มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังอยู่ในอารมณ์สิ้นหวังแบบเดียวกัน คือ ล้วงเข้าไปในกระเป๋าซ้ายพบแต่ความว่างเปล่าเพราะไม่มีเงิน.. ”เงินออมที่เก็บหอมรอมริบมานานหมดกระปุก”
ล้วงเข้าไปกระเป๋าขวา ก็ ”มีแต่หนี้” เงินที่กู้มาเพื่อพยุงธุรกิจหรือเลี้ยงชีวิตก็หมดไปแล้ว งานก็ไม่มี เจ้าหนี้ก็ทวง ของก็แพง แล้วจะอยู่กันอย่างไรให้รอดในภาวะเช่นนี้
ต้องยอมรับว่า โควิด -19 สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมมาอย่างยาวนานเกินกว่า 2 ปีเข้าไปแล้ว คนมีรายได้น้อยไปจนถึงปานกลาง เหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ รอวันที่ฝนจากฟ้าโปรยปรายลงมาสร้างความชุ่มชื่นให้กับชีวิต
แต่เหมือนยิ่งรอความหวังยิ่งหดหายไปทุกขณะ ขาดน้ำยังไม่พอกลับมีโรคและแมลงมารุมเร้า ซ้ำเติมให้อาการย่ำแย่ลงไปอีก มองไม่เห็นแม้แสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ และนับวันต้นไม้ที่ขาดน้ำก็กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
การที่มีรายได้ลดลง ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีภาระต้องดูแลลูกน้อง ครอบครัว พ่อแม่ นำไปสู่การกู้เงินสร้างหนี้เพิ่ม หรือรูดบัตรเครดิตเอาเงินอนาคตมาใช้เพื่อต่อลมหายใจหวังไปต่อ
เป็นการซื้อเวลา เพื่อรอโอกาสที่จะกลับวกเข้ามาใหม่และได้แต่ภาวนาให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ววัน
แต่สุดท้ายสถานการณ์กลับยืดเยื้อ “หนี้” ที่แบกไว้กลับกลายเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้อยู่ในอาการหายใจรวยรินเร็วขึ้นอีก
ความจริงปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ด้วยซ้ำ พอโควิด –19 ที่เป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่ถาโถมเข้ามา เขื่อนที่มีรอยร้าวอยู่แล้วก็พังทลายลงในที่สุด หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้น ขณะที่ความสามารถในการใช้หนี้ลดน้อยถอยลง เพราะมีรายได้ลดลง
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ 12,199,778 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และช่วงเวลาเพียง 3 ปี ขึ้นไปแตะที่ระดับ 90.6% ของจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยมีจำนวนหนี้ครัวเรือนรวม 14,137,859 ล้านบาท โดยในช่วงเวลา 3 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1,938,081 ล้านล้านบาท และตัวเลขหนี้ครัวเรือน
ล่าสุดของ ธปท.ที่มีคือไตรมาสที่ 3 ปี 2564 พบว่า มีหนี้ครัวเรือนจำนวน 14,347,207 ล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของจีดีพี ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงครึ่งปีแรก 2565 จะอยู่ในช่วง 89.5%-90.5%
สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นรายไตรมาสล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยระบุในตอนหนึ่งว่า เสถียรภาพระบบการเงินของไทยยังเปราะบาง โดยเฉพาะฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ซึ่งอาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
จึงต้องติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น
ล่าสุด ในการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”
ทั้งนี้ จะมีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนใน 8 เรื่อง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งได้มีการประชุมหารือในขั้นแรกแล้ว และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
ในความเป็นจริงรัฐบาลประกาศมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้วว่า ให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน แม้จะดูว่าช้าไปเสียด้วยซ้ำ กับเสียงเตือนกันระงมในช่วงก่อนหน้านี้ และนี่ผ่านมาจะ 2 เดือนแล้วยังไม่เห็นหน้าเห็นหลัง หรือ การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
คนที่กำลังจะจมน้ำเวลาแม้เพียงเสี้ยววินาทีก็มีความหมาย ยิ่งช้าก็ยิ่งเสี่ยงที่จะล้มหายตายจากกันไป ที่สำคัญการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระบบราชการของไทยก็เป็นที่ทราบกันดีว่า อืดอาดยืดยาดขนาดไหน ถ้าไม่จี้ ติดตามความคืบหน้า ไม่ลงโทษผู้ปฏิบัติที่ปล่อยปละละเลยในหน้าที่ ยากที่จะสำเร็จตามที่พูดให้นโยบายไว้
ยิ่งการพูดให้นโยบายแบบกว้างๆไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน ไม่มีการประเมินผลติดตามอย่างจริงจัง
ขอแค่ได้บอกกล่าวว่า รับรู้ว่ามีปัญหานี้และกำลังดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุดโดยได้ให้นโยบายไปแล้ว ร้อยทั้งร้อยไม่เคยเดินไปถึงจุดหมายสักครั้ง
ยิ่งครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่เดิมพันด้วยชีวิตของผู้คนที่ลำบากยากแค้น และลมหายใจของเศรษฐกิจไทยที่จะได้ไปต่อหรือไม่ ลองตั้งคำถามดังๆ กลับไปที่ผู้รับผิดชอบในทางปฏิบัติว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน แล้วหันมาบอกกับประชาชนเป็นระยะๆ ว่า ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง ตรวจสอบได้จากไหน คนที่กำลังเดือดร้อนเขาจะได้ไม่ต้องรอเก้อกับวาทกรรม “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”
นายตือฮวน