ถึงกับทำให้ กสทช.นั่งไม่ติด!
กับควันหลง “ลิขสิทธิ์บอลโลก2022” ที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ต้อง “เสียค่าโง่” อนุมัติงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนามเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 600 ล้าน สนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากฟีฟ่า เข้ามาให้คอบอลไทยได้ดู “สมใจอยาก”
แต่ไม่รู้ กกท. ไปทำอิท่าไหน ถึงดอดไปประเคนสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ว่าไปให้ “กลุ่มทรู” ชุบมือเปิบไปเสียฉิบ ทำเอา กสทช. ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวต้องมีหนังสือทักท้วงไปยัง กกท. ให้ปฏิบัติตามข้อตกลง MOU ที่ต้องดำเนินการให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ให้เป็นไปตามระเบียบและประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นธรรม เสมอภาคและทั่วถึง รวมทั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เงื่อนไข การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ หาไม่เช่นนั้น กสทช. ขอแจ้งยกเลิกข้อตกลงที่มี และ กกท. ต้องคืนเงินสนับสนุนที่ กสทช. ให้ไปคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 15 วัน
แต่คำตอบที่ได้รับจาก กกท.นั้น กลับยืนยันว่า กกท. ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อตกลง MOU ที่มีอยู่กับ กสทช.แล้ว และไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่ผิดเงื่อนไข โดยในส่วนของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ Must Have - Must Carry นั้น กกท.ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว หาก กสทช. ต้องการเงินสนับสนุนคืนก็คงต้องไปว่ากันในศาล
ทำเอา กสทช. นั่งไม่ติด ต้องทำหนังสือทวงคืนเงินสนับสนุน600 ล้านบาท คืนจาก กกท. พร้อมยืนยัน สิ่งที่ กกท.ดำเนินการไปขัดข้อตกลง MOU ที่มีอยู่กับ กสทช. เพราะเงื่อนไขการให้เงินสนับสนุนจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกในครั้งนี้กำหนดเอาไว้ชัดเจน กกท. จะต้องให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบการโทรทัศน์ในทุกแพลตฟอร์มของ กสทช. สามารถดำเนินการถ่ายทอดและแพร่ภาพรายการแข่งขันได้โดยเสมอภาค เป็นธรรม ปราศจากข้อจำกัดตามหลักเกณฑ์ กสทช.
ล่าสุด ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต 1 ในกรรมการ กสทช. ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Pirongrong Ramasoota ว่า 1. ในการรับเงินสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท กกท. มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช. ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และ กกท.ก็รับทราบก่อนการทำ MOU แล้วว่า กสทช. มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับกฎ must have / must carry เพราะ กกท.เคยมีประสบการณ์บริหารสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิคที่ ครม. ได้อนุมัติหลักการให้ กกท. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนการกีฬา (50%) ให้มาขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส (50%) ซึ่งในครั้งนั้น กกท. ก็ได้รับการสนับสนุนไปเช่นเดียวกับครั้งนี้
การที่ กสทช. ให้การสนับสนุนไปโดยเสียงข้างมากก็เข้าใจว่า กกท. จะสามารถดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การไปทำข้อตกลงหรือสัญญาใดๆ ตามมาที่ขัดแย้งกับ MOU ที่ได้ทำมาก่อนหน้า แม้จะอ้างข้อจำกัดใดๆ ย่อมไม่มีประเด็นให้หักล้างความไม่ชอบธรรมทางกฎหมายได้
2. ในประเด็นที่ กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ กกท. ปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน MOU และหากไม่ดำเนินการโดยทันที กสทช. จะดำเนินการแจ้งยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้ กกท. คืนเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่ กสทช. ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือนั้น เหตุที่ กสทช. ต้องดำเนินการเช่นนี้ เนื่องจากเงิน 600 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐที่กองทุน กทปส. จะต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่แรก ความเห็นส่วนตัวเราเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจ่ายเงินจากกองทุนอย่างชัดเจน จึงมีความเห็นเป็นเสียงข้างน้อยที่จะไม่ให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ดี กสทช. เป็นการทำงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม มติจึงต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก และเมื่อได้สนับสนุนออกไปแล้วปรากฎว่า การใช้จ่ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ MOU จึงมีการออกมติตามมาดังข้างต้น “ในความเห็นส่วนตัว มองว่า ณ จุดนี้ ความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตาม MOU ได้บังเกิดแล้ว การจะยกประโยชน์ให้ฝ่ายที่ละเมิด MOU กับ กสทช. และยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆที่เป็นผลพวงตามมาย่อมไม่เป็นการเยียวยาความเสียหายใดๆ และไม่สามารถลบล้างเจตนาที่จะละเมิด MOU กับ กสทช. ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ไปลงนามใน MOU กับผู้ประกอบการรายใหญ่”
เป็นอันว่าหนทางในอันที่ กสทช. จะทวงคืนเงินสนับสนุนจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 จาก กกท. ที่ดอดไปทำสัญญาประเคนสิทธิ์ที่ได้รับไปให้กลุ่มทรูอีกทอดนั้น ก็คงต้องไปจบที่ศาลอีกตามเคย (ยกเว้นจะมีใบสั่งจาก “มือที่มองไม่เห็น” สั่งให้จบๆ กันไปแบบ “มวยล้มต้มคนดู”)
เพราะเมื่อ กกท. ที่ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จากฟีฟ่า ประเคนสิทธิ์ถ่ายทอดดังกล่าวต่อไปให้กลุ่มทรูตามข้อตกลง และสัญญาที่จัดทำขึ้นให้กลุ่มทรูและทรูวิชั่นส์เป็นผู้ได้สิทธิ์ในการหาประโยชน์ได้แต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว ก็ต้องถือว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวถูก “เปลี่ยนมือ” ไปแล้ว ดังคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อ 2 ธ.ค. 65 ที่มีคำสั่งยกคำร้องของบริษัทซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ผ่านระบบ IPTV เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์
ส่วนใครหรือองค์กรใดจะไปไล่เบี้ยว่า เป็นการยกผลประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ของชาติประเคนเอกชน ผิด พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือเข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ต้องไปว่ากันที่ ป.ป.ช. หรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเท่านั้น
แต่เบื้องหน้า เบื้องหลังปมดราม่าลิขสิทธิ์บอลโลกที่จู่ ๆ ถูกบริษัทเอกชน “ชุบมือเปิบ” ไปดื้อๆ ที่นัยว่า เพราะมีผู้บริหารในสำนักงาน กสทช. ดอดไปให้คำปรึกษาแก่ กกท. ให้ดำเนินการในแนวทางนี้ จนทำให้ กสทช. ต้อง ”เสียค่าโง่” ที่ไม่เพียงจะถูกละเมิดข้อตกลง MOU ยังไม่สามารถจะบังคับให้เป็นไปตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ Must Have - Must Carry ของตนเองได้อีก
กรณีนี้ ถือเป็นการ “บอนไซ” องค์กรตนเองหรือไม่ สาธุชนที่ได้เห็นข้อมูลแล้วคงคิดได้ทั้งนั้น ยิ่งได้อ่าน รายงานการประชุม กสทช. ก่อนจะลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวไล่เบี้ยให้ กกท. ต้องคืนเงินสนับสนุน 600 ล้าน ที่ กสทช. อนุมัติให้ กกท. ไปนั้น ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าอ ก่อน กกท. ลงนามในข้อตกลงกับ กสทช. นั้น กกท.ได้หารือกับคณะทำงานใน กสทช. ที่มี “รองเลขาฯ กสทช.” เรื่องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากภาคเอกชน (เนื่องจาก กกท. มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หลังจาก กสทช.ไม่ได้อนุมัติงบประมาณให้ตามที่ร้องขอ)
ก่อนได้รับคำตอบจากรองเลขาฯ กสทช. ว่า สามารถดำเนินการได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ต้องยึดตามประกาศมัสต์แครี่ ของ กสทช. ทั้งยังมีข้อมูลยืนยันด้วยว่า กกท. รับทราบและเข้าใจดีว่า หากมอบสิทธิ์ Exclusive Right ให้กับกลุ่มทรูแล้ว จะส่งผลให้ IPTV รายอื่นจอดำ อันเป็นการขัดต่อกฎมัสต์แครี่ แต่ กกท. มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างให้เอกชนจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์มายัง กกท.ซึ่งในท้ายที่สุด ก็มีเพียงกลุ่มทรู เข้าร่วมให้การสนับสนุน
