สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สภาพัฒน์” เพิ่งปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2565 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 โดยประมาณการครั้งก่อนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 “สภาพัฒน์” คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5%
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงไปอีก 1% เหลือขยายตัว 2.5-3.5% ส่วนตัวเลขประมาณการที่ปรับขึ้นอย่างหนัก คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อ จากประมาณการรอบก่อนหน้านี้อยู่ที่ 1.5-2.5
รอบนี้ขยับขึ้นไปเกินเท่าตัวอยู่ที่ 4.2-5.2 ซึ่งก็คงต้องยอมรับสภาพ เพราะเป็นไปตามหน้าเสื่อ หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งพรวด ข้าวของขึ้นราคาตามกันไปหมด โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือน มิ.ย. ไปอยู่ที่ 112.21 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไม่น่าแปลกใจที่บรรดาร้านค้าต่างๆ บ่นอุบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ช่วงนี้เงียบจัง” นอกจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจแล้ว คงเป็นช่วงเปิดเทอม เงินทองต้องนำไปจ่ายเป็นค่าเทอม ค่าใช้จ่ายในการเรียนต่างๆ ไปถามบรรดาผู้ปกครองต่างแทบจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เรียนฟรี ไม่มีอยู่จริง” มีแต่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นทุกปี
บางรายแทบจะไม่เหลือสิ่งของมีค่าที่จะเอาเข้าโรงรับจำนำ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน กู้จนไม่มีใครจะให้กู้ หรือเจ้าหนี้ทวงจนต้องหนีหนี้ไปก็มาก หรือนำไปสู่ข่าวเศร้าสลดก็มีตัวอย่างให้เห็น
ยืนยันได้จากการแถลงภาวะสังคมไตรมาสแรกปี 2565 ของสภาพัฒน์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 โดยระบุว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ของจีดีพี และยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือน เนื่องจากรายได้แรงงานยังไม่ฟื้นตัว ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนจากการเผชิญกับเศรษฐกิจที่หดตัวมานาน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
แม้จะเป็นการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2565 แต่นั่นเป็นตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์ในปัจจุบันที่ตัวเลขจะตามมาทีหลังจากนี้ก็คงไม่สู้ดีนัก
“สภาพัฒน์” ได้อ้างอิง การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยระบุว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีสัดส่วนมากขึ้น คิดเป็น 51.5% เพิ่มขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 และรายได้ของครัวเรือนยังมีการขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของหนี้สิน ภาษาชาวบ้านก็คือ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
จำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท เพิ่มขึ้น 25.4% เมื่อเทียบกับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 บาท ในปี 2562 ส่วนรายได้ในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 5.1% แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว นี่คือตัวเลขเฉลี่ย ซึ่งบางคนอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวไปก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อย
และกลุ่มที่น่าเป็นห่วง ก็คือ จากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนอาจมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวย้ำว่า “กลุ่มนี้ต้องจับตามองเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ในระยะต่อไป”
“ตัวหนี้สินครัวเรือน มีปัญหาในแง่การชำระหนี้ ซึ่งเกิดจากภาวะวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นฐานะการเงินของครัวเรือนยังคงเปราะบางอยู่ และรายได้ยังไม่ฟื้นตัวเพราะจะเห็นได้ว่า มูลค่าการออมลดลง นั่นหมายความว่า มีการนำเงินออมมาใช้ในบางส่วนแล้ว” เลขาธิการสภาพัฒน์ชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจไทยหลังผจญโควิดมา 2 ปีกว่า
ภาพที่ฉายออกมาให้เห็นจากการแถลงภาวะสังคมของสภาพัฒน์ นั่นคือภาพรวม ถ้าเจาะลงไปในรายละเอียดในแต่ละราย โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยที่มีกำลังไม่มาก ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว จะมีสภาพย่ำแย่กันถึงขนาดไหน คงไม่ต้องพูดถึงเงินออม เพราะไม่เคยมี
ยิ่งช่วงเปิดเทอมแบบนี้ พ่อแม่บางรายรู้ดีว่า การไม่มีเงินไปจ่ายค่าเทอมให้ลูกมันเจ็บจี๊ดเข้าไปในหัวใจ พอหาเงินมาจ่ายค่าเทอมได้ ก็ต้องไปรับไปส่งเพราะเริ่มเรียนแบบออนไซต์กันแล้ว ค่าน้ำมันก็แพง จะใช้บริการรถตู้นักเรียนก็กลัวแออัดลูกติดโควิดต้องหยุดเรียนอีก แถมค่าบริการรถตู้ก็ปรับขึ้นอีก
ค่าชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ก็ยกขบวนปรับขึ้นกันยกแผง ลำพังแค่เงินที่รัฐสนับสนุนให้เพียงหยิบมือไม่เคยเพียงพอ ผู้ปกครองต้องควักจ่ายเพิ่มกันอีกบาน ไหนจะค่ากิจกรรมพิเศษต่างๆ ค่าสมาคมของโรงเรียน ค่าประกันอุบัติเหตุ และค่าอื่นๆอีกจิปาถะ
คงไม่ต้องแปลกใจถ้าตัวเลขจริงของหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 2 ปี 2565 จะพุ่งพรวด จับตาดูกันต่อไป
นายตือฮวน