นับถอยหลัง 24 ส.ค.65 นี้ การเมืองไทย กำลังจะเกิดปรากฏการณ์สั่นสะเทือน ต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังถูกหยิบยกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้า ”บิ๊กตู่” ไม่ได้ไปต่อ แล้วใครจะได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศคนต่อไป
เดือนสิงหาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์สำคัญทางการเมือง ที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามอง โดยไม่กระพริบตา คือ วันที่ 24 ส.ค.2565 จะเป็นวันครบกำหนดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมวดที่ 8 มาตรา 158 ระบุว่า
"..... นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง...."
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนากยรัฐมนตรีมาสองรอบ โดยโปรดเกล้าเป็นนายกฯ ครั้งแรก จากการยึดอำนาจวันที่ 24 ส.ค. 2557 และต่อเนื่องจากการเลือกโดยรัฐสภาจนปัจจุบัน ถ้านับจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรก ในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ก็จะครบ 8 ปี ซึ่งฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า จะใช้ประเด็นนี้ กดดันให้ "บิ๊กตู่" ลาออกตามเจตนารมณ์ รธน. และคงหนีไม่พ้นที่จะมีการยื่นเรื่องให้ศาล รธน. ตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าฝืนบทบัญญัติ รธน.หรือไม่ หากยังนั่งทำงานในฐานะนายกฯ หลังวันที่ 24 ส.ค. 2565
เจตนารมณ์ของ รธน.ในเรื่องนี้ ไม่ต้องการเห็นผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีผูกขาดทางการเมือง ป้องกันการใช้อำนาจฉ้อฉล โดยมีบทเรียนจากสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ แม้จะอยู่ได้เกือบ 6 ปี และถูกยึดอำนาจไปก่อน แต่ระบอบทักษิณในยุคนั้นใช้อำนาจเพื่อตัวเองพวกพ้อง ควบรวมพรรค แทรกแซงองค์กรอิสระ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย นำมาซึ่งการเขียน รธน.ฉบับ 2560 กำหนดห้ามนายกฯ นั่งเก้าอี้ รวมเป็นเวลา 8 ปี
สรุปสั้นๆ อีกครั้ง ....รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่า ห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งรับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 ต้องกระเด็นหลุดจากตำแหน่ง ภายในวันที่ 24 ส.ค.2565
แต่ถึงกระนั้นก็ตามที แม้จะมีข้อกำหนดอย่างชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงตามมาว่า...
1. ข้อกำหนดนี้จะเริ่มนับได้ตั้งแต่ปี 2560 (ปีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้) ซึ่งยึดอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี ในปี 2568
2. ข้อกำหนดนี้ มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2557 ได้หรือไม่ (ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้) ซึ่งหากยึดตามข้อนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบกำหนด 8 ปี ในปี 2565
3. หรือต้องเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะครบกำหนด 8 ปี ในปี 2570
แน่นอนที่สุด ปัญหาดังกล่าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ประกาศชัดเจนแล้ว ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดว่า จะส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งคงใช้เวลาอีกนาน
แต่ในกรณีที่สมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ใน วันที่ 24 ส.ค. 2565 จึงต้องยุติการทำหน้าที่ ถ้าเป็นเช่นนี้ แล้วใครล่ะ จะเป็นนายกฯ แทนพล.อ.ประยุทธ์ ?
โดยหากถอดความจากที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งจากกรณีดังกล่าว ก็จะมีนายกฯ รักษาการเข้ามาทำหน้าที่แทน โดยนายกฯ รักษาการ คนที่ 1 คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วนนายกฯ รักษาการคนที่ 2 ก็คือ นายวิษณุ เครืองาม
หลังจากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ต้องจัดให้มีการโหวตเลือกนายกฯ โดยนายกฯ คนต่อไปจะต้องได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.)
