วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ประเทศไทยจะได้เริ่มก้าวขึ้นขบวนรถไฟสายที่เรียกกันว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13" ไล่ไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2670 รวมระยะเวลา 5 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้ เป็นแผนลำดับที่ 2 รองจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนลำดับที่ 3 คือ แผนที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาฯ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
เมื่อนำแว่นขยายส่องลงไปดูรายละเอียดของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 นี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ คือ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” วางหลักการและแนวคิดไว้ 4 ประการ คือ.. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว”, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG)
ขณะที่หมุดหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมายเท่ากันพอดิบพอดี จำแนกออกเป็น 4 มิติ ได้แก่
1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก,ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง,ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน
2. ด้านมิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และ 4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
จะเห็นแล้วว่าภาพกว้างๆ โดยรวมของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง แทบทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ทั่วโลกพูดถึงกันมานาน จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็ตามบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของทรัพยากรที่ประเทศของตนมี
สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การทำให้แผนที่วางไว้อย่างสวยหรู เดินทางไปสู่เป้าหมายได้ตามที่วางไว้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ง่าย เพราะมีองค์ประกอบของเรื่องทรัพยากรมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไล่ไปตั้งแต่ผู้นำประเทศ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ไปจนถึงผู้คนทั่วไปว่าจะเข้าใจแผน และพยายามขับเคลื่อนประเทศให้ได้ตามแผนหรือไม่
ยิ่งสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ของโลกปัจจุบันมีความผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยากที่จะคาดเดาทิศทางหรือวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผนอาจจะต้องแขวนไว้บนหิ้ง และพึ่งพิงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องการความเฉลียวฉลาดและทักษะที่รอบด้านมาใช้
การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และก้าวทันโลกจึงมีความสำคัญต่อการนำพาประเทศไปสู่จุดหมายปลายทางแห่ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่วางเป้าบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
พอกดภาพขยายให้กว้างขึ้นเพื่อเข้าไปดูว่าส่วนไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน ก็พบว่า อยู่ในหมุดหมายที่ 12 คือ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงมุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
หมุดหมายนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ มีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันของโลก สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข
แค่เห็นเป้าหมายก็เหนื่อยใจและส่ายหัวเบาๆ ว่า.. ”จะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ด้วยวิธีการใด ระบบการศึกษาก็ยังล้าหลังไร้ทิศทาง ยิ่งเรื่องความสงบสุขในสังคม แค่โลกโซเชียลทุกวันนี้ก็ตบตีกันวุ่นวาย ไม่มีใครยอมรับฟังใคร ถ้าไม่ใช่คนที่คิดในแนวทางเดียวกัน แล้วจะดำรงชีวิตร่วมกันได้อย่างสงบสุขตามเป้าหมายได้อย่างไร นับวันยิ่งแตกแยกร้าวลึกขึ้นทุกขณะ และไม่มีใครที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขในจุดนี้แบบเป็นเรื่องเป็นราว”
พอเลื่อนสายตาลงไปที่หมุดหมายที่ 13 ก็ต้องถอนหายใจยาวๆ แบบสิ้นหวังอีกเช่นกัน หมุดหมายที่ 13 กำหนดไว้ว่า ประเทศไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน มีเป้าหมาย คือ การบริการภาครัฐ มีคุณภาพ เข้าถึงได้ สะดวก ประหยัด ตอบโจทย์ประชาชน และภาครัฐมีขีดสมรรถนะสูง คล่องตัว เปิดกว้าง ทันสมัย โปร่งใส
ผู้เขียนเข้าใจดีว่า นี่คือแผนที่จะปรับปรุงการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ประสบการณ์ที่เจอกันมา ทำให้รู้สึกว่า “แสงแห่งความหวังริบหรี่มาก”
ลองย้อนกลับไปแล้วจะพบว่า การขับเคลื่อนภาครัฐเพื่อให้มีบริการที่มีคุณภาพยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด ขุดแซะกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่อาจขุดไปถึงรากเหง้าแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ แค่จะปฏิรูประบบตำรวจยังต้องแขวนเอาไว้ก่อนเลย ชาตินี้ก็คงไม่ได้เห็นการบริการภาครัฐที่ตอบโจทย์ประชาชน
สุดท้ายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก็จะผ่านไปแบบไม่มีอะไรให้จดจำ เหมือนที่ผ่านๆ มา คนทำแผนก็ทำไปตามหน้าที่ ฝ่ายปฏิบัติก็ทำตามที่เคยทำๆ มาแบบเคยชิน เหมือนเส้นคู่ขนานของรางรถไฟที่ไม่เคยมาบรรจบกัน!
นายตือฮวน