“เจ้าสัวคีรี” ทิ้งบอมบ์ รฟม.จ่ายค่าโง่สายสีส้มแพงเว่อร์กว่า 68,000 ล้าน นำสื่อบุก รฟม. หวังเปิดซองราคาให้เห็นกันจะๆ แต่บิ๊ก รฟม. รู้แกวดอดส่งเจ้าหน้าที่หอบแฟ้มส่งคืนถึงบริษัท หวังปัดสวะให้พ้นตัวไม่รับรู้ข้อเสนอ เผยราคาสุทธิกลุ่ม BSR แค่ -9,600 ล้าน เทียบกลุ่ม BEM ที่ชนะประมูลที่เสนอราคาสุทธิ -78,200 ล้านบาท เผยส่วนต่างกว่า 68,000 ล้าน สร้างรถไฟฟ้าใหม่ได้ทั้งสาย
แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะป่าวประกาศความสำเร็จของการประมูลโครงการนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ชนะประมูลโดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (ค่าตอบแทนตลอดสัมปทานหักลบด้วยเงินชดเชยค่าก่อสร้างส่วนตะวันตกที่เอกชนขอชดเชยจากรัฐเป็นมูลค่าปัจจุบัน NPV) ต่ำสุดที่ -78,287.95 ล้านบาท ขณะที่บริษัท อิตาเลียนไทย หรือ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ 102,635.66 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ในความพยายามเร่งรัดปิดดีลประมูลครั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ผลการประมูลที่ออกมาข้างต้น ก็หาได้ยังประโยชน์ต่อรัฐ และ รฟม. แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาลนับแสนล้านบาท เพราะมีกระแสข่าวปะทุในโลกโซเชียลว่า ราคาประมูลที่ได้เมื่อเทียบกับข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR ที่เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ในครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 63 แต่ถูก รฟม. ยกเลิกการประมูลไป โดยที่ศาลปกครองกลางได้มีคำตัดสินชี้ขาดไปแล้วว่า เป็นการออกประกาศยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ โดย รฟม. ยังคงจัดเก็บเอกสารการประมูลเอาไว้นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา “เจ้าสัวคีรี” ประธานกรรมการกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป (BTS Group) ได้ส่งผู้แทนนำสื่อมวลชนเดินทางไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.) เพื่อขอรับซองข้อเสนอคืนจาก รฟม. หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ติดต่อขอรับซองข้อเสนอคืนไปแล้ว และทางเจ้าหน้าที่ได้นัดให้เข้ามารับในช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ย. และมีกำหนดจะเปิดซองราคาต่อหน้าสื่อมวลชนได้เห็นข้อเสนอราคาของกลุ่ม BSR อย่างพร้อมเพรียงกันด้วย
แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบว่า ทาง รฟม. ได้ให้เจ้าหน้าที่หอบแฟ้มเอกสารซองข้อเสนอดังกล่าว ส่งกลับคืนไปยังสำนักงานใหญ่ BTS แล้ว ทางบีทีเอสจึงได้เชิญสื่อมวลชนเดินทางกลับไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัท พร้อมร่วมกันเปิดซองข้อเสนอราคาที่ถูกปิดพนึกเอาไว้อย่างดี
โดยข้อเสนอราคาสุทธิที่กลุ่ม BSR เสนอไว้นั้นเท่ากับ -9,676 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาที่ BEM เสนอและอ้างว่าเป็นผู้ชนะประมูลอยู่ถึง 68,000 ล้านบาท โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอส กล่าวว่า รายละเอยดข้อเสนอของกลุ่ม BSR นั้นประกอบด้วย มูลค่าขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาช่วงตะวันตก (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ 79,280 ล้านบาท และการจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ 70,144 ล้านบาท เท่ากับเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -9,676 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 ที่เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท
ซึ่งนั่นหมายความว่า หาก รฟม. และกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ยกเลิกประมูลในครั้งก่อน และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลใหม่ จนทำให้ผู้รับเหมาจากทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มบีเอสอาร์(BSR) ที่ไม่สามารรถเข้าร่วมประมูลได้ ยกเว้นกลุ่มทุนรับเหมา 2 รายใหญ่ คือ กลุ่ม ช.การช่าง CK และ ITD แล้ว ไม่เพียงแต่รัฐบาล หรือ รฟม. จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนตลอดอายุสัมปทานเพิ่มขึ้นอีกนับแสนล้านบาท เม็ดเงินผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีดังกล่าว เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) และหักลบด้วยเงินชดเชยค่าก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกวงเงินสูงสุดไม่เกิน 96,000 ล้านบาทนั้น ยังจะทำให้รัฐ และ รฟม. ได้รับผลประโยชน์สุทธิเหนือกว่าผลประมูลที่ได้เป็นเท่าตัว
“เม็ดเงินส่วนต่างผลประโยชน์สุทธิตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของกลุ่ม BSR ที่ต่ำกว่าข้อเสนอของผู้ชนะประมูลแม้จะมีการคิดทีต่างกันแต่ก็มีความแตกต่างกันมากกว่า 68,000 ล้านบาท ส่วนต่างราคาดังกล่าว สามารถที่จะนำไปก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ตลอดทั้งสาย ไม่ว่าจะสายสีชมพู สีเหลืองหรือสีเทา หรือแม้แต่นำไปชดเชยก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 สายทาง ที่มีมูลค่าลงทุนราว 53,000 ล้านบาทเท่านั้น”
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรรมผู้เชี่ยวชาญโครงการขนาดใหญ่ และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ออกมาสัพยอกถึงการประมูลที่เกิดขึ้นว่า มีการกระทำที่ขัดกับประกาศคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการพีพีพี) เพราะหากรฟม.และคณะกรรมการยึดถือหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการพีพีพีอย่างเข้มงวดตามที่กล่าวอ้าง กลุ่ม ITD ก็ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นของการประมูลตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการพีพีพี เพราะกรรมการบริหารบริษัทถูกดำเนินคดีอาญาถึงขั้นต้องโทษจำคุก ที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเข้าร่วมลงทุนหรือทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ
ซึ่งประเด็นเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามนี้ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในคณะกรรมการคัดเลือกตามม.36 ได้หยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมแล้ว รวมทั้งตัวแทนสำนักงบประมาณได้ออกโรงทักท้วงในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่ากลุ่ม ITD น่าจะมีคุณสมบัติขัดแย้งกับประกาศคณะกรรมการพีพีพี ไม่สามารถจะเปิดซองข้อเสนอได้ แต่ก็ไม่สามารถจะจัดทานเสียงข้างมากที่ยังคงดั้นเมฆให้เดินหน้าโครงการ โดยอ้างว่า หากมีความผิดพลาดก็เป็นความรับผิดชอบของบริษัทในการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของตนเอง และหากในภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองเอกสารดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการทำสัญญากับเอกชนรายนั้นๆ ได้อยู่แล้ว
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า แม้ในเรื่องของคุณสมบัติของกลุ่ม ITD อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะต่อให้มีผู้เข้าประมูลเหลืออยู่เพียงรายเดียว หาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังคงยืนกรายว่า มีควารมจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการชี้ขาดการประกวดราคาโครงการนี้อยู่ต่อไป ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่กระนั้น ความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับจากการดั้นเมฆจัดประมูลสายสีส้มในครั้งนี้ ที่ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายไปนับแสนล้านบาท ยังไม่รวมกับความสูญเสียจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการที่ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้า ก็ทำให้สุดท้ายประเทศชาติและประชาชนคนไทยคือผู้ที่ต้องรับกรรมค่าโง่รถไฟฟ้าเหล่านี้ โดยปราศจากผู้รับผิดชอบ