ตรวจสอบควันหลัง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” พรรคร่วมฝ่ายค้าน ผนึกกำลัง งัดข้อมูลทีเด็ด ทิ้งทวนถล่ม นายกฯ กับ 10 รัฐมนตรี ท่ามกลางปรากฏการณ์ “งูเห่า กินกล้วย” พร้อมเปิดบันทึกการลงมติอย่างละเอียดถี่ยิบ กับ แรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงกว่าทุกครั้ง!
รูดม่านปิดฉากไปแล้ว สำหรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลในยุทธการ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน" ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตบเท้า พาเหรด ถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ 10 รัฐมนตรี อย่างดุเดือด ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา 19-22 ก.ค.65 ก่อนลงมติวันรุ่งขึ้น 23 ก.ค.65
ซึ่งผลปรากฏว่า เป็นไปตามคาดหมาย ไม่มีพลิกล็อค "บิ๊กตู่" รวมทั้ง "พี่น้อง 3ป." และ รมต.ที่เหลือ ได้รับเสียงไว้วางใจท่วมท้น ผ่านฉลุย ได้ไปต่อทุกคน !
แต่ผลกระทบที่ตามมา ปรากฏแรงสั่นสะเทือน พุ่งเข้าใส่รัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ธรรมดา ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ "งูเห่า" กระจายทุกภาคส่วน ในส่วนของรัฐบาลเอง หลายหน่วยงานถูกตั้งกรรมการสอบ รัฐมนตรีหลายคนเตรียมไปแก้ข้อกล่าวหาทุจริต กับ ป.ป.ช. และรัฐมนตรีบางคนถูกเพ่งเล็งถึงขั้นอาจถูกปลดจากเก้าอี้
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีลูกพรรค 4 คน แหกมติโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ "อันวาร์ สาและ" โหวตไม่ไว้วางใจ หน.พรรคตัวเอง ทำให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ได้คะแนนเสียงน้อยที่สุด รวมไปถึง ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่มี ส.ส.บางส่วน ไม่ลงคะแนนให้ รมต.ของพรรคประชาธิปัตย์
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในเวลาอีก 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ ประชาธิปัตย์ กับ ชาติไทยพัฒนา จะทำงานร่วม ครม.เดียวกันได้อีกหรือ ???
ทำนองเดียวกัน กลับไปดูผลกระทบของฝั่งรัฐบาล ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ทั้ง 6 เสียงของพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ผนึกกำลังโหวต ไม่ไว้วางใจ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
“ไพศาล พืชมงคล” นักวิเคราะห์การเมือง ที่มักออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวลือเกี่ยวกับการ “รับเงิน” มีเนื้อหาดังนี้...
บานเป็นกระด้ง! ควันหลง 5 ข้อ สะพัด “กล้วย” เกลื่อนวงการเมือง ที่ใดไม่มีบัณฑิต ที่นั่นไม่มีสภา มีแต่ซ่องโจร!!!!
การเมืองแบบกาลีบ้านกาลีเมือง บานแล้ว กรณีข่าวคราว การกินกล้วย การขายตัวของนักการเมือง และการครอบงำทางการเมืองกำลังบานเป็นกระด้ง
1. กกต. กำลังตรวจสอบเพราะเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมืองตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ผู้ทำผิดมีทั้งผู้ซื้อ ผู้จ่าย ผู้รับ และผู้สั่งการครอบงำ
2. กำลังมีผู้ร้องเรียนต่อ ปปช. เพราะเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามกฎหมายฐานทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกรัฐสภา กระแสสังคมกำลังกดดันให้ ปปช. ต้องรีบเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพราะผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดมีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงทั้งในรัฐบาลและในรัฐสภาและในพรรคการเมืองต่างๆ
3. หลักฐานถูกเผยแพร่ว่อนทั้งสภาแล้วว่า การขายตัวของนักการเมืองแต่ละคนมีเงินได้ถึง 40 ล้านบาท มีจำนวนหลายคน เป็นเงินได้ที่ไม่เคยเสียภาษีจะต้องเสียเงินเพิ่มเบี้ยปรับ 2 เท่าตัว ซึ่งสรรพากรจะต้องรีบตรวจสอบโดยเร็วที่สุด สำหรับคนจ่ายเอาเงินที่โกงจากที่ไหนมาจ่ายจะบานเป็นกระด้งอีกทางหนึ่ง
4. คณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ หรือจะนั่งท่อง "กูเป็นคนดี" อยู่ต่อไปโดยไม่ทำอะไรเลย
5. ประชาชนทั่วประเทศ กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการกระทำที่เน่าเฟะ ทรยศต่อประชาชนและทำให้ประเทศไทยเสื่อมโทรมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ก่อนจะตบท้าย ดังๆ ว่า ...เลือกตั้งครั้งหน้าขอให้ช่วยกันลงประชาทัณฑ์นักการเมืองทรยศชาติ โกงชาติ โกงประชาชนกันให้แลนด์สไลด์ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ รายการ "Nation Insight" ได้วิเคราะห์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุทธการ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน" จบลง ว่ากันว่า บรรดารัฐมนตรี และ ส.ส. ได้มองข้ามช็อต กันไปแล้ว เพราะมีกลิ่นออกมาปรับทัพ ครม. อย่างแน่นอน พร้อมจับยามสามตาว่า จะมีสูตรการปรับ ครม. อย่างน้อย 5 สูตร
สูตรแรก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โยก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สูตรสอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรองนายกรัฐมนตรี โยก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
สูตรที่สาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สูตรที่สี่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ หลุดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (โดยหาคนนอกมานั่งตำแหน่งแทน) ไปนั่งรองนายกรัฐมนตรี
สูตรที่ห้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ควบรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นั่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่ม นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ส่วนคนที่รอเสียบรัฐมนตรี มีดังนี้ สาย กทม. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ สายภาคใต้ คือ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ หรือ นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง พลังประชารัฐ ตัวแทนพรรคเล็ก นายชื่นชอบ คงอุดม
ต้องจับตาดูว่า 5 สูตร ปรับ ครม. ครั้งใหม่ ที่ “Nation Insight ” ได้วิเคราะห์ข้อมูลนั้น เป็นแค่โยนหินถามทาง หรือ เรื่องจริง อีกไม่นานรู้ผล.
