ศึกการเลือกตั้งซ่อม "เมืองรถม้า" ลำปาง ส่งผลสะเทือนถึงการเมืองภาคใหญ่ ทำให้ "ร.อ.ธรรมนัส" ต้องนำทีม ส.ส.เศรษฐกิจไทย ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผลไม่อาจอยู่ตรงกลางระหว่าง "เขาควาย" จับตาศึกอภิปราย "ทิ้งทวน" เมื่อตัวเลขคณิตศาสตร์การเมืองเปลี่ยนไป อะไรจะเกิดขึ้น!
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ให้เหตุผลกับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ถึงการ "ถอนตัว" จากรัฐบาลว่า "เพราะความไม่ชัดเจนในบทบาททางการเมือง" เปรียบเหมือนอยู่ตรงกลาง "เขาควาย" ไม่รู้ว่าเป็น รัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพ่ายศึกเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ลำปาง
ทั้งที่ "เมืองรถม้า" ลำปาง แท้จริงแล้ว แม้จะเป็น ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ ร.อ.ธรรมนัส ก็เคยทำศึกชนะมาแล้ว !
การถอนตัวเพียงไม่กี่วันก่อน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 19-22 ก.ค.65 ทำให้ต้องตรวจสอบ "คณิตศาสตร์" ทางการเมือง อีกครั้ง พรรคเศรษฐกิจไทยมี ส.ส.ทั้งสิ้น 18 คน ปัจจุบันในสภาฯ มี ส.ส.รวมทั้งสิ้น 477 คน เป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 269 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 208
เมื่อ 18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยถอนตัวออกไป จะทำให้รัฐบาลมี ส.ส.เหลือ 251 คน ส่วนฝ่ายค้านจะเพิ่มเป็น 226 ที่นั่ง จำนวน ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกัน 25 คน ขณะที่คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ คือ 239 เสียง ซึ่งยังคงอยู่ในข่ายที่รัฐบาลจะสามารถบริหารเสถียรภาพให้มั่นคงได้ไปจนครบวาระ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้น
“วิชิต ปลั่งศรีสกุล” รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ให้ความเห็น โยงไปถึงการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดลำปาง ซึ่งพรรคเศรษฐกิจไทยแพ้ย่อยยับว่า "...ได้มีการวิเคราะห์สาเหตุที่แพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า เป็นเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคเศรษฐกิจไทยสนับสนุนรัฐบาล..." ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้บอกกับ "บิ๊กป้อม" ไว้
ทว่า หากพรรคการเมืองอื่นใช้ตรรกะเดียวกันนี้ การเมืองจะเข้าสู่ภาวะโกลาหลแน่นอน
อย่าลืมว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคล้วนมีพื้นที่ฐานเสียงของตนเอง เช่น พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมในอีสาน ส่วนประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมที่ภาคใต้
แล้วพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหนในแผนที่ประเทศไทย ดังนั้น ไปเช็ครายชื่อตรวจสอบพื้นที่ของ ส.ส.เศรษฐกิจไทย เป็นรายตัว พบว่า
1. นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 2. นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 3. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 4. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 5. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6. นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 7. นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 8. นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 9. นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี
10. นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 11. พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12. น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 13. นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา 14. นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 15. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 16. นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17. นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น และ 18. นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
สรุปในภาพรวมพื้นที่เลือกตั้งของ พรรคเศรษฐกิจไทยคือ โซน ภาคเหนือ และเหนือตอนล่าง กลางตอนบน เป็นหลัก
ฉะนั้น การที่พรรคเศรษฐกิจไทยแพ้เลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง ไม่ต่างจากแพ้ในบ้าน ความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน จึงมีนัยสำคัญทางการเมืองเป็นอย่างมาก แต่เป็นเหตุสามารถนำไปอ้างเพื่อถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลได้หรือเปล่า?
