ที่มาของเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ เกิดจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานให้ ครม.ทราบ
ดังนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนแล้วรายงานให้ ครม. รับทราบมาเป็นระยะในแต่ละรัฐบาล การสำรวจรอบไหนออกมาเป็นบวกกับรัฐบาลชุดที่ทำงานในขณะนั้น ทีมงานโฆษกรัฐบาลก็จะแถลงเป็นเรื่องเป็นราว แต่หากครั้งใดผลออกมาไม่ค่อยดีนัก หรือความนิยมลดลง รายงานรอบนั้นก็จะเงียบกริบ หายเข้ากลีบเมฆไปแบบไร้ร่องรอย ถ้าไม่มีใครไปสืบค้นออกมาเป็นข่าว
หลังจากที่ผู้เขียนได้ค้นหามติ ครม. ย้อนหลังดู พบข้อมูลที่น่าสนใจ จึงนำมาเล่าขานบอกต่อ เพื่อจะได้เปรียบเทียบให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยจะขอโฟกัสเฉพาะในช่วงของรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรก(บริหารได้ 4 เดือน) ช่วงกลาง(ครบรอบ 4 ปีสมัยแรก) และช่วงปัจจุบัน..
ช่วงแรกนั้น ถือเป็นช่วง “ฮันนีมูน” สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานครบ 4 เดือนในปี 2557 โดยสอบถามจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 3,900 ราย ระหว่างวันที่ 25-29 ธันวาคม 2557 พบว่า ในส่วนของความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของรัฐบาล มีประชาชนร้อยละ 59.9 พึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 36.3 มีความพึงพอใจในระดับปานกลาง
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 61.1 มีความเชื่อมั่นในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 34.8 มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง
ขณะที่ความพึงพอใจการบริหารงานโครงการเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล ที่ประชาชนพึงพอใจในระดับปานกลางถึงมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ การปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดร้อยละ 92.2 รองลงมาคือ การดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนร้อยละ 89.3 อันดับสาม การบริหารจัดการและกำหนดราคาเชื้อเพลิงร้อยละ 88.4 อันดับสี่ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตร้อยละ 87.5 และอันดับที่ห้า การสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้กับคนในชาติร้อยละ 87.3
นอกจากนี้ การสำรวจในรอบนั้น ยังได้สอบถามถึงเรื่องที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูปประเทศไทย โดยประชาชนต้องการให้ ปฏิรูปใน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่หนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจ ร้อยละ 83.9 อันดับที่ 2 เรื่องการเมือง ร้อยละ 70.4 อันดับที่สาม เรื่องการศึกษา ร้อยละ 53.6 อันดับที่ 4 เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 38.8 และอันดับที่ห้า เรื่องการปกครองท้องถิ่น ร้อยละ 33.9
ช่วงที่สอง คือช่วงที่รัฐบาล ”บิ๊กตู่” ทำงานครบรอบ 4 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 6,250 คน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม -10 พฤศจิกายน 2561
ผลการสำรวจในโอกาสรัฐบาลทำงานครบ 4 ปีนี้ ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 59.7 (ลดลงมา 0.02 จากการสำรวจรอบ 4 เดือน ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 59.9) ส่วนสัดส่วนผู้ที่พึงพอใจปานกลางอยู่ที่ร้อยละ 34.5 และน้อยร้อยละ 4.1 ขณะที่น้อยที่สุดร้อยละ 1 และไม่พึงพอใจเลยอยู่ที่ ร้อยละ 0.7
ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ประชาชนที่ระบุว่ามีความเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 55.9 (ลดลงไปร้อยละ 5.2 จากการสำรวจรอบ 4 เดือน โดยขณะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 61.1) มีความเชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 37.2 มีความเชื่อมั่นในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 6 และไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 0.9
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ประชาชนพึงพอใจมากถึงมากที่สุดในรอบ 4 ปี 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่หนึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 63.4 อันดับที่สอง มาตรการเพิ่มสวัสดิการเพื่อพี่น้องประชาชน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่(UCEP) ร้อยละ 51.8 อันดับที่ 4 การดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยนักบริบาลชุมชน ร้อยละ 46.5 และอันดับที่ 5 โครงการไทยนิยมยั่งยืน ร้อยละ 43.3
ลองมาดูผลการสำรวจ
ล่าสุด ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพิ่งรายงาน ครม.ไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ในโอกาสครบ 2 ปี 6 เดือน โดยได้สัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5-18 มกราคม 2565
สำหรับความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 33.9 (ลดลงร้อยละ 25.8 จากการสำรวจรอบ 4 ปีแรก ที่อยู่ที่ร้อยละ 59.7) พึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 40.9 พึงพอใจในระดับน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 18.9 และไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 6.3 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 57.9 และร้อยละ 54.5 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 26-35
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ พบว่า ประชาชนเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 30.4 (ลดลงร้อยละ 25.5 จากการสำรวจรอบ 4 ปีแรก ที่อยู่ที่ร้อยละ 55.9 ) เชื่อมั่นระดับปานกลางร้อยละ 39.7 เชื่อมั่นในระดับน้อย-น้อยที่สุด ร้อยละ 21.3 และไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 8.6 โดยภาคใต้และภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 52.8 และร้อยละ 52.2 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 21-31
ส่วนความพึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาลนั้น นโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่หนึ่งโครงการคนละครึ่งร้อยละ 66.9 อันดับที่สองโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 63.6 อันดับที่ 3 โครงการเราชนะ ร้อยละ 62.9 อันดับที่ 4 มาตรการเยียวยาแรงงานในระบบและนอกระบบร้อยละ 48.2 และอันดับที่ห้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรร้อยละ 32.4
ไล่เรียงมาถึงบรรทัดนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความนิยมในรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในปัจจุบัน ทั้งด้านความพึงพอใจในการทำงานและความเชื่อมั่นกำลังดิ่งหัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขนาดเป็นการสำรวจของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเองยังทรุดฮวบฮาบขนาดนี้
เมื่อผลสำรวจออกมาชัดเจนแบบนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้รับทราบแล้วใน ครม. ว่า คะแนนนิยมตก ถึงขั้นต้องไปเดินตลาดสะพานขาวคุยกับพ่อค้าแม่ค้าหลังประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อเรียกเรตติ้ง
ขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่งก็ออกมาตีปี๊บว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเกิดแลนด์สไลด์แน่นอน
ภาพอนาคตทางการเมืองของชายชาติทหารที่ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กำลังฉายออกมาเป็นฉากๆ แต่ละฉากเส้นทางล้วนไม่สดใส ยิ่งคะแนนนิยมอยู่ในช่วงขาลง การแข่งขันทางการเมืองยิ่งเข้มข้น หนทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยคงไม่ง่ายเหมือนสองสมัยแรกเสียแล้ว
โดย..นายตือฮวน