กสทช. เคาะสรุปชดเชยทีวีดิจิทัล 2 ช่องแรก “สปริงนิวส์ 19 และสปริง 26” กว่า 1,175 ล้านบาท ชงบอร์ด กสทช. ไฟเขียวจอดำเที่ยงคืน 15 สิงหาคมนี้ กำชับเยียวยาพนักงานอย่างเป็นธรรม แต่ “เอาท์ซอร์ส” หน้าดำกร่ำถ้วนหน้า ยังต้องวัดใจเงินเยียวยาได้ไม่ได้อยู่ที่ 3 ค่ายมือถือ 19 มิถุนายนนี้
เป็นที่แน่นอนแล้ว 2 ช่องทีวีดิจิทัลแรกที่ตั้งแท่นรูดม่านคืนใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ให้แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือสปริง นิวส์ช่อง 19 และสปริง 26 โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ได้พิจารณาเอกสารงบการเงินและแผนเยียวยาผู้บริโภคทีวีดิจิทัลที่แจ้งคืนใบอนุญาต 2 ช่องแรกเรียบร้อยแล้ว คือ ช่องสปริงนิวส์ 19 และช่องสปริง 26 (NOW26) โดยคณะทำงานได้สรุปเงินชดเชยไลเซ่นส์ ทั้ง 2 ช่องไว้ รวม 1,175 ล้านบาท
ทั้งนี้ แยกเป็นช่องสปริงส์นิวส์ 19 ที่ได้ประมูลใบอนุญาตช่องข่าวไป 1,318 ล้านบาท โดยจ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 4 งวด 878 ล้านบาท ได้รับเงินชดเชยคืน 567 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายเงินค่าโครงข่าย Mux 27 ล้านบาท และค่าโครงข่าย Must Carry (ส่งสัญญาณดาวเทียม) 35.4 ล้านบาท ทำให้มียอดจ่ายเงินชดเชยเหลืออยู่ราว 500 ล้านบาท
ขณะที่ช่องสปริง 26 (NOW26) นั้น ประมูลใบอนุญาตช่องวาไรตี้ มูลค่า 2,200 ล้านบาท จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 3 งวด 1,472 ล้านบาท ได้รับเงินชดเชย 890 ล้านบาท แต่ต้องหักค่าใบอนุญาตงวด 4 ที่ค้างอยู่ 201 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 14 ล้านบาท ค่าโครงข่าย MUX 26 ล้านบาท และค่าโครงข่าย Must Carry ที่รัฐจ่ายเงินสนับสนุน 33 ล้านบาท จึงเหลือเงินชดเชย 675 ล้านบาท
ส่วนแผนเยียวยาพนักงานนั้นช่องสปริงนิวส์ จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และจ่ายเพิ่มพิเศษอีก 1 เดือน ขณะที่ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์แรงงานสื่อสารมวลชนได้ทำหนังสือถึง กสทช. ขอให้ผู้คืนใบอนุญาตชดเชยกรณีเลิกจ้างเพิ่มพิเศษ 3 เดือน ทาง กสทช. จึงขอให้สปริงนิวส์กลับไปพิจารณาการจ่ายเงินเยียวพนักงานใหม่ ทั้งนี้ สำนักงานฯ เตรียมเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช. ให้กำหนดวันยุติออกอากาศช่องสปริงนิวส์ 19 และสปริง 26 ในวันที่ 15 ส.ค. 2562 หลังเที่ยงคืน
แหล่งข่าวจากผู้ปฏิบัติงานในค่ายสื่อทีวี ดิจิทัล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ กสทช. มีมาตรการเยียวยาผู้ปฏิบัติงานในวงการทีวี ดิจิตอล ที่คาดว่าจะตกงานร่วม 2,000 คน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสื่อในที่นี้รวมถึงผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และฝ่ายเทคนิคต่างๆ จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่า กสทช. เสนอรัฐบาลประกาศใช้ ม.44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ก็เพื่ออุ้มนายทุนสื่อเท่านั้น
“เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการเยียวยาสื่อตกงานของ กสทช. ที่ได้ร่วมประชุมกับเจ้าของสื่อทีวีดิจิทัล จะเป็นการเยียวยาเฉพาะพนักงานของบริษัทฯ ที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลเท่านั้น โดยมาตรการเยียวยาสื่อตกงาน จะไม่ครอบคลุมถึงคนทำสื่อทีวีดิจิทัล ที่ทำสัญญากับเจ้าของช่องในลักษณะเอ้าท์ซอร์ส หรือทำสัญญาในลักษณะจ้างผู้ประกาศข่าว, ผู้สื่อข่าว ช่างภาพและฝ่ายเทคนิคต่างๆ ซึ่งสื่อกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นพนักงานของช่องทีวีดิจิทัล และที่ผ่านมามีการทำสัญญาลักษณะเอ้าท์ซอร์สจำนวนมาก”
แหล่งข่าวคนทำสื่อทีวีดิจิทัล กล่าวต่อว่า จากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาสื่อตกงานของ กสทช. พบว่า มาตรการเยียวยาสื่อไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มสื่อตกงานที่ทำสัญญากับช่องในลักษณะเอ้าท์ซอร์สแต่อย่างใด ทำให้สื่อตกงานกลุ่มเหล่านี้มีสิทธิ์ถูกลอยแพ ไม่ได้รับชดเชยอะไรทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นแล้วในช่องทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง แม้จะได้รับเงินชดเชยจาก กสทช. แต่มีแนวโน้มจะไม่ชดเชยกลุ่มสื่อที่ทำสัญญาเอ้าท์ซอร์สกับช่อง ทำให้คนสื่อกลุ่มนี้กว่า 300 ชีวิตเคว้งและมีแนวโน้มตกงานโดยไม่ได้รับการชดเชยแม้แต่บาทเดียว
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวใน กสทช.เผยว่ามาตรการจ่ายชดเชยทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาตข้างต้นนั้นยังต้องลุ้นการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ 700 ที่ กสทช. จะเปิดให้บริษัทสื่อสารทั้ง 3 ค่ายเข้ามารับใบอนุญาตจัดสรรคลื่นใหม่ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ด้วย หากมีผู้เข้ารับใบอนุญาตไปเพียงรายเดียว แผนการชดเชยการคืนใบอนุญาตทีวิดิจิทัลที่ตั้งไว้อาจต้องปรับใหม่ แต่หากมีผู้เข้าประมูลรับใบอนุญาตไป 2 รายขึ้นไปก็ไม่เป็นปัญหา