จับตาการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยกติกา “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ อยู่ในฐานะได้เปรียบ..
ขณะที่พรรคขนาดเล็ก ตกอยู่ในอาการร่อแร่ มีโอกาส “สูญพันธุ์” ต้องติดตามดูการปรับโครงสร้าง พปชร. “บิ๊กตู่” จะส่งใครร่วมทีม
นับถอยหลังจากนี้ คงเหลือเวลาอีกประมาณปีกว่าๆ จะถึงกำหนัดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งเมื่อนับเวลาตามปฏิทิน จะพบว่า "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อ 9 พ.ค. 2562 ดังนั้น นับไปอีก 4 ปี เอากันเป๊ะๆ รัฐบาลจะครบวาระ ในวันที่ 9 พ.ค. 2566 หรือ 1 ปี กับ อีก 3 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า เป็นสถานการณ์ปกติ ไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือปฏิวัติ รัฐประหาร ซึ่งเมื่อจับตาดูภาพรวมการเมืองไทยในรอบปีที่ผ่านมา เชื่อว่า คงไม่มีอุบัติเหตุการณ์เมืองใดๆ เกิดขึ้น และที่สำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ เอง ก็ยืนยันเด็ดขาดว่า จะขออยู่จนครบวาวะ
แม้ที่ผ่านมาจะถูกแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้าม อย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน !
ดังนั้น มาถึงตรงนี้ ขอการันตีว่า การเลือกตั้งใหม่จะเกิดแน่นอน และจึงจำเป็นต้องถอดรหัส กติกาการเลือกตั้ง ให้เห็นชัดๆ อีกครั้ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายฉบับ หลายร่าง แต่สาระสำคัญโดยภาพรวมสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 เรื่อง
ที่น่าจับตาและน่าสนใจ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสัดส่วน ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่ยังคงจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร 500 คนเช่นเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
โดยสัดส่วนใหม่ แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนในปัจจุบัน 350 คน ขณะที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้ปรับลดลงเป็น 100 คน จากปัจจุบันที่มี 150 คน
โดยเราจะใช้การเลือกตั้ง 2 ใบแทนระบบเดิม ที่ใช้เป็นกติกาการเลือกตั้งปี 2562 หรือระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ
ประเด็นว่าด้วยระบบการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันกันค่อนข้างมากว่า จะเอาบัตรเลือกตั้งสองใบหรือใบเดียว โดย พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ ต่างและล้วนเห็นตรงกัน คือ อยากให้เป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ 1. เลือกพรรค และ 2. เลือกตัวบุคคล เพราะมีความได้เปรียบในเรื่องของจำนวน ที่มีโอกาสได้จำนวนนั่งในสภาฯ มากขึ้น โดยเฉพาะ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือ "ปาร์ตี้ลิสต์"
ขณะที่อีกกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก อยากได้เลือกตั้งใบเดียว หรือที่เรียกกันว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งมีข้อดีคือคะแนนจะไม่ตกน้ำ เพราะเท่ากับว่า กากบาทเพียง 1 ครั้ง คะแนนจะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรค เพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในคราวเดียวกัน
ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ถูกวางกติกาโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กกร. ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกแบบกติกาการเลือกตั้ง เพื่อหวังได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา เห็นได้จากในรัฐสภาเต็มไปด้วย ส.ส.จากพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะจะมีพรรคขนาดเล็กจำนวนมาก เกลื่อนสภาฯ
ตัดกลับมาถึง ระบบการเลือกตั้งที่จะถูกนำมาใช้ ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกปีกว่าๆ ซึ่งเป็นที่ชัดเจน แน่นอนแล้วว่า จะใช้ระบบเลือกตั้งสองใบ มีความเห็นของนักวิชาการ สะท้อนออกมาถึงข้อดีของระบบดังกล่าว โดย ดร.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุว่า
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ก็เป็นอย่างที่ฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พรรคใหญ่ได้เปรียบ ส่วนประชาชนจะได้อะไรจากระบบเลือกตั้งนี้หรือไม่นั้น ก็คือ ได้เลือกตั้งโดยแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างพรรคกับคน ว่านิยมบุคคลใด อยากให้ใครเป็นผู้แทนฯ และเลือกพรรคที่ต้องการส่วนระบบ ส.ส. เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน และใช้หลักคำนวณตามรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งจะไม่มี ส.ส.ปัดเศษ ระบบแบบนี้ไม่ได้สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง หากจะสะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริงก็ต้องเป็นแบบรวมเสียงทั้งประเทศ และเฉลี่ย ส.ส.ที่พึงมี"
