ประปาปทุม ยังไม่ละพยายาม หลังแผนขยายสัมปทานผลิตประปา 45 ปีแท้งสนิท เจอทั้ง "บิ๊กป๊อก-ป.ป.ช."ขวางลำ ดอดทำเรื่องขอต่อสัญญาใหม่อีก 10 ปี แถมขู่ฟ่อด กปภ. หากไม่เจรจาเจอฟ้องศาลแน่ ด้านบิ๊กประปายังไม่เข็ดโดดรับข้อเสนอ
แม้เส้นทางต่อขยายสัญญาการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเขตปทุมธานี-รังสิต ระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) ในเครือ บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) จะปิดฉากลงไปแล้ว หลังจากที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศชัดเจนที่จะไม่ต่อขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทจากที่ทำเรื่องขอขยายสัญญาออกไปอีก 20 ปีจากที่จะสิ้นสุดในปี 2566 นั้น
ล่าสุด มีรายงานว่า เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.วลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด(PTW) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ กปภ. เรื่องการต่ออายุการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค กับบริษัท โดยระบุว่า ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ระหว่าง กปภ. กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ฉบับลงวันที่ 31 ส.ค.2538 (สัญญาร่วมลงทุน) นั้น บริษัทฯ สามารถขอต่ออายุการประกอบการได้ตามข้อ 15 ของสัญญาร่วมลงทุนได้อีก 10 ปี โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในสัญญาร่วมลงทุนและพร้อมที่จะเจรจากับ กปภ. โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการร่วมลงทุนสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดปัญหา
เนื่องจากมีข่าวปรากฎต่อสาธารณะว่า กปภ. จะดำเนินโครงการเองภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงนั้น บริษัทฯ ขอเรียนว่า หาก กปภ. ดำเนินโครงการเอง โดยไม่เจรจากับบริษัทฯ ถือเป็นการทำผิดสัญญาร่วมลงทุนที่มี และเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการ กปภ. ได้ลงนามรับทราบหนังสือขอต่ออายุสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ในโครงการเอกชนร่วมลงทุนปรับปรุงขยายการประปาปทุมธานี-รังสิตแล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.ย.65 ที่ผ่านมา ทำให้สหภาพรัฐวิสาหกิจ กปภ.และพนักงาน กปภ. พากันลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศนโยบายชัดเจนระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.65 ว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต่ออายุสัญญาซื้อน้ำประปาจากคู่สัญญารายเดิมหลังจากสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดในวันที่ 14 ต.ค.2566 เพราะต้องการให้ กปภ. ดำเนินการผลิตและจำหน่ายประปาปทุมเอง
นอกจากนี้ “สำนักข่าวอิศรา” ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดทำ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ตามโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กปภ. โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ได้แก่
1. การผลิตน้ำประปาเป็นการให้บริการสาธารณะของรัฐแก่ประชาชน ที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการแสวงผลกำไร ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินกิจการของเอกชน ดังนั้นเพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการในการผลิตน้ำประปาได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กปภ. ควรเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาเอง ตามที่ รมว.มหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562 และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2. กปภ. ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียที่มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40.17 (ข้อมูลปี พ.ศ.2563) ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีต่อ กปภ. ตามรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาของกปภ. กรณีโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 โดยเร่งด่วน เพื่อให้มีปริมาณน้ำประปาพร้อมจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนของโครงการได้
3. การแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยการขยายอายุสัญญาออกไป 20 ปี เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ โดยไม่ผ่านกลไกการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อาจเป็นความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียว ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงมิให้เปิดประมูลราคา ดังนั้น หากจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ จึงควรดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
เป็นการ “ตอกฝาโลง” เส้นทางการขยายสัญญาสัมปทานประปา 20 ปี ให้กับกลุ่ม ช.การช่าง ไปโดยปริยาย แต่กระนั้น บริษัทประปาปทุม ยังคงไม่ละความพยายามในอันที่จะขอต่อขยายสัญญาสัมปทานใหม่เข้ามาอีก แต่ได้ปรับลดระยะเวลาสัมปทานลงจากเดิม 20 ปี เป็น 10 ปี โดยอ้างว่าเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนเดิม ที่เปิดช่องให้บริษัทร้องขอต่อขยายสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งหาก กปภ. ตอบรับจะทำให้แผนการผลิต และจำหน่ายประปาเองของ กปภ. ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องหวนกลับมาต่อขยายสัญญากับบริษัทอีก
คนข้างนอก