มหาดไทยสุดมึนคำตอบ “ชัชชาติ” กับอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว อ้างไม่รับรู้สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย หากจะให้จ่ายหนี้ค้างจะจ่ายแค่เงินต้นส่วนขยายเดิมที่สภา กทม.เห็นชอบแล้วเท่านั้น โยนลูก “บิ๊กตู่ - ครม.” ร่วมรับผิดชอบหนี้ค้างและดอกเบี้ยหน้าตาเฉย
หลังจากกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว โดยเฉพาะภายหลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ผู้ว่าราชการคนใหม่มาแล้ว เพื่อประกอบความเห็นในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จะยังคงให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่คณะทำงานเจรจาของ กทม.และกระทรวงมหาดไทยดำเนินการไว้ หรือมีแนวทางเลือกอื่น
ปัดรับผิดชอบนิติกรรมสัญญาเดิม!
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 3 พ.ย.65 มายัง รมว.มหาดไทยแล้ว โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินโครงการนี้ทราบว่า ทางกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กท1605/3559 ลงวันที่ 8 ก.ย.65 เห็นควรนำเสนอแนวทางขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับที่รัฐให้การสนับสนุนโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ และล่าสุด กทม.ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว แต่ที่ประชุมสภา กทม. ได้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปเสียก่อน ทำให้ยังไม่ได้พิจารณา
ส่วนเรื่องปัญหาหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงที่ กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT มีอยู่กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งทางบริษัทได้ยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ต่อศาลปกครอง โดยล่าสุด ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ กทม. และกรุงเทพธนาคม ร่วมกับชำระหนี้ค้างวงเงินรวมกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น กรณีดังกล่าว กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดไปแล้วไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษา
โดยระบุว่า กทม. จะชำระเฉพาะเงินต้นของค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 เท่านั้น เพราะสัญญาที่ กทม. มีอยู่กับบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ไม่มีการกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ กทม. จึงไม่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกับโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 กทม. ได้จัดทำโครงการขอใช้งบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. ไปแล้ว และ BTSC ได้รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่า บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จะเป็นผู้จ่ายส่วนต่างค่าจ้างเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด
ส่วนค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น กทม. ไม่ขอรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิบัติตามกระบวนการ และขั้นตอนการขอใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร การมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ เป็นผู้บริหารการเดินรถ ยังไม่มีการจัดทำเป็นโครงการขอความเห็นชอบจากสภา กทม. ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น กทม. จึงไม่ต้องรับผิดชอบ
ลาก ครม. ร่วมแบกรับหนี้-ดอกเบี้ย
ในท้ายหนังสือตอบกลับของผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุด้วยว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวในอนาคตที่กระทรวงมหาดไทยสอบถามมาล่าสุดนั้น กทม. มีความเห็นดังนี้..
1. กทม. เห็นด้วยกับแนวทางการเดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่อลดรายจ่ายประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ กทม. ใคร่ขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และงานติดตั้งระบบการเดินรถ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
2. เห็นควรว่าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการมีความรอบคอบ ตรวจสอบได้ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง
และ 3. กรณีที่คณะกรรมการเจรจาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้เจรจาที่จะให้บริษัทเอกชนแบกรับภาระส่วนต่างค่าจ้างเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กทม. จึงยุติการจ่ายชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่กลางปี 62 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้วนั้น ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชน รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นกับ กทม. ในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะได้ร่วมหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
"บิ๊กป๊อก" สุดมึนจะรายงาน ครม. อย่างไร?
