ประมูลสัมปทานท่อส่งน้ำดิบอีอีซีระอุแดด หลังคลังเดินหน้าไฟเขียวบริษัทเอกชนรับสัมปทาน 30 ปี ทั้งที่ยังถูกฟ้องแก้ TOR มิชอบคาราคาซังในศาล ด้าน กปภ.กังขาคลังจ้องลอยแพ “อีสท์วอเตอร์” ทั้งที่รัฐถือหุ้นใหญ่ตามลอยประปาปทุมธานี
โครงการประมูลคัดเลือกเอกชนลงทุนบริหารท่อส่งน้ำดิบในพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ากว่า 25,000 ล้าน จ่อระอุแดดแล้ว หลังที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ไฟเขียวรับรองผลประมูลคัดเลือกบริษัทเอกชนทั้งที่ยังมีคดีความในศาลปกครอง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ 6 ต่อ 3 ไฟเขียวผลการประมูลคัดเลือกเอกชนลงทุนและบริหารท่อส่งน้ำดิบสายหลักในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ระยะเวลา 30 ปี มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท โดยเห็นชอบจากผลการพิจารณาคัดเลือกให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล ด้วยเหตุเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดกว่า 24,693 ล้านบาท ขณะที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ผู้รับสัมปทานเดิม เสนอราคา 24,212 ล้านบาทเศษ
แม้ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ จะมีความเห็นว่า ควรรอคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีที่อีสท์วอเตอร์ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกและกรมธนารักษ์ ต่อกรณีการยกเลิกประกาศประกวดราคาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 16 ก.ค. พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามเอกสารประกวดราคาใหม่ ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.64 แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ที่ประชุมจึงเห็นว่า น่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำพิพากษาจากศาล เพราะถือว่าบริษัทวงษ์สยามฯ เสนอเงื่อนไขผลตอบแทนแก่รัฐดีที่สุดแล้ว
ล่าสุด มีรายงานว่า บริษัท อีสท์วอเตอร์ฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั้วคราว ระงับมติบอร์ดที่ราชพัสดุและมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยระบุว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายจากการที่บริษัทได้ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกต่อการยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าประมูลโครงการนี้โดยไม่มีการชี้แจง และไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ชี้แจง ทั้งยังมีการแก้ไขเงื่อนไขการประมูล TOR ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย มีการลดทอนคุณสมบัติบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการนี้ จนอาจส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคตได้ ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งรับคำร้อง และนัดไต่สวนคดีในวันที่ 15 มี.ค.นี้
แหล่งข่าวจากการประปาส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า การที่กรมธนารักษ์และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าวมีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่การแก้ไขเงื่อนไขประมูล ลดทอนคุณสมบัติเอกชนที่เข้าประมูล และเงื่อนไขอื่น ๆ โดยมีการแก้ไขอย่างรวบรัดปราศจากการรับฟังความเห็นจากบริษัทเอกชนผู้เข้าประมูล และแม้บริษัทอีสท์วอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการประปาส่วนภูมิภาค ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% จะร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือก แต่ก็กลับไม่ได้รับการสนองตอบใด ๆ จากกระทรวงการคลัง
“ไม่เข้าใจบทบาทของกระทรวงการคลังที่มีต่อโครงการรัฐ เพราะอีสท์วอเตอร์นั้น เป็นบริษัทลูก กปภ.ที่มีคลังถือหุ้นและมีตัวแทนกรรมการนั่งอยู่ในบอร์ดด้วยแท้ ๆ แต่กลับถูกกระทรวงการคลังจ้องลอยแพหันไปอุ้มเอกชน ไม่ต่างจากกรณีสัมปทานประปาปทุมธานีก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายบริหาร กปภ.เคยมีมติที่จะดำเนินโครงการเอง แต่ในภายหลังกลับถูกฝ่ายการเมือบีบให้ขยายสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชนรายเดิมไปอีก 20 ปี โดยที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่รักษาการและกำกับดูแล พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างารัฐและเอกชนฯ กลับไม่มีการทักท้วง หรือดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ มาถึงโครงการท่อส่งน้ำดิบอีอีซีนี้ก็เช่นกัน แม้จะมีมติ ครม.เมื่อปี 2535 กำหนดให้ กปภ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดหาและพัฒนาท่อส่งน้ำดิบในเขตอีอีซี แต่วันนี้คลังกลับเร่งรีบเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน โดยไม่มีการเสนอทบทวนมติ ครม.เดิมแต่อย่างใด ทำให้พนักงานและเจ้าหน้าทื่ กปภ.ต่างพากันกังขา กระทรวงการคลังมีนโยบายสนับสนุนกิจการรัฐวิสาหกิจอยูหรือไม่ หรือต้องการบอนไซให้ตายตกไปตามกัน”
เปิด Time Line ท่อส่งน้ำดิบอีอีซี 2.35 หมื่นล้าน
ปี 2535 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กปภ.จัดตั้งบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพื่อเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ East Water มีกปภ.ถือหุ้น 40%) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.2537- 31 ธ.ค.2566
11 มิ.ย.64 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก โดยให้รวมโครงการท่อส่งน้ำดิบ 3 โครงการ ไว้เป็นสัญญาเดียวกัน และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเพื่อเช่า/บริหารท่อส่งน้ำดิบระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
กรมธนารักษ์แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นประธาน
16 ก.ค.64 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และเชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขตามที่กรมธนารักษ์กำหนด จำนวน 5 ราย เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ
9 ส.ค.64 เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอ ผลปราฎว่ามีเอกชน 3 ราย เข้ายื่นซองข้อเสนอ โดยเอกชน 2 ใน 3 ราย ได้แก่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
26 ส.ค.64 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหนังสือแจ้งผู้ยื่นซองข้อเสนอแจ้ง “ยกเลิก” การประมูลโครงการฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 โดยอ้าง TOR ที่ดำเนินการไปก่อนหน้าขาดความชัดเจน ทำให้ยากแก่การพิจารณา พร้อมดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไข TOR ใหม่
10 ก.ย.64 ประกาศ TOR ใหม่ โดยกรมธนารักษ์ มีหนังสือเชิญชวนเอกชนทั้ง 5 ราย เข้าร่วมประชุมชี้แจง และเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 28 ก.ย.64
28 ก.ย.64 เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอ
30 ก.ย.64 ประกาศผลการคัดเลือก โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ขณะที่ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทน 24,212.88 ล้านบาท
12 พ.ย.64 ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เนื่องจากมิใช่กรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
3 ธ.ค.64 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ กับพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย
11 ก.พ.65 ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกออกไปก่อน เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้คณะกรรมการได้พิจารณารับรองผลการพิจตารณาคัดเลือก
14 มี.ค.64 ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้ดำเนินการรับรองผลการประมูลให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยเงื่อนไขเสนอผลตอบแทนกับรัฐสูงกว่าบริษัทอื่น โดยไม่รอผลคำพิพากษาของศาลปกครอง
15 มี.ค.65 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ระหว่าง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดีในคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเป็นการฉุกเฉิน ฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2565 ของผู้ฟ้องคดี