ปรากฏการณ์ ”เลือดไหลออก” ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนภาพอนาคตการดำรงคงอยู่ของพรรคการเมืองสำคัญของไทย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “สถาบันทางการเมือง” แต่เพราะเหตุใด สมาชิกพรรคจึงทยอยกันลาออก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน..
การจัดงานดินเนอร์ทอล์ค ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้ชื่องาน "GO Together, Go Further" ที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ห้อง บีบีซี ฮอล แกรนด์ บอลรูม เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมทุนเป็นเสบียงกรัง ไว้ทำศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่ ปรากฏว่าทำได้ตามเป้าหมาย ที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” รอง หน.พรรค ปชป. ในฐานะแม่งานใหญ่ ตั้งเป้าไว้ คือ 200 ล้านบาท
โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากแกนนำคนสำคัญของ ปชป. แล้ว ยังมีตัวแทนจากภาคเอกชน นักธุรกิจชื่อดัง มาร่วมโต๊ะอาหารเลิศหรู ที่มีปูอลาสก้า และไข่ปลาคาเวียร์ เสิร์ฟยั่วน้ำลาย รวมทั้งเมนูรสเด็ดอื่นๆ คับคั่ง
“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หน.พรรค ปชป. เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาฯ พรรค ยืนต้อนรับแขกเหรื่อผู้มีเกียรติอยู่หน้างานด้วยรอยยิ้ม นอกเหนือจาก ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อลงกรณ์ พลบุตร และบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ที่น่าสังเกต คือ ในงานวันนี้ ไร้เงา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” บุคคลสำคัญ ในฐานะอดีต หน.พรรค ปชป. อดีตนายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย !
หลายๆ คน ไม่ยอมปริปากบอกถึงสาเหตุ ที่ "อภิสิทธิ์" ไม่มาร่วมงาน แต่ทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า มันคืออะไร หลังจาก ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ "อภิสิทธิ์" คือ บุคคลที่ประกาศชัดเจนก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ว่า จะไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ ระบุในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า "ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกต่อแน่นอน การสืบทอดอำนาจ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว"
ที่สำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ประกาศนโยบายหาเสียง ชัดเจนว่า "ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร" แต่ปรากฏว่าหลังเลือกตั้ง พรรค ปชป. นำโดย "จุรินทร์-เฉลิมชัย" กลับกลืนน้ำลาย ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล
สะท้อนภาพการเปลี่ยนไป จากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ หนักแน่น ไม่ก้มหัวให้เผด็จการ รัฐประหาร ดังนั้นในเวลาต่อมา จึงได้เห็นภาพ "เลือดไหลออก" จากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการทยอยลาออกจากสมาชิกคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค, สุรเชษฐ์ มาศดิตส์, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์, ไพร พัฒโน, อภิชัย เตชะอุบล
“เอกณัฐ พร้อมพันธ์” คนสนิทของ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ ปชป. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม มีเลือดสีเดียวกัน มุ่งมั่นทำงานให้พรรคกันเต็มที่แหละครับ ถ้าหากได้รับโอกาสที่เท่าเทียม… ความสำเร็จสร้างด้วยความสามารถ ความเพียรพยายามความมุมานะ ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน… ลองทบทวนสิ่งที่พูดออกมาดีๆ นะครับ การใช้วาทกรรมเลือด “แท้” หรือ “เทียม” แบ่งแยกชนชั้นคนนั้น เหมาะสหรือไม่ในยุคนี้"
“ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษก ปชป. แถลงถึงการลาออกของสมาชิก ปชป. ว่า พรรคเคารพในการตัดสินใจของสมาชิกพรรคที่ได้ลาออก ส่วนจะไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในพรรคการเมืองใดคงไม่สามารถตอบแทนได้ แต่กรณีของ อภิชัย เตชะอุบล สส.บัญชีรายชื่อ ต้องเอาความจริงมาพูดกันว่า "ทุกคนคงทราบกันดี นายอภิชัยได้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมืองอื่นมานานแล้ว อาจจะมีเหตุผลพิเศษที่ไม่ต้องการลาออกจากสมาชิกพรรคได้ คือ หากลาออกก็จะหลุดจาก ส.ส.ทันที แต่ขณะนี้คงเห็นแล้วว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่มาก ก็เลยตัดสินใจลาออกไปทำงานการเมืองกับพรรคการเมืองอื่นนั่นเอง"
"อย่างไรก็ตาม พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง ผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากมายหลายสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญที่พรรคดำเนินการมาตลอด คือ มุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าเพื่อประชาชน ขณะนี้ต้องถือว่า การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมาถึง ทุกคนในพรรคมีความตั้งใจ ร่วมมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้า ทุกคนในพรรคคือส่วนสำคัญของพรรค การเปลี่ยนแปลง แปรเปลี่ยนของตัวบุคคลเกิดขึ้นได้เสมอ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องอยู่เพื่อทำงานให้กับประชาชนและประเทศตลอดไป” นั่นคือปรากฏการณ์ บางส่วนต่อกรณี "เลือดไหลออก" ของ ปชป.
