ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BTS ได้เผยแพร่คลิปร้อนทวงหนี้ปมรถไฟฟ้าสีเขียว โดยระบุว่า..
“คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน..ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน
ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน”
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ได้เผยแพร่วิดีโอโฆษณาเรียกร้องให้ทางภาครัฐชำระหนี้คืนบริษัทกว่า 40,000 ล้านบาท จากการที่ กทม. ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถให้ (อ่านข่าว บีทีเอส ปล่อยคลิปทวงหนี้ สายสีเขียว 4 หมื่นล้าน ลั่น อย่าหนีปัญหา โยนไปโยนมา)
นายชัชชาติ กล่าวว่า มีเพียงประเด็นทางกฎหมาย จากที่ข้อบัญญัติ กทม. ระบุว่า การสร้างภาระหนี้ผูกพันงบประมาณ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. ก่อน จะเห็นว่าทางสภา กทม. ยังไม่ได้เห็นชอบทำสัญญาจ้างเดินรถ และติดตั้งงานระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จึงมีการทำหนังสือเพื่อสอบถามทางสำนักงานเลขาธิการสภา กทม. ว่า ส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม. แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องมีการทำสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยก่อน เข้าใจว่าได้มีการส่งหนังสือไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือไม่ก็ภายในสัปดาห์นี้ โดยส่วนของมูลหนี้จากส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 เหลือเพียงแต่ให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ที่ต้องการนำมูลหนี้ไปรวมกับการต่อสัญญาสัมปทาน “ใจเราไม่ได้มีปัญหา กทม. เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะที่การรับโอนทรัพย์สินในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. เช่นเดียวกัน
“ถ้าหากไม่ผ่านสภา กทม. จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าจะเป็นการสร้างหนี้ในอนาคต ก็ต้องผ่านทางสภา กทม. อาจจะต้องทำสัญญาใหม่ หรือจากนี้ในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการสืบสวนการทำสัญญามอบหมายงานในขณะนั้น ก็มีความเห็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ต้องผ่านสภา กทม.ก่อน และเมื่อเกิดหนี้ค่อยมาขออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม. ภายหลัง แต่แนวคิดของผู้บริหารชุดปัจจุบันถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพัน จะต้องให้สภา กทม. เห็นชอบก่อน ไม่ใช่พอทำสัญญาแล้ว แล้วบังคับให้ทางสภา กทม. เป็นผู้อนุมัติเงิน จะเป็นการทำผิดตามข้อบัญญัติ