มโหฬีปี่กลองทางการเมืองที่กำลังรัวกลองกันอย่างอึ่งมี่ รับบรรยากาศเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และเมืองพัทยา ดินแดน “ไกลปืนเที่ยง” ที่กว่าจะเปิดให้ประชาชนคนกรุง และเมืองพัทยาได้เลือกตั้งพ่อเมืองเองได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็น สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการปฏิวัติรัฐประหารของ “นายพล” ที่ประกาศกร้าวก่อนหน้านี้ว่า
ประเทศต้อง “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” สุดท้ายแล้วมันคือ “มหกรรมปาหี่ทางการเมือง” โดยแท้!!!
ยิ่งได้เห็นระบบเลือกตั้งสุดพิสดารที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยุคนี้คิดอ่านกันออกมา ก่อนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกจะคิดอ่านได้แล้ว ก็ยิ่งเศร้าใจ
มันคือ “ความอัปยศ” ที่ผู้มีอำนาจกระทำย่ำยีต่อประเทศและทิ้งเอาไว้ไห้ลูกหลานดูต่างหน้า
ขณะหนทางในอันที่จะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้กลับมาสู่ครรลองในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ก็ยังถูกลากเข้ารกเข้าพง ยังคงมีความพยายามที่จะทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เพียงเพื่อสร้างความสับสนอลหม่านบ้านทรายทอง หวังแค่จะทำให้เกิดพรรคการเมือง (เหลือขอ) เพื่อจะได้มี ส.ส.หิวกล้วย ไว้สืบต่ออำนาจตนเอง
ไม่มียุคใดที่การเมืองไทยจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้อีกแล้วหรือ
ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ถอดแบบมาจากการเลือกตั้งใหญ่นั้น ก็แทบจะไม่ต่างกัน บัตรเลือกตั้งแต่ละเขต แต่ละพื้นที่กับบัตรเลือกตั้งตัวผู้ว่าต่างไปกันคนละทิศยิ่งกว่าเบี้ยหัวแตก..
บ้านข้างกันจะสอบถามปรึกษาหารือกันจะเลือกผู้ว่าคนไหน พรรคใดหรือเลือก ส.ก.พรรคไหน ไม่สามารถจะปรึกษาหารือกันได้เพราะต่างเขตต่างพรรคต่างเบอร์มั่วกันไปฝุด ๆ
ว่าที่ผู้ว่า กทม. ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือก ก็มีทั้ง นักการเมือง เทคโนแครต วิศวกรทางการเมือง หรือนักเลือกตั้งมืออาชีพ ขันอาสาเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ชาว กทม.กว่า 30 คนนั้น
แต่ละคนที่เสนอตัวเข้ามานั้นภูมิหลังเป็นอย่างไร พอจะเป็นที่พึ่งของประชาชนคน กทม.หรือไม่ เชื่อแน่ว่า ประชาชนคนกรุงเราคงไม่โง่หลับหูหลับตาเชียร์กันอีกแล้ว
ประเภทนักเลือกตั้งมืออาชีพ เป็นแค่พระอันดับ หรือ “ไม้ประดับ” ไว้ข้างฝานั้นอย่าไปให้ราคาเลย!
ส่วนบางคนที่นั่งบริหารมาตั้ง 5-6 ปี ไม่เคยสร้างมีผลงานให้ประจักษ์ยังมีหน้ามาขอโอกาสเข้ามาสานงานต่อ หรือไอ้ที่ชูสโลแกนกรุงเทพต้องดีกว่านี้ หรือกรุงเทพไปต่อทั้งที่ตนเองก็นั่งโม่แป้งบริหารมากับมือตั้ง 5-6 ปีแท้ ๆ
คนประเภทนี้ “แก่ง หินเพิง” อยากให้ประชาชนคนกรุงคิดให้ถ้วนถี่ก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม บรรดา “Motto” สโลแกนที่แต่ละคนชูกันออกมาจนละลานตา บ้างก็ว่ากรุงเทพต้องดีกว่านี้ เปลี่ยนกรุงเทพ กรุงเทพต้องปลอดภัย กรุงเทพต้องไปต่อ กรุงเทพจะต้องพลิกโฉมหน้ากันใหม่ และอีกสารพัดที่ชูกันออกมานั้น ฯลฯ
สำหรับ "แก่ง หินเพิง" แล้ว พูดก็พูดเถอะ ระบบรัฐราชการ หรือรัฐราชการที่ฝังรากลึกกลืนกินระบบบริหารราชการกรุงเทพมหานครแห่งนี้ไปจนหมดแล้ว ผู้ว่า กทม. หรือ "ใครหน้าไหน" ที่เข้ามาจะทำอะไรได้ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือ จะทำให้กรุงเทพฯ พลิกโฉมหน้าอะไรไปได้หรือ?