ขณะที่ “โอฬาร ถิ่นบางเตียว” จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา มองว่า "การแก้เรื่องระบบเลือกตั้งในภาวะวิกฤตตอนนี้ก็มีส่วนจริงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้เป็นประเด็นที่เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่เป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเลือกตั้งของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่อาจเลี่ยงบาลีได้ว่าการเลือกตั้งแบบนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว ทำให้ประชาชนเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น แต่โดยหลักจริงๆ คือการช่วงชิงความได้เปรียบของ 2 พรรคใหญ่ ที่หวังว่าตัวเองจะกลับมามีอำนาจทางการเมือง"
อีกประเด็นที่สะท้อนความนิยมของพรรคการเมือง คือ ตัวเลขเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง โดยล่าสุด ในไตรมาสแรกของปี 2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งหมด 87 พรรค โดย "กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง" ได้ประกาศแจ้งการโอนเงินจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2565 จำนวน 67 พรรคการเมือง วงเงินทั้งหมด 101,957,791 บาท ไล่เรียงเงินอุดหนุนจากพรรคการเมืองที่น่าสนใจ 10 อันดับแรก ดังนี้
1. พรรคก้าวไกล ได้เงินอุดหนุนจำนวน 30,145,874 บาท 2. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เงินอุดหนุนจำนวน 13,133,331 บาท 3. พรรคภูมิใจไทย ได้เงินอุดหนุนจำนวน 9,475,722 บาท 4. พรรคกล้า ได้เงินอุดหนุนจำนวน 6,559,587 บาท 5. พรรคพลังประชารัฐ ได้เงินอุดหนุนจำนวน 5,706,040 บาท
6. พรรคเพื่อไทย ได้เงินอุดหนุนจำนวน 4,231,814 บาท 7. พรรคเสรีรวมไทย ได้เงินอุดหนุนจำนวน 2,660,238 บาท 8. พรรคไทยธรรม ได้เงินอุดหนุนจำนวน 2,334,004 บาท 9. พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้เงินอุดหนุนจำนวน 1,163,424 บาท 10. พรรคพลังประชาธิปไตย ได้เงินอุดหนุนจำนวน 1,153,467 บาท
มองภาพรวมกันคร่าวๆ จากตัวเลขดังกล่าวนี้ พอจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ ฯลฯ ยังอยู่ในลำดับต้นแนวหน้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลได้หายใจยาวๆ อย่างน้อยก็ 2 เดือน ไม่ต้องมาคอยพะวงกับวิกฤติสภาอย่าง “สภาล่ม” ก่อนจะเปิดประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค.65 เพราะเปิดประชุมสภาสมัยหน้า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีโอกาสโดนลากขึ้นเมรุเผาจริง
เพราะมีด่านอันตรายรออยู่ ทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 แบบลงมติ ซึ่งมี “ก๊วนผู้กอง” 16 เสียง ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ที่รอร่วมผสมโรงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ประกาศ ลับมีดรอเชือด
ขณะที่สถานการณ์ของรัฐบาล กำลังอยู่ช่วงขาลง มีแต่ทรงกับทรุด “สนิมเนื้อใน” พรรคร่วมรัฐบาลก็ส่อร้าวขึ้นเรื่อยๆๆ โดยเฉพาะมนต์ขลัง “3 ป.” เริ่มเสื่อม ล่าสุดจากการที่เด็กในคาถา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน.พรรคพลังประชารัฐ อย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกปาดหน้าในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเจอพิษ “งูเห่า” ในคราบพรรคภูมิใจไทย นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชิงเสนอ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ คว้าตำแหน่งไปครองแบบฉิวเฉียด 22 ต่อ 21
ช่วงปิดสมัยประชุมทุกพรรคเคลื่อนไหวหมด พรรคภูมิใจไทย ประชุมจัดทัพแบ่งแกนนำดูพื้นที่เลือกตั้งภาคต่างๆ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ประชุมใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 19 มี.ค.นี้ แต่ที่น่าจับตาที่สุดคือ การประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา วันที่ 20 มี.ค.นี้ ต้องตามดูกันว่า “บิ๊กตู่” ว่าจะส่ง “สายตรง” คนไหนเข้ามาร่วม ในการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ครั้งนี้ ก่อนที่ “บิ๊กตู่” จะเดินเข้าพรรค พปชร. อย่างเป็นทางการ
เพื่อนำธงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าด้วยกติกาบัตรเลือกตั้งสองใบ!!