ยังต้องติดตามกันอย่างลุ้นระทึก ในช่วงโค้งสุดท้ายของ “วาระ 8 ปี” บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีมุมมองที่น่าสนใจจากสื่อมวลชน นักวิชาการ นักกฎหมาย แตกประเด็นกันหลากหลาย โดยเฉพาะมีการงัดข้อกฎหมายออกมาหักมุมต้องให้ “รัฐสภา” ดำเนินการก่อนไปถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ”
หลังจาก น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 171 ราย ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งมาครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.65
ล่าสุด 19 ส.ค.65 นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ระบุว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในคำร้องดังกล่าวแล้ว
ถึงตรงนี้ ก็เป็นอันว่า จบขั้นตอนส่วนของสภาผู้แทนราษฎร จากนี้เป็นขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักเลขาธิการสภาฯ จะนำเอกสารคำร้องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงเช้าวันที่ 22 ส.ค. 65
หลังจากนี้ก็ต้องนับวันรอ ให้เป็นไปตามกระบวนยุติธรรมตามแนวทางปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มจากศาลฯ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารอีกครั้ง ว่าจะพิจารณา "รับคำร้อง" หรือ "ไม่รับคำร้อง"
"จรัญ ภักดีธนากุล" อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายความว่า เบื้องต้น จนท.จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบความเรียบร้อย ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก่อนทำเรื่องเสนอให้ศาลพิจารณา
"บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาข้ามวัน เพราะศาลอาจจะมอบหมายให้องค์คณะ 1 คน หรือ 2 คน หรือ 3 คนทำ สมมติว่า ศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว โดยหลักก็จะต้องดูว่า ไปกระทบผลได้ผลเสียของใครบ้างหรือไม่ หากกระทบก็ต้องให้คนเหล่านั้น ได้มีโอกาสคัดค้าน โต้แย้งตามหลักการ ฟังความให้ครบทุกฝ่าย ไม่ฟังความด้านเดียวอย่างเรื่องนี้ก็มีคนที่ถูกกระทบสิทธิจากผลของคำร้องนี้ ก็ควรจะให้มีการส่งสำเนาและให้โอกาสการโต้แย้งคัดค้านจากผู้ที่เดือดร้อนก่อน” อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ ระบุ
ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องดังกล่าวเร่งด่วนแค่ไหน เมื่อได้คำคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ศาลก็อาจจะฟังความเห็นของคนที่เกี่ยวพันกับหลักกฎหมายข้อนี้
“เป็นไปได้ที่ศาลอาจจะขอฟังความเห็นจาก กกต. หรือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือ อาจจะขอบันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จากเลขาธิการรัฐสภา รวมทั้งเอกสารบันทึกการประชุมที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ซึ่งถ้าศาลขอเช่นนั้น ก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะคนที่จะทำความเห็นส่งมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องให้เวลาเขา"
ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นของ "จรัญ ภักดีธนากุล" ว่ามี "เบาะแสสำคัญ" อะไรบ้าง ต่อความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เป็นบุคคลสำคัญ 2 ราย "มีชัย ฤชุพันธุ์" และ "สุพจน์ ไข่มุกด์" พบว่า เป็นเอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ย้อนไปเมื่อ 4 ปีแล้ว ในวันศุกร์ที่ 7 ก.ย. 2561 ขณะกำลังร่างกฎหมายเกี่ยวกับประเด็น วาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯรัฐมนตรี ระบุว่า..
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. สอบถามที่ประชุมว่า ผู้ที่เป็นนายกฯ อยู่ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับสามารถ นับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่?
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. ตอบว่า หากนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
นายมีชัย ย้ำว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม
“การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเป็นการนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี”
ที่สำคัญ เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังระบุว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
ดังนั้น ฟันธงกันเบื้องต้น "เอกสารการประชุม กรธ." ฉบับนี้ จะต้องถูกนำไปพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ต่อการตีความประเด็นร้อนทางการเมืองในขณะนี้ !
“มุนินทร์ พงศาปาน” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นน่าสนใจว่า “ถ้าไปถามหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจากผู้ร่างที่ยังมีชีวิตอยู่ภายหลังกฎหมายใช้บังคับ คนเหล่านั้นจะพูดอะไรออกมาก็ได้ นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงมีหลักในการตีความกฎหมายว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างไม่ใช่อย่างเดียวกันกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เป็น “เบาะแสที่สำคัญ” ที่จะช่วยให้เราค้นพบเจตนารมณ์ของกฎหมาย และการค้นหาเบาะแสที่ว่าก็ต้องพิจารณาจากบันทึกหลักการและเหตุผลของกฎหมายและรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างเป็นสำคัญ เพราะตัวหนังสือไม่โกหก ไม่ผันแปรไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป”
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นต่างจาก สำนักข่าวอิศรา ต่อ "วาระ 8 ปี” มีประเด็นต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่ ? หากดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วครบ 8 ปี
2. ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจในการวินิจฉัย หรือไม่ ? ว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พลเอกประยุทธ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 เป็นการดำรงตำแหน่งที่จะชอบหรือไม่ชอบ
3. รัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อใด?
จากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พอที่จะไขข้อสังเกตของประเด็นดังกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า
1. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกฯ จะต้องทำการลาออกจากตำแหน่ง เมื่อดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วครบ 8 ปี แต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องมีการลาออกก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติ
2. รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งการดำรงตำแหน่ง นายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า จะเกิน 8 ปี หลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
3. รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่พิจารณา ให้ความเห็นชอบ ผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ มาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้บัญญัติ ให้ช่วง 5 ปีแรก เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ
ดังนั้น เมื่อนายกฯ คนเดิม จะต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ต้องจัดประชุมพิจารณาบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ คนใหม่....ดังนั้นประธานรัฐสภา จะต้องเรียกประชุมสมาชิกเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยในการประชุมจะต้องพิจารณาก่อนว่า นายกฯ คนเดิมดำรงตำแหน่งรวมกันครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ หรือว่ายังไม่ถึงเวลา
และเมื่อผลการพิจารณาของรัฐสภาเป็นอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี จึงไม่ต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือเห็นว่าครบ 8 ปี แล้ว และให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ถึงตอนนั้นหากมีผู้ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า มติของที่ประชุมรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงจะเข้าสู่กระบวนการเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป
จึงต้องพิจารณาว่า การพิจารณา “ปม 8 ปี ” เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ สภา ???