บทสรุปหนังคนละม้วน!
กับผลสรุปของการรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด หรือ"โฟกัส กรุ๊ป ต่อกรณีการรวบธุรกิจระหว่าง TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC "ที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. จัดขึ้นในช่วงขวบเดือนที่ผ่านมา โดยเวทีแรกเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง และครั้งล่าสุดการเปิดเวทีรับฟังผลกระทบต่อผู้บริโภคและพลเมือง ซึ่งผลสรุปข้อมูลที่ได้นั้น กล่าวได้ว่า แตกต่างกันชนิด "หนังคนละม้วน"
โดยเวทีแรกนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะรายงานสรุปความคิดเห็นที่ได้ที่ต่างเห็นพ้องไปกับข้อเสนอควบรวมกิจการนั้น ออกจะสวนความรู้สึกของสื่อที่นั่งรับฟังอยู่ในห้องชนิดที่ทำเอาตาค้าง แถมตัวแทนสมาคมต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นนั้น ก็ถือโพยกันมากางอ่านกันราวกับถอดพิมพ์เขียวมาจากพิมพ์เดียวกัน
ขณะที่ผู้บริหารสองบริษัทที่ต้องลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลในการควบรวมกิจการครั้งปรนะวัติศาสตร์นั้น กลับเงียบกริบ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ จนถูกตราหน้าว่าเป็นปาหี่โฟกัสกรุ๊ปที่ล้วนแต่ส่ง “ลูกตู้-นอมินี” ที่ถูกจัดฉากกันข้นมาแสดงความเห็น
แรงกระเพื่อมที่ได้จากเวทีโฟกัส กรุ๊ป ครั้งนั้น ถึงกับทำให้คณะกรรมการ กสทช. ต้องเรียกประชุมเพื่อกำหนดท่าทีและกรอบการทำงานใหม่ เพื่อให้การรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้งในเหลือต้องมาจาก Voice ของผู้คนในอุตสาหกรรมจริงๆ ไม่มี "ดราม่า” ไม่มีการจัดฉาก หรือปาหี่จัดฉากส่งนอมินีเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันอีก
ส่วนเวทีโฟกัสกรุ๊ปครั้งที่ 2 ที่เป็นเวทีของนักวิชาการจากหลายภาคส่วนนั้น ไม่รู้ไปตกหลุมอากาศที่ไหนจึงถูกเลื่อนกำหนดออกไป จากเดิมที่ต้องจัดก่อนเวทีโฟกัสกรุ๊ป รอบที่ 3 เสียงสะท้อนของผู้บริโภคและพลเมืองที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำเอาหลายฝ่ายต่างพากันกังขามีอะไรในกอไผ่ หรือวาระซ่อนเร้นอะไรกันหรือ เวทีโฟกัสกรุ๊ปของนักวิชากการถึงได้เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปดื้อๆ
ส่วนเวทีโฟสกัสกรุ๊ปของกลุ่มผู้บริโภคและพลเมืองนั้น แน่นอนว่า เต็มไปด้วยความเผ็ดร้อน เสียงสะท้อนของเครือข่ายในภาคประชาชนที่มีต่อดีลควบรวมกิจการนั้น คงยากที่ “นอมินี” หรือลูกตู้-หน้าม้าที่ไหน จะสอดแทรกเข้ามาร่วมแสดงความเห็นได้ บทสรุปความคิดเห็นที่ออกมาจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ คัดค้านการอนุมัติควบรวมกิจการทรูและดีแทคอย่างหัวชนฝา
ถึงขั้นที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ ซึ่งน่าจะมาผิดเวทีหรือไม่ ออกมากระทุ้งให้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในการปกปักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่ หาไม่แล้วก็ให้ระวังจะเรียกแขกให้งานเข้าเสียเอง เพราะหากอนุมัติดีลควบรวมกิจการออกไป จนยังผลให้ผู้ให้บริการลดลง ลดการแข่งขัน และทำให้เกิดผู้มีอำนาจเหนือตลาดขึ้นมา กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลคงหลีกหนีภาระความรับผิดชอบไปไม่พ้นแน่
เช่นเดียวกับ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สอบ. ได้จัดเสวนาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่ทรูประกาศการควบรวมกิจการกับดีแทค โดยผลสรุปที่ได้นั้น ที่ประชุมมีมติชัดเจนไม่เห็นด้วยกับการควบในครั้งนี้ ด้วยเหตุผล 3-4 ประการ คือ 1. การควบรวมขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ , พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (พ.ร.บ.กสทช.) กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้ กสท. กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดและกระทบการแข่งขัน รวมทั้งยังขัดประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด รวมทั้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 มาตรา 4 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะเลือกหาสินค้าหรือบริการ รวมทั้ง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปี 2560 เพราะทำให้บริษัทที่ควบรวมฯมีอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน
“พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้รับรองสิทธิที่สำคัญของผู้บริโภคเอาไว้ คือการมีอิสระที่จะเลือกใช้สินค้าหรือบริการ ดังนั้น การควบรวมกิจการจาก 3 เจ้า เหลือ 2 เจ้า จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและขัดต่อกฎหมายแน่นอน อีกทั้งยังทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค จะเดินหน้าและติดตามจัดทำข้อเสนอต่างๆ ออกมา เพื่อส่งให้ กสทช. อย่างเป็นการต่อไป” สารี กล่าว
ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และที่ปรึกษา กสทช. เป็นประธานที่ประชุมในครั้งนี้ได้ออกมาติงฝ่ายบริหารทรู-และดีแทค ที่ไม่ยอมส่งผู้บริหารเข้ามาชี้แจงให้ข้อมูลต่อที่ประชุม มีเพียงเอกสารรายงานของบริษัทที่ปรึกษาที่ทั้งสองบริษัทได้ว่าจ้างให้เข้ามาศึกษาผลกระทบ ข้อดี-ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น ประกอบการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้
แต่กระนั้น “หมอลี่” ก็ได้ตั้งข้อสังเกต หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค จะส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ซัพพลายเออร์ และเอกชนที่ทำธุรกิจกับค่ายมือถือทั้ง 2 ค่าย เช่น SMS content หรือ content partners ต่างๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการหรือประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะมีรายงานผลการศึกษาว่า ค่าบริการอาจแพงขึ้น 20% จากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการผูกขาด เพราะจะมีผู้ให้บริการเหลือ 2 รายหลังจากมีการควบรวมธุรกิจ
นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค จะพิจารณาเฉพาะประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาไปถึงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ด้วย และเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาต-ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจในครั้งนี้
“ประกาศฯควบรวมธุรกิจปี 2561 เสมือนหนึ่งเขียนว่า เป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะรายงานให้ กสทช.รับทราบเท่านั้น กสทช. ไม่ต้องลุกขึ้นมาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่ถ้าเห็นว่ามีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะถึงจะกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เล่าสู่สาธารณะมาโดยตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า กสทช. ไม่มีอำนาจเลย แต่จริงๆแล้ว ในประกาศฯฉบับนั้น มีประกาศฯที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ เพราะข้อ 9 ของประกาศฯรวมธุรกิจปี 2561 เขียนว่า การรายงานตามประกาศฯนี้ ให้ถือเป็นคำขออนุญาตตามประกาศฯปี 2549 ขณะที่ประกาศฯปี 2549 เป็นประกาศฯที่ให้ กสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ตรงนี้จึงไม่ได้ตัดอำนาจ กสทช.โดยเด็ดขาด ส่วน กสทช. จะตีความข้อ 9 อย่างไรก็เป็นดุลพินิจของ กสทช.ชุดปัจจุบัน”
เสียงสะท้อนจาก 2 เวทีโฟกัสกรุ๊ป ที่ออกมาต่างกันสุดขั้วเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า คงทำให้ กสทช. ที่รับไม้ต่อมาจาก กสทช. ชุดรักษาการก่อนหน้านี้ คงมึนไปแปดตลบ จะ ”ผ่าทางตัน” ดีลควบรวมกิจการที่กำลังเป็นเผือกร้อนนี้อย่างไร จะเลือกยืนอยู่จุดไหน เพราะเหตุผลในการควบรวมกิจการที่เป็นเรื่องของธุรกิจกับผลกระทบจากการควบรวม ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการไม่มากก็น้อยนั้น ไม่ว่า กสทช. จะตัดสินใจอย่างไร ไพ่ที่จะออกมาไม่มีทางออกตรงกลางสร้างสมดุลได้แน่
และอย่าลืมว่า หากเริ่มต้นการขับเคลื่อนองค์กรกำกับดูแลแล้ว ต้องเริ่มต้นด้วยการระอุศึกกับเครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายองค์กรเพื่อบริโภคแล้ว ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า หนทางการทำงานข้างวหน้าของ กสทช. นั้น คงเต็มไปด้วยความระทึก มีสิทธิ์เรียกแขกให้งานเข้าเป็นรายวัน
เพราะผลประโยชน์ผู้ใช้บรนิหารและผลประโยชน์สาธารณะนั้น หากแม้เครือข่ายผู้บริโภคเองยังรับมาทได้ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะรับได้อย่างไร?
แก่งหิน เพิง