สรุปสุดท้าย จำเป็นต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง สำหรับการลงมติของ 11 รัฐมนตรี ในยุทธการ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน" ดังต่อนี้
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ได้คะแนนไว้วางใจ 256-206 งดออกเสียง 9 ได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคนที่ลงคะแนนในการไว้วางใจ มีเพียง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 2 คน คือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านทุกพรรคก็ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ครบถ้วน
ยกเว้น ส.ส.กลุ่มงูเห่าหน้าเดิมของพรรคเพื่อไทย (พท.) 7 คน ที่ลงมติงดออกเสียง ส.ส.งูเห่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 4 คน พรรคประชาชาติ 1 คน ที่ลงมติไว้วางใจให้ ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 16 คน เสียงแตก มี ส.ส. 11 คน นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ศท. ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ แต่มีสมาชิกพรรค 4 คน คือ นายณัฏฐพล จรัสพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ , นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราธานี , นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก และ พล.ต.อ. เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์
2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ได้คะแนนไว้วางใจ 241-207 งดออกเสียง 23 นั้น ที่ได้คะแนนไว้วางใจต่ำสุดในบรรดารัฐมนตรี 11 คน เนื่องจากได้คะแนนเสียงไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ครบ เพราะมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน คือ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 3 เสียง คือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม , นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด ลงมติงดออกเสียง
รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ก็ไม่เทคะแนนสนับสนุนให้ทุกคน อาทิ นายดำรง พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย , นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ลงมติงดออกเสียง , นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ลงมติไม่ไว้วางใจ
ส่วนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีปัญหาไม่ลงรอยกับนายจุรินทร์มาตลอด ก็ลงมติไม่ไว้วางใจ ขณะที่นายจุรินทร์ก็ลงมติงดออกเสียงให้ตัวเอง ส่วนพรรค ศท. มี 3 เสียง ลงมติงดออกเสียงให้นายจุรินทร์ คือ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ , นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราธานี และ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ส่วนร.อ.ธรรมนัส และส.ส.ลูกพรรคคนอื่นๆ ลงมติไม่ไว้วางใจ
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ได้คะแนนไว้วางใจ 264-205 งดออกเสียง 3 นั้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต่างเทเสียงสนับสนุนอย่างครบถ้วน ไม่มีแตกแถว และยังได้คะแนนจากส.ส.กลุ่มงูเห่าพรรคเพื่อไทย อีก 7 เสียง ที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในสมัยหน้า มาร่วมลงไว้วางใจให้ รวมถึงส.ส.งูเห่าพรรค ก.ก. 5 เสียง นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ตลอดจน ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคน และ ส.ส.พรรค ศท. 3 คน ที่จะย้ายไปอยู่พรรค ภท. ก็โหวตสนับสนุนให้ ส่วนนายอนุทินลงมติงดออกเสียงให้ตัวเอง
4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ได้คะแนนไว้วางใจ 268-193 เสียง งดออกเสียง 11 โดยได้คะแนนไว้วางใจสูงสุด และคะแนนไม่ไว้วางใจต่ำสุดนั้น ก็ได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคลงคะแนนให้ไม่แตกแถว และยังมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกเสียง และพรรค ศท. 15 เสียงของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ที่ลงคะแนนสนับสนุนให้ครบทุกคน ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส ประกาศไว้ก่อนหน้านี้จะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เพียงคนเดียว ส่วนคะแนนงดออกเสียงของ พล.อ.ประวิตร ส่วนใหญ่มาจาก 7 ส.ส.งูเห่าพรรค พท. ที่จะย้ายไปพรรค ภท. นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ
5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้คะแนนไว้วางใจ 245- 212 เสียง งดออกเสียง 13 โดยมีคะแนนไม่วางใจสูงสุด 212เสียง จากบรรดารัฐมนตรี 11คนนั้น พบว่า นอกจากคะแนนไม่ไว้วางใจจากพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคแล้ว
เป็นที่น่าประหลาดใจว่า มีเสียงจากทีม “อัศวเหม” ที่เป็น ส.ส.สมุทรปราการ 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน พรรคพลังประชารัฐ ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ ด้วยคือ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ น.ส.ภริม พูลเจริญ นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการของบประมาณในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับการสนองตอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ และเป็นกลุ่มที่เคยเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร มาเป็น รมว.มหาดไทย แทน พล.อ.อนุพงษ์ ในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ
