คณะกรรมการ PPP เห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (บางขุนเทียน - บางบัวทอง) เติมเต็ม Missing Link วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร แก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชน
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP ได้ให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ของกรมทางหลวง (ทล.) มูลค่ารวมประมาณ 56,035 ล้านบาท โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบนอกกรุงเทพมหานครให้ครบสมบูรณ์ (Missing Link) และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางรวมถึงระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (2560 - 2579) ทั้งนี้ ให้ ทล. ไปดำเนินการสร้างความชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงาน เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
จุดขึ้น-ลงพระราม 2
จุดขึ้นเอกชัย
จุดขึ้นกัลปพฤกษ์
จุดขึ้น-ลงเพชรเกษม
จุดขึ้น-ลงพรานนก-พุทธมณฑล
จุดขึ้น-ลงบรมราชชนนี
จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี
จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับศรีรัช
จุดขึ้น-ลงนครอินทร์
จุดขึ้น-ลงบางใหญ่
จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางใหญ่
จุดขึ้น-ลงบางบัวทอง
จุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน
นอกจากนี้ 2. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 (ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565) เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 117 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.15 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากแผนฉบับเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ 110 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการจัดทำโครงการ PPP ที่ชัดเจน และช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น โดยแผนร่วมลงทุนฯ ฉบับนี้ได้ครอบคลุมถึงโครงการในเชิงสังคมในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านสาธารณสุข และด้านที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงวัย เป็นต้น