ต้องเข้าใจที่มาของการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 ลำปาง กันเสียก่อน เดิมทีพื้นที่นี้เป็นของพรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ เป็น ส.ส.ลำปาง มายาวนานถึง 5 สมัย แต่นายอิทธิรัตน์ มาเสียชีวิต เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมกันใหม่ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563
ผลเลือกตั้งในวันนั้น นายวัฒนา สิทธิวัง จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะการเลือกตั้ง ได้ 61,914 คะแนน (ครั้งนั้น ร.อ.ธรรมนัส ยังอยู่กับ พปชร. และทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการทำศึกเลือกตั้ง)
ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย ได้ 38,336 คะแนน น.ส.ปทิตตา ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2,465 คะแนน นายอำพล คำศรีวรรณ พรรคท้องถิ่นไท 292 คะแนน นายองอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ พรรคไทรักธรรม ได้ 227 คะแนน
พรรคพลังประชารัฐ โดย "ธรรมนัส" เป็นกุนซือใหญ่ชนะการเลือกตั้ง !
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้มีการเลือกตั้ง ส.ส เขต 4 จังหวัดลำปางใหม่ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ เนื่องจากนายวัฒนาได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม มีการซื้อสิทธิขายเสียง นำมาสู่การเลือกตั้งซ่อมอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผลคือ นายเดชทวี ศรีวิชัย พรรคเสรีรวมไทย ได้ 55,638 คะแนน ขณะที่นายวัฒนา สิทธิวัง จากพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ 30,451 คะแนน
มาถึงบรรทัดนี้พอที่จะสรุปได้ว่า "ร.อ.ธรรมนัส" แพ้เพราะอะไร ไม่แปลกที่พรรคเสรีรวมไทยชนะการเลือกตั้งในเขตนี้ เพราะฐานเดิมแข็งแกร่งอยู่แล้ว ขณะที่ "วัฒนา สิทธิวัง" เปลี่ยนพรรคเสียงหายไปครึ่งหนึ่ง เป็นเพราะความนิยมในรัฐบาลตกต่ำลงจริงหรือไม่ ?
"ร.อ.ธรรมนัส" ให้เหตุผลการถอนตัวว่า ซึ่งถือว่า เป็น "วาทะทองคำ" ซึ่งจำเป็นต้องย้อนบันทึกให้ทุกฝ่าย ได้เห็นกันชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
“...ผมเรียน พล.อ.ประวิตร ชัดเจนแล้วว่า ขออนุญาตประกาศจุดยืนของพรรคอย่างชัดเจน ซึ่งได้ชี้แจงแล้ว ผมเล่าให้ฟังว่าผลการเลือกตั้งซ่อมลำปาง ว่าเกิดอะไรขึ้น เราเหมือนพรรคอยู่ตรงกันของเขาควายสองข้าง มันไม่ชัดเจน ....ฝ่ายรัฐบาลเขาไม่ได้สนับสนุนเรา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากฝ่ายรัฐบาล อีกทั้งยังถูกกระทำหลายเรื่อง ผมไม่อยากพูดตรงนี้ อีกข้างของเขาควายเขาก็ไม่ได้สนับสนุนเรา ดังนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมานั่งตรงกลางของเขาควาย ผมก็ได้เรียนพล.อ.ประวิตร ซึ่งพล.อ.ประวิตร มีความเข้าใจ...”
และเพราะความไม่ชัดเจนนี่เอง " พรรคเศรษฐกิจไทย” ถึงได้แพ้เลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง !
ที่สำคัญ การถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านของพรรคเศษฐกิจไทย จะทำให้การซักฟอกรัฐบาลมีบรรยากาศที่คึกคักขึ้น
นอกจากนี้ การลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง ทำให้ "ร.อ.ธรรมนัส" นำข้อมูลมาตีแผ่ว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ ไม่เอารัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ว่ากันว่า อันที่จริง หาก ร.อ.ธรรมนัส จะเอาชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ก็คงไม่เกินความสามารถ แต่จะคุ้มค่าหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากอายุของสภา เหลืออีกไม่กี่เดือน และเสียงส.ส. แค่ 1 เสียงก็ไม่มีประโยชน์ ที่จะชี้ชะตาความเป็นตายของรัฐบาลชุดนี้
และที่พิสูจน์ได้อีกอย่าง หลังจากพลังประชารัฐ ไร้เงา ร.อ. ธรรมนัส ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งระดับใดก็ตาม พลังประชารัฐ ไม่เคยเอาชนะการเลือกตั้งได้แม้แต่ครั้งเดียว !
ด้วยเหตุนี้ การประกาศถอนตัวของ “ร.อ. ธรรมนัส” จึงสะเทือน “พี่น้องสาม ป.” เป็นอย่างมาก ลำพัง พล.อ.ประวิตร ไม่เท่าไหร่ เพราะรู้แก่ใจกันดีว่า อย่างไรเสียกับ ร.อ. ธรรมนัส ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด และย่อมรู้ดีว่า ร.อ. ธรรมนัส ก็ยังเป็นหมากตัวสำคัญ เพราะไม่ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะไปอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประวิตร ทั้งขึ้นทั้งล่อง ในฐานะคนสนิท มือทำงาน และลูกน้องคู่กาย
แต่กับ "พล.อ.ประยุทธ์ " และ "พล.อ. อนุพงษ์" ย่อมต้องหนาวๆ ร้อนๆ อย่างแน่นอน !
ล่าสุด มีการปล่อยข่าวว่า พล.อ.ประวิตร กำลังจะตั้งพรรคการเมืองสำรองขึ้นมาใหม่ชื่อ "ร่วมไทยรักชาติ" ให้สอดคล้องกับ พรรค "รวมไทยสร้างชาติ" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ ให้ตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นพรรคอะหลั่ย ชู นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และรวบรวมเอาบรรดา กปปส. ของกำนันสุเทพ มารวมตัวในพรรค ทั้ง เอกณัฐ พร้อมพันธุ์ , สกลธี ภัททิยะกุล มากันหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินเสียงการอภิปรายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ รัฐบาลเหลือ 251 เสียง บวกกับพรรคเล็กอีกประมาณ 20 เสียง ยังมีงูเห่าที่สำรองเอาไว้อีก ในขณะที่ฝ่ายค้านรวมกับเศรษฐกิจไทยก็น่าจะมีเสียงอย่างมากก็ ไม่เกิน 230 เสียงเท่านั้น
ที่สำคัญมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะร่วมทำศึกอภิปรายไม่ไว้างใจกับฝ่ายค้านครั้งนี้ด้วยตัวเอง โดยอยู่ระหว่างขอเวลาและคิวจากวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า คอการเมืองไทย คงรอคอยเวลานั้นอยู่ ว่า "ผู้กองมนัส" ในอดีต จะเอาคืน "บิ๊กตู่" อย่างไร??
โดยเฉพาะ ในฐานะอดีต รมช.เกษตรฯ ที่เคยอยู่ใน ครม.เดียวกันมาก่อน ย่อมต้องรู้ ตื้น ลึก หนา บาง กับรัฐบาลชุดนี้ดีพอควร
และที่ไม่อาจมองข้าม คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของ อนุทิน ชาญวีรกูล เด็ดขาด ท่าทีที่ฮึกเหิมของ มีมากกว่า ทุกพรรคการเมืองในเวลานี้ ด้วยอาศัยเครือข่าย วปอ. 61 คอนเน็กชั่น เชื่อว่า "อนุทิน" ย่อมไม่ธรรมดา เพราะถ้าภูมิใจไทยคิดจะถอนยวง รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องถึงกาลอวสานทันที
สุภาษิตจีนว่า..เอาไว้ มีดสั้นย่อมน่ากลัว กว่าดาบยาว !!