้องการให้ "เสี่ยหนู" ชื่อเล่นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูร ช่วยเหลือพลิกวิกฤต ประสานรอยร้าวของรัฐบาล หลังเกิดปรากฏการณ์ "สภาล่ม" ซ้ำซาก และความขัดแย้ง ว่าด้วยโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" อภิมหาโปรเจ็คกว่า 4 แสนล้านบาท ที่ยืดเยื้อกันมานาน
อย่างไรก็ตาม คำขอร้องที่ว่า "หนูช่วยกันหน่อยนะ" ยังมีเบื้องหลังที่ลึกลงไปกว่านั้นอีก นั่นก็คือ ข้อเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะนำไปสู่การต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปีนั้น
เป็นการดำเนินการตามคำสั่งของ "บิ๊กตู่" หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับบีทีเอสโดยเร็ว ก่อนจะได้ข้อยุติที่จะให้ต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส จำนวน 30 ปี แลกกับการให้เอกชนต้องรับภาระหนี้ของ กทม. ไปทั้งหมด ซึ่งแนวทางดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอต่อประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562
และที่สำคัญ กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็มีท่าทีเห็นชอบมาโดยตลอด จนกระทั่งมีเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เข้ามาเกี่ยวข้อง
โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม วงเงินกว่า 1.427 แสนล้านบาท มีปัญหามาจากขั้นตอนการประมูลที่ไม่โปร่งใส จนทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ถูก BTS ฟ้องกราวรูด ตั้งแต่ผู้ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ที่ไม่เป็นไปตาม RFP/TOR จนศาลปกครองต้องมีคำสั่งคุ้มครอง
ดังนั้น ท่าทีของกระทรวงคมนาคม ที่มีต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เปลี่ยนไป และระดมพลดาหน้า ลุกขึ้นมาทำหนังสือทักท้วง การต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส ออกโรงคัดค้านการต่อขยายสัมปทานอย่างหนักหน่วง หวังจะให้ "บิ๊กตู่" เจรจาให้กลุ่ม BTS รามือจากการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม รวมทั้งถอนฟ้องคดีความทั้งหมดที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ 7 รมต.พรรค ภท. แท็คทีม "บอยคอต" ไม่ร่วมประชุม ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นั้น เป็น เกมการเมืองที่ได้ผล เพราะทำให้วาระสำคัญ การพิจารณาแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องเลื่อนออกไป
และพยามสะท้อนให้เห็นว่า ภาพเป็นการต่อสัญญาให้ภาคเอกชน ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ไปอีก 30 ปี ในปี พ.ศ. 2602 จากเดิมที่จะครบอายุสัมปทานในปี พ.ศ. 2572 หรืออีก 7 ปี เท่านั้น ดูไม่เหมาะสม
เท่ากับพยามตอกย้ำความค้างคาใจสาธารณชน ที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ด้วยคำถามว่า มีเหตุผลอันใดที่ กทม. จำเป็นต้องเร่งรีบต่อสัญญาล่วงหน้าไปอีก 30 ปี และ ทำไมไม่รอให้ครบสัญญาสัมปทาน อีกแค่ 7 ปีเท่านั้น แล้วค่อยมาพิจารณากันให้รอบคอบก่อนไม่ดีหรือ ??
นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ "สภาล่ม" ซ้ำซาก ที่มีการนำตัวเลขมาตีแผ่ประจานว่า นับตั้งแต่เปิดสมัยประชุมที่ผ่านมา มี ส.ส.สันหลังยาว หรือจงใจเล่นเกมดิสเครดิตรัฐบาล ทำให้เกิดสภาล่มมาแล้วรวมถึง 17 ครั้ง
ตอกย้ำ "เสถียรภาพ" อันง่อนแง่นของรัฐบาลผสม ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อยู่ในสภาพ "เสียงปริ่มน้ำ" อันเกิดมาจาก "สนิมเนื้อใน" ของกลุ่มกบฎ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาฯ พปชร.
