กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
กับเรื่องที่ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ คค.0100/3300 ลงวันที่ 21 ก.ย. 65 เรื่องการบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2566 ของหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามกฎหมาย แผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส สามารถสนับสนุนการนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยสรุป ก็คือ กำหนดให้หน่วยงานในสังกัดทั้งระดับกระทรวง ระดับกรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ต้องจัดส่งบัญชีรายการลงทุนทุกประเภท ทั้งที่ใช้งบประมาณ และใช้แหล่งเงินลงทุนอื่นมาให้กระทรวงทั้งหมด ภายในวันที่ 1 ต.ค. 65 โดยให้แยกรายละเอียดการใช้จ่ายงบลงทุนในโครงการเหล่านี้อย่างละเอียด
นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุชัดเจนในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง รายงานสถานะของโครงการ พร้อมจัดส่งร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือแบบรูปรายการงานก่อสร้าง (TOR) และขั้นตอนแผนการดำเนินการ (Timeline) ให้ รมต.คมนาคมทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ เมื่อ รมต.คมนาคมทราบแล้ว จึงดำเนินการต่อไปได้ และเมื่อได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 เรียบร้อยแล้วให้รายงานสถานะการดำเนินโครงการต่อ รมต.คมนาคมรับทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ ก่อนลงนามในสัญญาและดำเนินการต่อไปได้
เป็นการรุกคืบควบคุมการดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือดำเนินโครงการลงทุนของหน่วยงานในสังกัดทุกโครงการอย่างละเอียด ไม่ว่าโครงการนั้นๆ จะมีมูลค่าเท่าไร ก็ต้องให้เจ้ากระทรงคมนาคมได้ตรวจสอบรายละเอียดการดำเนินโครงการก่อนการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ส่วนจะเป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเพื่อให้การดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย แผนงานและแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น ก็สุดจะคาดเดา เพราะมองอีกด้านก็อาจมองว่าเป็นการ ”ล้วงลูก” เข้าไปควบคุมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในทุกโครงการได้
และทำให้เกิดคำถามตามมาคำสั่งของ รมว.คมนาคมข้างต้นนั้น เป็นการ “ล้วงลูก” งานของรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลที่กำกับดูแลโดยตรงหรือไม่ อย่าง นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม จากพรรค พปชร. และ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทยด้วยกัน
กรณีของนายวีรศักดิ์นั้น อาจไม่ใช่ปัญหาเพราะยังไงก็อยู่ในพรรคเดียวกัน แต่กรณีการล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบการดำเนินโครงการลงทุนทุกโครงการในหน่วยงานที่ “นายอธิรัฐ” กำกับดูแลอยู่ อาจทำให้สังคมมองไปได้ว่า รมต.คมนาคม คงเห็นว่า รัฐมนตรีช่วยคมนาคมต่างพรรคที่กำกับดูแลไม่มีผลงาน หรือคงไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมได้ จึงต้องลงมือเข้าไปกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินโครงการเหล่านั้นเสียเอง
แล้วจะมี รมช.คมนาคม เอาไว้เป็น “ไม้ประดับ” หาพระแสงอะไร?
จะว่าไปหาก รมต.คมนาคม อยากจะแสดงให้โลกได้เห็นว่า การเข้าไปตรวจสอบการดำเนินโครงการใต้ชายคากระทรวงคมนาคมนั้นเป็นไปเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส และเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพจริง ก็น่าจะเริ่มต้นเอาที่การสแกนการดำเนินโครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่านับแสนล้านบาทที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวอยู่ในเวลานี้ก่อนปะไร
เพราะเป็นโครงการประมูลที่เต็มไปด้วยปัญหาเรื่องอื้อฉาว ต้องล้มลุกคลุกคลานมากว่า 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวการดำเนินโครงการนี้ เมื่อ 28 ม.ค. 62 และแม้ล่าสุด รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ตาม ม.36 ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) จะประกาศรายชื่อบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลโครงการนี้ ซึ่งเป็นการประมูลใสนครั้งที่ 2 คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ไปแล้วด้วยข้ออ้างว่า มีข้อเสนอทางการเงินสุทธิต่ำที่สุด
แต่ก็ถูกบริษัทเอกชนที่เคยเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ตั้งแต่แรก และถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลในครั้งที่ 2 ออกมาเปิดโปงว่า ผลการประมูลที่ได้นั้น ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์เพราะมีส่วนต่างด้านราคาเมื่อเทียบกับที่บริษัทเสนอราคาเอาไว้ แต่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูล พร้อมกับออกมาเปิดโปงข้อเสนอราคาที่มีส่วนต่างราคาสูงกว่า 68,000 ล้านบาท จนกลายเป็นประเด็นดราม่าที่สังคมพากันวิพากษ์ท่วมโซเชียลอยู่เวลานี้
ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกโรงเรียกร้องให้ทั้งนายกรัฐมนตรี และทุกภาคส่วนได้ช่วยกันเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการดำเนินโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ โดยพาะปมส่วนต่างข้อเสนอราคาที่มีความแตกต่างกันถึง 68,000 ล้านบาท จนทำให้การรถไฟฟ้าชนส่งมวลชนฯ หรือ รฟม. นั่งไม่ติด ต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้เป็นพัลวัน แต่ดูเหมือนยิ่งแจงก็ยิ่งเป็น “วัวพันหลัก” เพราะย้อนแย้งในตัวเอง จนทำให้สังคมเริ่มตั้งข้อกังขาต่อเส้นทางการประมูลโครงการนี้ท่วมเมือง
หากจะแสดงความโปร่งใสในการสแกนการดำเนินโครงการลงทุนใต้ชายคา ก็ช่วยตรวจสอบโครงการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม และปมส่วนต่างด้านข้อเสนอราคา 68,000 ล้าน ที่กำลังเป็นประเด็นสุดฮอตของสังคมอยู่ในเวลานี้ ก่อนจะดีกว่าไหม ท่าน รมต.ศักดิ์สยาม ที่เคารพ !!!