กระนั้นก็ตามที ต้องยอมรับความจริงว่า ประชาธิปัตย์ คือ พรรคการเมือง ที่มีบทบาทมาอย่างยาวนานในวงการเมืองไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2489 โดย นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาฯ พรรค ถัดจาก นายควง ก็เป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พ.อ.ถนัด คอมันตร์, พิชัย รัตตกุล, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หน.พรรค ปชป.คนปัจจุบัน
พรรคประชาธิปัตย์ มีสัญลักษณ์ประจำตัว คือ พระแม่ธรณีบีบมวยผม ได้รับการยกย่องว่า เป็น "สถาบันทางการเมือง" จากยุคที่ก่อตั้งเมื่อปี 2489 ผ่านมาถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 76 ปี มีสีฟ้าเป็นภาพจำ ที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าเป็น สีของประชาธิปัตย์
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี สมาชิกรุ่นเก่ายุคแรกๆ ของ ปชป. ได้กล่าวถึง ปรากฏการณ์ "เลือดไหลออก" ของ ปชป. ระหว่างการสัมมนาที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
“ในช่วงหลังคนลาออกจากพรรคไปหลายคน ต้องยอมรับว่าบางคนมาหาผมถึงบ้าน บางคนโทรศัพท์มาเล่า ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าการบริหารงานในพรรค ใจแคบ มีการดูเฉพาะกลุ่มคนของนายจุรินทร์ บางคนก็บอกว่าระแวงว่า ในช่วงสมัยของทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณจุรินทร์ มีอำนาจแฝงชักใยอยู่เบื้องหลังที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรับฟังมา แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง หรือเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่กินใจคนเหล่านั้น นายไตรรงค์กล่าวจะจริงหรือไม่อย่างไร แต่เป็นประเด็นที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องนั่งลงตั้งสติ คิดอย่างตรึงตรอง และยอมรับความเป็นจริง ความเป็นจริงว่า 76 ปีของประชาธิปัตย์ ก็ยังมีสนิมเหล็กกัดกร่อนพรรคอยู่"
ก็ไม่รู้ว่า ประเด็นสำคัญ ที่ ดร.ไตรรงค์ กล่าวถึง "การบริหารในพรรค ใจแคบ" หรือ "มีอำนาจแฝงชักใยอยู่เบื้องหลัง" มันคืออะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง ทั้ง "อภิสิทธิ์-จุรินทร์" รวมถึง "ดร.ไตรรงค์" ต้องออกมาตอบให้สังคมกระจ่าง ไม่ใช่เก็บอมพะนำให้อึมครึม เพราะอย่าลืมว่า อีกไม่กี่วันจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ทั้ง 50 เขต ในพื้นที่ "เมืองกรุง" ทั้งหมด
หากไม่เลือกที่แสดงความจริงให้กระจ่าง ย่อมกระทบถึงความศรัทธาของสมาชิก ปชป.ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนเสียงของชาว กทม. ที่ส่วนใหญ่ ต่างและล้วน ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพฯ เป็นการเลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นที่สำคัญ ซึ่งจะชี้ชะตาอนาคตของพรรค ปชป. ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนล่าสุด ก็เคยเป็นคนของ ปชป. โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ปชป. เลือก "ดร.เอ้" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักวิชาการหนุ่ม อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
“ผมเชื่อมั่นความเป็นหนึ่งเดียวของเราจะเรียกคืนความเป็นประชาธิปัตย์ใน กทม.กลับคืนมาได้ และเชื่อว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพรรคไม่มีวันเสื่อมคลาย เราต้องทำให้เขากลับมามีความศรัทธา และเชื่อมั่นพรรคเราอีกครั้งหนึ่ง นี่คือจุดเริ่มต้น ถ้าเริ่มต้นดีทุกอย่างเดินไปด้วยความราบรื่น ผมขอเทใจให้กับทุกคน นี่คือวันที่ผมรอคอยเมื่อกลับมาเป็นเลขาธิการพรรคครั้งที่สอง เพราะครั้งแรกส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ส่ง ดร.เอ้ ผมมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าประวัติศาสตร์ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่อยู่ที่ทุกคนทั้งหมดจะช่วยกันทำ ขอให้ทุกคนเริ่มต้นเดินไปข้างหน้า สู้และชนะ”
เป็นคำกล่าวปลุกใจสมาชิกพรรค ปชป. คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. ที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
สุดท้ายนี้ก็ต้องวัดใจ คนกรุงเทพฯ ว่าจะตัดสินใจ อย่างไรต่ออนาคตของพรรค ปชป. โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ สก.ทั้ง 50 เขต เพราะจะเป็นเครื่องวัดชี้ชะตาต่ออนาคตทางการเมือง ของสมาชิกลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผม ในวันข้างหน้าด้วยเช่นกัน !