นโยบายจัดระเบียบความสะอาด จัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย คืนฟุตบาธให้คนกรุง อำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง หรือคืนความปลอดภัยของประชาชนคนกรุง ที่ใครต่อใครชูเป็นนโยบายหาเสียงหลักมานับทศวรรษ หรือหลายทศวรรษนั้น มีผู้ว่า กทม. คนไหนทำได้สำเร็จลุล่วงไปได้บ้าง ยกตัวอย่างมาสักคนเถอะ กี่ปีกี่ชาติก็ไม่เห็นจะคืบหน้าไปไหน
เพราะเอาเข้าจริงจนวันนี้ยังแยกกันไม่ออกเลยว่า การจัดบริการรถเมล์ รถสองแถว เรือด่วนเจ้าพระยา คลองแสนแสบ หรือรถไฟฟ้าทั้งหลายแหล่นั้น มันเป็นภารกิจของศาลาว่าการ กทม. หรือของรัฐบาลของกระทรวงคมนาคมกันแน่ ผู้ว่า กทม. สามารถไปดำเนินการให้สัมปทานเดินรถเมล์ รถรับจ้าง สองแถวตามตรอกซอกซอยได้หรือไม่ แม้แต่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามตรอกซอกซอยก็เถอะ!
ยิ่งกับเรื่องของหาบเร่ แผงลอย และระบบ “ส่วย” บนทางเดินฟุตบาธที่สำนักเทศกิจ กทม. และเขตต่างๆ ดูแลกันอยู่ด้วยแล้วนั้น จะกี่ปีกี่ชาติก็ยังคงแก้ไม่ตก กลายเป็นปัญหาหมักหมม ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบราชการของกรุงเทพมหานคร กี่ปีกี่ชาติก็ยังไม่สามารถจะจัดระเบียบให้มันเป็นรูปธรรมได้
เชื่อไม่เชื่อว่า แม้แต่ร้าน “ชายสี่หมี่เกี๊ยว” หน้าร้าน 7-11 ที่ตั้งอยู่ตามตรอกซอกซอย ตั้งอยู่ภายในที่เข่าของเอกชนแท้ๆ พ่อค้ายังต้องจ่ายค่าที่ให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจหรือจราจร รายละ 1,000-2,000 บาท
อดคิดไม่ได้เลยว่า แล้วบรรดาหาบเร่ แผงลอย รถเข็น หรือร้านรวงต่างๆ อีกนับหมื่น จะต้องจ่าย "ส่วย" ให้กับระบบราชการที่ดูแลที่ทางทำมาหากินในเขตกรุงเทพมหานครนี้กันเท่าไหร่ โดยมีอัตรามาตรฐาน 2,000-3,000-5,000 บาท แล้วแต่ทำเล ! แล้วแต่ช่วงเวลา...
ยิ่งในถนนหนทางที่ กทม. หรือหน่วยงานต่างๆ ตัดขยายขึ้นมาใหม่ ในระยะหลังนั้นจะทำฟุตบาธกว้างขวางสุดบิ๊กบึ้ม เหมาะแก่การตั้งร้านหมูกระทะ และหาบเร่ยามพลบค่ำเสียยิ่งกะไรด้วยแล้ว
สิ่งเหล่านี้ คือ ทำเลทองของระบบราชการไทยยิ่งกว่าอะไร และนัยว่า ในเขต กทม.นั้น มีบรรดารถเข็น หาบเร่ แผงลอย กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ 50 เขตนี้กว่า 25,000-30,000 ร้านค้าด้วยกัน
เม็ดเงินค่าอำนวยความสะดวกที่สะพัดอยู่ในระบบนี้เป็นค่าดูแล อำนวยความสะดวกที่พ่อค้าเต็มใจจ่ายให้ในแต่ละปีมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และเป็นเรื่องยากที่ผู้ว่า กทม. ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือหน้าไหนก็ยากจะเข้ามาล้วงตับสางปัญหาหมักหมมมที่ว่านี้ให้หมดไป
ไม่ต่างไปจากการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ นั่นแหล่ะ กี่ปีกี่ชาติก็ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกของสำนักงานสลากและรัฐบาลนั่นแหล่ะ ตราบใดที่สำนักงานสลากฯ และกองสลากฯ ยังไม่สามารถจัดกการกับปัญหาโลกแตกสลากราคาแพงได้
ส่วยหาบเร่ แผงลอย ก็จะเป็นของคู่กันที่ใครก็แตะต้องไม่ได้เช่นกันจริงไม่จริง !!!
แก่งหิน เพิง