แหล่งข่าวกล่าวว่า คำตอบของผู้ว่าฯ ชัชชาตินั้น ทำให้ รมว.มหาดไทย แทบไปไม่เป็น เพราะไม่รู้จุดประสงค์ที่ผู้ว่าฯ กทม. ตอบกลับมาคืออะไรกันแน่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กทม.ได้เคยมีหนังสือเห็นชอบแนวทางในเจรจาต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวของคณะทำงานที่ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว โดยจะให้เอกชนแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดแทน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทาน อันเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน และสายน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ และกระทรวงคมนาคมดำเนินการไปก่อนหน้า โดยขอให้นำเสนอขอความเห็นชอบต่อ ครม. แต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. หลังการเลือกตั้ง ทางกระทรวงมหาดไทยจึงต้องการทราบจุดยืนและนโยบายของคณะผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่ จะยังคงเดินตามจุดยืนเดิมหรือไม่ หากไม่เห็นพ้องกับแนวทางที่คณะทำงานเจรจาได้ดำเนินการเอาไว้ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ขอให้นำเสนอมา
“แต่สิ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม. ตอบกลับมากลับ “ออกน้ำออกทะเล” ไปไหนก็ไม่รู้ โดยนอกจากจะมีข้อเสนอจะขอให้รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนรถไฟฟ้าทั้งหมดให้ รวมไปถึงระบบรถไฟฟ้า ทั้งที่โครงการอื่น ๆ นั้น รัฐบาลจะให้การสนับสนุนในเรื่องการเวนคืนและสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธาให้เท่านั้น
ส่วนการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงยังเป็นของหน่วยงานหรือให้เอกชนเข้ามาลงทุน แต่ผู้ว่าฯ กทม. กลับไปเสนอเกินขอบเขตที่รัฐจะดำเนินการให้ได้ และยังเป็นแนวทางที่ไม่อยู่ในข้อเสนอที่มหาดไทยจะนำรายงานต่อ ครม.ได้ด้วย”
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังเสนอให้นำโครงการนี้กลับไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ใหม่ โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งที่แนวทางการดำเนินการดังกล่าวนั้น รังแต่จะทำให้เส้นทางแก้ไขปัญหาเผชิญทางตัน เพราะปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ได้มีแค่โครงการเดียว แต่มีปัญหาทั้งเรื่องโครงข่ายส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 และยังมีปัญหาเรื่องหนี้ค้างค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่ง กทม. ขัดทำสัญญาแยกออกมาจากสัญญาหลักเดิม ซึ่งไม่อาจจะดำเนินการโดยวิธีการปกติได้ การนำโครงการนี้กลับไปดำเนินการตามวิธีปกติ จะยิ่งทำให้เส้นทางการแก้ไขปัญหาเผชิญทางตันและยิ่งจะทำให้หนี้ค้างและดอกเบี้ยปรับพุ่งทะลักยิ่งขึ้นไปอีก
“แม้แต่หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว กทม. ก็ยังอ้างไม่ขอรับผิดชอบ โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. ทำเอาไว้ ตนเองไม่รับทราบนิติกรรมสัญญาใด ๆ ที่ทำไว้ก่อนหน้า โดยหวังจะให้ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดออกมา ทั้งที่ข้อต่อสู้ที่อุทธรณ์ขึ้นไปยังศาลปกครองสูงสุดนั้น เป็นสิ่งที่ กทม. ไม่เคยหยิบยกขึ้นต่อสู้หรือชี้แจงต่อศาลมาก่อน และโครงข่ายสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งส่วนขยายที่ 1 และ 2 นั้น ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ถือเป็นกฎหมายก็รองรับขอบข่ายการดำเนินโครงการทั้งระบบไปให้แล้ว จะมาอ้างว่า กทม. ยังไม่รับรู้คงไม่ได้ ทั้งยังไปลากเอาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มาร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากท้ายที่สุด กทม. จะต้องจ่ายหนี้ค้างและดอกเบี้ยปรับให้แก่คู่สัญญาเอกชน เป็นการปัดความรับผิดชอบโยนให้ ครม. ซึ่งหากนำเสนอไป ก็เชื่อว่าคงถูก ครม. ตีกลับให้ กทม. ไปจัดการแก้ไขปัญหาเองหนักยิ่งกว่าเดิมแน่”