รวมถึง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 13 เสียง ก็ลงมติคว่ำ พล.อ.อนุพงษ์ ด้วย ยกเว้นนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราธานี ที่ลงมติงดออกเสียง
6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ได้คะแนนไว้วางใจ 262-205 เสียง งดออกเสียง 5 พบว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตไว้วางใจให้ครบถ้วน ยกเว้น น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติงดออกเสียง อย่างไรก็ตาม มีเสียงจากพรรคเศรษฐกิจไทย 3 เสียง ที่จะไปอยู่พรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งสมัยหน้า มาโหวตไว้วางใจช่วยนายศักดิ์สยาม ได้แก่ นายณัฏฐพล จรัสพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราธานี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก รวมถึงบรรดา ส.ส.งูเห่าจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ ที่ลงมติไว้วางใจช่วยอีกทาง
7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ได้คะแนนไว้วางใจ 249-205 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง โดยรับเสียงไว้วางใจจากพรรครัฐบาลทุกพรรค รวมถึง น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ภริยานายชัยวุฒิก็ช่วยโหวตลงมติไว้วางใจด้วย ส่วนคะแนนงดออกเสียง 18 เสียง ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มงูเห่าหน้าเดิมจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน รวมถึงนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ ลงมติงดออกเสียงเช่นกัน
8. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง
ได้คะแนนไว้วางใจ 249 -204 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ได้รับเสียงโหวตไว้วางใจส่วนใหญ่จากพรรคฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคน ก็ช่วยลงมติไว้วางใจนายสันติตามคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้ช่วยลงมติสนับสนุนนายสันติ หลังจากก่อนหน้านี้ นายสันติถูกขึ้นบัญชีดำจาก ส.ส.กลุ่ม 16 จะโหวตไม่ไว้วางใจ ส่วนคะแนนงดอกเสียง 18 เสียง มาจากนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
เช่นเดียวกับบรรดากลุ่มงูเห่าของพรรคฝ่ายค้าน มีเพียงนายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เป็นงูเห่า แต่โหวตไว้วางใจนายสันติ และเป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่กดคะแนนลงมติรัฐมนตรีเกือบทุกคน แต่ไม่ปรากฏลงคะแนนใดๆ ให้นายสันติ
9. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ได้คะแนนไว้วางใจ 244 – 209 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง ที่ก่อนหน้านี้เป็นข่าวจะถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ผลการลงมติปรากฏว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ทุกคนลงมติไว้วางใจให้นายจุติทั้งหมด ยกเว้นนายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงคนเดียวที่ลงมติงดออกเสียง ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกคนก็ลงมติในทิศทางเดียวกันไว้วางใจนายจุติ ยกเว้น น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่งดออกเสียง
ขณะที่ ส.ส.กลุ่ม 16 ลงมติเสียงแตก โดยมี 3 คน คือ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายพีระวิทย์ เรืองลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม นายคฑาเทพ เตชะเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย ลงมติไม่ไว้วางใจ แต่คนที่เหลือลงมติไว้วางใจ
10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้คะแนน ไว้วางใจ 246-206 งดออกเสียง 20 ถือเป็นรัฐมนตรีที่ได้คะแนนสูงสุดในพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้คะแนนไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติไปทางเดียวกัน ขณะที่คะแนนงดออกเสียง 20 เสียง ส่วนใหญ่มาจาก 7 เสียงงูเห่าพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล 5 คน และยังมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ คือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่งดออกเสียงเช่นกัน ส่วนกลุ่ม 16 ลงมติไปทางเดียวกัน คือ โหวตไว้วางใจให้นายนิพนธ์ ส่วนพรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 12 คน ลงมติไม่ไว้วางใจ
11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ที่ได้คะแนนไว้วางใจ 243-208 งดออกเสียง 20 นั้น ได้รับคะแนนไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล งูเห่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนคะแนนไม่วางใจ 208 เสียง นอกจากจะมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ยังพบว่า มีเสียงจากพรรคพลังประชารัฐ 6 เสียง แทรกมาด้วย เป็น ส.ส.สมุทรปราการ 5 คน คือ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ น.ส.ภริม พูลเจริญ นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนคะแนนงดเสียง 20 เสียงมาจาก งูเห่าจากพรรคก้าวไกล 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน ส่วนพรรคเพื่อชาติ มี 6 เสียง โหวตไม่ไว้วางใจ 3 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ขณะที่นายสุชาติ ลงมติงดออกเสียงตัวเอง!