จับตาคมนาคมเตรียมลักไก่ กระเตงผลประมูลสัมปทานรถไฟ้า สายสีส้มเข้า ครม. ก่อนปีใหม่ ท้ังที่ "ศักดิ์สยาม" ลั่นปากต้องเคลียร์หน้าเสื่อประเด็นร้อนที่ถูกฟ้องให้จบก่อน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมมีความพยายามจะนำผลการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม มูลค่า 1.427 แสนล้านบาท เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เห็นชอบและจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญ มีรายละเอียดของเนื้อหาโครงการและข้อเสนอทางการเงินที่ซับซ้อน จำเป็นจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและให้ความเห็นประกอบ จึงยังไม่มีการบรรจุเข้าสู่วาระ ครม.แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีความพยายามจะนำเสนอผลการประมูลโครงการนี้เข้าสู่วาระจร โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบผลประมูล เนื่องจากโครงการมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปีแล้ว ขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ได้แล้วเสร็จไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัมปทานเดินรถไฟฟ้าผูกติดอยู่กับโครงการก่อสร้างส่วนตะวันตก หากโครงการยังล่าช้าออกไปจะกระทบโครงการในภาพรวม ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเสียประโยชน์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำเป็นต้องใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐในระยะก่อสร้าง 6 ปี สูงกว่า 78,287 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องจัดทำรายละเอียดการใช้งบประมาณประกอบการพิจารณา ขณะที่ยังคงมีปัญหาในเรื่องปมส่วนต่างของข้อเสนอของบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูลที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสาธารณะ ซึ่งเชื่อว่าจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม รวมทั้งกรณีที่มีการร้องเรียน 1 ในบริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล มีคุณสมบัติขัดแย้งประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่ รฟม. ยังไม่ได้มีการสอบถามมายังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า จะยังไม่มีการลงนามในสัญญา จนกว่า รฟม. จะเคลียร์ปัญหาเรื่องที่ถูกฟ้องร้องต่างๆ ได้แล้วเสร็จ ซึ่งหากพิจารณาประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ มีทั้งกรณีความครบถ้วนในการปฏิบัติตามกรอบกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้ดำเนินการ ทั้งกรณีที่ปล่อยให้บริษัทเอกชนที่ขาดคุณสมบัติเข้ายื่นข้อเสนอ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก ซึ่งศาลปกครองได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่า เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งกรณีปมส่วนต่างข้อเสนอราคาของบริษัทเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกกว่า 68,000 ล้าน สูงกว่าข้อเสนอของบริษัทเอกชนที่เคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ก่อนหน้า ทั้งที่เนื้อหาและขอบข่ายการดำเนินโครงการยังคงเดิม และกรณีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นคณะผู้สังเกตุการณ์ประมูลตามมติ ครม. ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตปมส่วนต่าง และทำเรื่องให้นายกฯ เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ให้เกิดความกระจ่าง
“ตราบใดที่ประเด็นข้อขัดแย้ง และเรื่องที่ถูกยื่นฟ้องยังไม่มีความกระจ่าง ก็สมควรที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคม จะชะลอการดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะมีความชัดเจน ไม่ใช่เตรียมเร่งทิ้งทวนอย่างที่กำลังมีกระแสข่าวอยู่เวลานี้ เพราะยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า เบื้องหลังความพยายามทิ้งทวนโครงการนี้มีเรื่องของส่วนต่างทางการเงินเพื่อถอนทุนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่”