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงต้องพลิกกลับไปดูรายชื่อบุคคลที่เป็นแคนดิเดตของพรรคการเมืองทั้งหมด ที่จะเป็นตัวเลือกให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวต ซึ่งแต่ละพรรคเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 3 คน โดยได้ยื่นไว้แล้วในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 และไม่สามารถเปลี่ยนรายชื่อใหม่ภายหลังได้ โดยพรรคการเมืองที่เข้าเงื่อนไข มี ส.ส. 5 % ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย
1. พรรคเพื่อไทย ส่งแคนดิเดตนายกฯ 3 คน ตามโควตา คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ แม้ตอนนี้บางคนจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ก็ยังมีสิทธิ์เป็นนายกฯ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งชื่อเข้าชิงหรือไม่
2. พรรคพลังประชารัฐ ส่งแคนดิเดตนายกฯ 1 คน นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นหากบิ๊กตู่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะถูกวินิจฉัยว่า อยู่ครบ 8 ปี แล้ว พรรคพลังประชารัฐ ก็หมดสิทธิ์ที่จะส่งผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ได้อีก
3. พรรคภูมิใจไทย ส่งแคนดิเดตนายกฯ 1 คน ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล
4. พรรคประชาธิปัตย์ ส่งแคนดิเดตนายกฯ 1 คน ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
5. พรรคอนาคตใหม่ ส่งแคนดิเดตนายกฯ 1 คน ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ธนาธร จึงหมดสิทธิ์
ส่วนในกรณีที่ไม่มีใครได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งของรัฐสภา ทางที่จะไปต่อได้ ก็คือ นายกฯ นอกบัญชี โดยเริ่มต้นจาก ส.ส. กับ ส.ว. จำนวนเกินครึ่งสภา หรือประมาณ 376 คน เข้าชื่อ เพื่อขอให้มีการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี
ลำดับต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า จะต้องมี ส.ส. และ ส.ว. 1 ใน 3 ของสภา ลงมติเพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี
และขั้นตอนสุดท้าย ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ตามรายชื่อที่เสนอมา หากได้เสียงโหวตเกินครึ่งของสภา หรือประมาณ 376 คน บุคคลนั้นก็จะกลายเป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศไทยในทันที
ดังนั้น สรุปชัดๆ อีกครั้ง ใครบ้างมีสิทธิ์ เป็นนายกฯ ถ้า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หลุดจากตำแหน่งจากกรณี ปม 8 ปี
1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ : นายกฯ รักษาการคนที่ 1
2. วิษณุ เครืองาม : นายกฯ รักษาการคนที่ 2
3. สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
4. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
5. ชัยเกษม นิติสิริ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
6. อนุทิน ชาญวีรกูล : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคภูมิใจไทย
7. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคประชาธิปัตย์
8. นายกฯ นอกบัญชี
อย่างไรก็ตาม หาก "บิ๊กตู่" เลือกจะไปต่อ โดยไม่สนปม 8 ปี เพราะกว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจนได้ข้อยุติ ก็ยังมีเวลาอีกนาน ดังนั้น ในช่วงเวลานับถอยหลังที่สภาผู้แทนราษฎรใกล้จะหมดวาระ 4 ปี ปลายเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งจะต้องเลือกตั้งใหม่ จำต้องฝ่าด่านหินหลายปัจจัย
โดยเฉพาะ การเมืองใน พปชร.ถูกมองว่า แตกแยกระหว่าง พี่น้องสอง ป. มีการประลองอำนาจกันระหว่างกลุ่ม ส.ส. "บิ๊กป้อม" กับ "บิ๊กตู่" กันสนุก เช่น ในการลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วมเมื่อไม่นานที่ผ่านมา มี ส.ส.ร่วมคณะ "บิ๊กป้อม" มากถึง 50 คน ขณะที่ "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่อีกแห่งวันเดียวกันมี ส.ส.ร่วมไม่ถึงสิบคน
แน่นอน ณ เวลานี้ ส.ส.ในพรรคสนับสนุน "บิ๊กป้อม" มากกว่า "บิ๊กตู่" !
แต่ทั้ง "บิ๊กป้อม" และ "บิ๊กตู่" ไม่มีทางแตกแยก ทั้งคู่ยืนยันว่าอยู่ด้วยกันมา 50 ปี จะไม่แยกทางจากกัน นอกจากตายจากกัน ส่วน "บิ๊กตู่" ก็ยืนยันว่า สามป. ไม่มีใครเสี้ยมให้แตกกันได้ เป็นสามพี่น้องที่รักกันมานาน
ลูกพรรค พปชร. รู้ดีว่า เขาควรผูกอนาคตการเมืองไว้ที่ "บิ๊กป้อม" เพราะเป็นผู้กุมอำนาจในพรรคตัวจริง แม้จากนี้ "บิ๊กตู่" จะมีทางสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน ม็อบต่อต้านหมดพลัง การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำไม่ได้แล้ว นอกจากรอเปิดสมัยประชุมในกลางปีหน้าเดือน พ.ค 2565
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น ประเทศขัดแย้ง การเมืองแตกแยก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รับรู้ว่า อาจถึงคราวที่ "บิ๊กตู่" ต้องลงจากหลังเสือ เพราะไม่ง่ายที่พรรคจะฝืนกระแสชู "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ อีกครั้ง
เลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีคำสัญญาว่า "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่" เป็นจุดแข็ง แต่เกือบสามปีในรัฐบาล พปชร. จุดแข็งนี้ได้กลายเป็นจุดอ่อน หรือย้อนกลับไป ช่วงรัฐประหาร "บิ๊กตู่" ก็มาด้วยวาทกรรม "ขอเวลาอีกไม่นาน" ต้องยอมรับว่า วันนี้กระแสสนับสนุนไม่เหมือนก่อน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ คือ เชื้อปมความขัดแย้งจากการทำรัฐประหาร คสช. และนับวันยิ่งขยายร้าวลึกขึ้นกระทบไปยังสถาบัน องค์กรหลักต่างๆ
ทั้งหมดจึงอยู่ที่ "บิ๊กตู่" จะเป็นผู้กำหนดอนาคตตนเองว่า จะพอ หรือขอต่อเวลาอีก!!