กลายเป็นว่า รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษากับ กกท. ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องประกาศมัสต์แครี่ ไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ และยังแนะแนวทางให้ กกท. ไปใช้กฎหมายลิขสิทธิ์แทนได้ ถ้าต้องหาเอกชนรายอื่นเข้ามาสนับสนุน ทั้งยังได้แนะนำให้ กกท. สามารถจะไปหาสปอนเซอร์ภาคเอกชนที่เป็น Operator เครือข่ายมือถือ และอินเตอร์เน็ต ก่อนจะมาจบลงที่กลุ่มทรูนี้
“ตัวแทนจาก กกท. ได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือ กกท.ได้หารือกับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากเอกชน และได้รับคำตอบจากบุคคลดังกล่าวว่า สามารถดำเนินการได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งในวันดังกล่าว มีผู้ร่วมพูดคุยประมาณ 3-4 ท่าน โดยเป็นเพียงการพูดคุยตกลงกันด้วยวาจา แต่ไม่มีการบันทึกรายละเอียดการเจรจาและหารือไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงกล่าวได้ว่า นายไตรรัตน์ และ กกท. ทราบเงื่อนไขตั้งแต่แรกว่า การถ่ายทอดสดครั้งนี้ ต้องอยู่ใต้ประกาศมัสต์แครี่ แต่เหตุใด นายไตรรัตน์ จึงชี้แนะต่อ กกท. เช่นนั้น โดยมีเจตนาที่จะเลี่ยงประกาศมัสต์แครี่ จนเป็นเหตุให้ กกท. ดำเนินการทำข้อตกลงกับเอกชนรายอื่น ด้วยเงื่อนไขที่ขัดต่อประกาศมัสต์แครี่”
พฤติกรรมของรองเลขาธิการ กสทช. ที่ดำเนินการไปตามรายงานข้างต้นนั้น คงเป็นเรื่องที่บอร์ด กสทช. ต้องกลับมาพิจารณาบทลงโทษเป็นการภายในว่า จะยังเชื่อมือผู้บริหารในสำนักงาน กสทช. รายนี้อยู่หรือไม่ จะยังคงให้ทำหน้าที่เป็น “หนอนบ่อนไส้” บอนไซองค์กรตนเองอยู่เช่นนี้ต่อไปหรือไม่
ไม่แปลกใจเลยที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ กสทช. ที่ต้องผ่าทางตันกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยมีข่าวว่า คณะทำงาน และอนุกรรมการ กสทช. 3 ใน 4 ชุดมีข้อสรุปไม่เห็นด้วยกับดีลควบรวมธุรกิจ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ถึงกับออกโรงยืนยัน นั่งยันว่า ไม่เป็นความจริงและสั่งไล่เบี้ยข้อมูลดังกล่าว โดยระบุว่า เป็น Fake News ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะพบว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง
ขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช. ยังมีการจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมธุรกิจ โดยมีการว่าจ้าง บล.ฟินันซ่า เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่บริษัทดังกล่าวมี Conflict of Interest เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับผู้ยื่นขอควบรวมกิจการเอง จึงทำให้รายงานที่ปรึกดษาอิสระที่ได้มามีความลำเอียง ก่อนถูกเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนกรณีดังกล่าว รวมทั้งให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ด้วย
อ่านแล้วก็ให้นึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าตีแตกเสียจริง นัยว่า สาเหตุที่ต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ได้เกิดจากเพราะกรุงศรีมัวแต่สั่งสมความมั่งคั่งเอาแต่ค้าขายจนลืมจัดทัพ แต่เพราะมีขุนนางบางคนที่เอาใจออกห่างอยากเป็นใหญ่เลยไปเข้าข้างพม่า ลอบเปิดประตูเมืองเสียเอง จนท้ายที่สุดพม่าที่ล้อมกรุงศรีนานนับปีก็สามารถบุกเข้าสู่พระราชฐานชั้นในกรุงศรีอยุธยาได้
กฎเหล็ก กสทช. ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ทุกแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการถ่ายทอดและเพร่ภาพรายการกีฬาที่มวลมนุษยชาติต้องได้ดูในทุกแพลตฟอร์มที่ กสทช. ออกมา เพื่อแก้ลำนายทุนหัวใสในอดีตที่ดอดไปซื้อลิขสิทธิ์มาผูกขาดการทำตลาด โขกผลกำไรเข้าพกเข้าห่อกันมันมือนั้น
ท้ายที่สุด วันนี้ก็ถูกคนใน กสทช. ด้วยกันนั่นแหล่ะ ช่วยพลิกหาช่องทางหลบเลี่ยงเสี่ยง จนทำให้กฎเหล็ก กสทช.บ้อท่า ไร้น้ำยาอย่างที่เป็นอยู่ กระทั่งก่อให้เกิดคำถามว่า ขนาดกฎเหล็ก กสทช. ยังบ้อท่า ไร้น้ำยาแล้ว “มาตรการเฉพาะ” 14 ข้อเพื่อกำกับดูแลกรณีควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ที่ กสทช. เพิ่งจะไฟเขียวอนุมัติกันออกไปจะไปมีน้ำยาอะไร?
แก่งหิน เพิง