ไม่รวมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จ้องกระทืบซ้ำ ด้วยการเสนอนับองค์ประชุม ให้กระบวนการทางนิติบัญญัติเดินน้าไปไม่ได้
ดังนั้น ถ้อยวาทะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูร "...หนูช่วยกันหน่อยนะ..." จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อแทบทุกสำนัก นำไปพาดหัวใหญ่หน้าหนึ่งในวันรุ่งขึ้น
ย้อนกลับมาดู เสียง ส.ส.ในสภาฯ ของ พรรคภูมิใจไทย 60 กว่าเสียง เมื่อพลิกดูเนื้อใน ตามสูตรสำเร็จ ”คณิตศาสตร์การเมือง” ถูกวางตำแหน่งเป็นพรรคขนาดกลาง เมื่อพลิกขั้วไปข้างใดข้างนั้น ย่อมจะเป็นฝ่ายชนะทันที ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล หรือ โหวตในสภาฯ
จึงถือว่า ภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจการต่อรองสูง และบทบาทที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้ว เมื่อสามารถคว้าโควต้า กระทรวงสำคัญ ระดับเกรดเอ มาอยู่ในกำมือได้ถึง 2 กระทรวง คือ "คมนาคม-สาธารณสุข"
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ ครม. ต้องตีกลับ วาระต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป โดยให้ กระทรวงมหาดไทย ตอบคำถามของพรรคภูมิใจให้ได้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องการแปลงสัญญาสัมปทานมาเป็นสัญญาร่วมทุน ถือว่าไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ หลังจะเลือกใช้แทนการเปิดประมูลตามหลักกฎหมายทั่วไป ในช่วงที่สัญญาสายสีเขียวจะหมดในปี 2572 และการลดราคาค่าโดยสารให้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสายได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชน
และจากบัญชา ของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ " รมว.คมนาคม สั่งการให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์ รองปลัดคมนาคม และ นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกันแถลงคัดค้านการต่อสัญญาร่วมทุน รถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะ เห็นว่า
กทม. ทำผิดข้อตกลง ระบุหากรัฐดำเนินการเอง จะมีกระแสเงินสด 4.6 แสนล้าน ขณะที่ให้เอกชนดำเนินการรัฐจะมีกระแสเงินสดแค่ 3.2 หมื่นล้าน โดยหากคิดค่าโดยสารแบบ BTS ผู้โดยสารต้องควักจ่ายเกินจริง แถมไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพ แต่หากคิดแบบมาตรฐาน MRT จ่ายแค่ 51 บาท
ยืนยันว่าโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่ง รฟม. อนุญาตให้ กทม. เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ทำร่วมกันไว้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงกรณีที่ กทม. ไปว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการ ดังนั้น รฟม. จึงไม่รับทราบหนี้สินของ กทม.ในส่วนที่ไปว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ (แต่ก็เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ชุดข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหล่านี้ ทำไมเพิ่งนำมาเปิดเป็นครั้งแรกในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานในการชี้ชะตาอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งๆ ที่ผ่านมารัฐมนตรี ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ชูมือหนุนมาโดยตลอด)
เท่ากับ หักดิบ กทม. ไม่มีอำนาจ มอบโครงการนี้ให้ภาคเอกชนใดๆ จัดการ หาก กระทรวงคมนาคม โดยพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย
กลับมาถึงศึกใหญ่ในสภาฯ ว่าด้วยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไปเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่รัฐสภา
นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจโรจน์ไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ และ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์
เป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการอภิปราย ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ.2565 โดยเนื้อหาสาระแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. วิกฤตเศรษฐกิจ ในยุคข้าวของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน 2. วิกฤตโรคระบาด ทั้งโควิด-19 และโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) 3. วิกฤตด้านการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ยุคการเมืองที่ใช้เงินเป็นหลัก และ 4. วิกฤตความล้มเหลวเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่ไร้ประสิทธิภาพก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด ทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะฝุ่นพิษ การบริหารที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
เป็นภาพรวมทางการเมืองอันร้อนแรง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็ต้องติดตามดูกันว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พปชร. และ พรรคร่วมอย่าง ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) จะผนึกกำลังรับมือศึกซักฟอกได้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร
รวมถึงวาทะเด็ด อันเป็นคำร้องขอจาก "บิ๊กตู่" ที่ ออดอ้อนดังๆ ว่า "หนูช่วยกันหน่อยนะ" จะช่วยต่ออายุรัฐบาลให้อยู่ต่อไปจนครบวาระหรือไม่ ???