จากวลี...ไอ้โง่ สู่แผนปฏิบัติการดูด ส.ส.เข้าพรรค นำไปสู่แรงบีบจากสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งอาจพูดได้ว่า...สถานีต่อไป “ยุบสภาฯ” เกิดได้เร็วที่หลายคนคาดคิดเอาไว้...ก็เป็นไปได้!!!
“ไอ้โง่” คำพูดโชว์สกิลบูลลี่...ที่เจ้าของวลีร้อนแรงอย่าง “สหายแสง” หรือ ครูแก้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย “สบถ” บนเวทีการเมือง ระหว่างการเปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม” ของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในสังคมการเมือง ขยายวงกว้างไปยังสังคมไทย และอาจกลายเป็นประเด็นในทางคดีความตามมา ลองย้อนกลับไปฟังสิ่งที่ นายศุภชัย คนที่รั้งเก้าอี้ “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” คนที่ 2 ได้พูดเอาไว้..
“ผมสงสาร ส.ส.สกลนคร และ ส.ส.อุดรธานี ที่อภิปรายในสภาฯ เรื่องงบประมาณทีไร ก็ด่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ทำไมเอางบประมาณไปพัฒนาแต่จังหวัดบุรีรัมย์มากมาย ทำไมต้องไปพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ หรือจังหวัดสุรินทร์ แล้วสุดท้ายมาลงที่จังหวัดนครพนม ทั้งที่นครพนมมี ส.ส.ไม่กี่คน ทำไมเอางบมาลงเยอะเหลือเกิน
ผมเป็นประธานคนบัลลังก์ อยากจะบอกมันว่า ก็นครพนมมี ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยอยู่ที่นี่ไงไอ้โง่ นี่มันโง่จริงหรือมันแกล้งโง่ ถ้าสกลนครอยากได้งบพัฒนาเยอะๆ มึงเลือกฝ่ายรัฐบาลซิ เลือกพรรคภูมิใจไทยสัก 6-7 เขต รับรองสกลนครเจริญทัดเทียมจังหวัดนครพนมอย่างแน่นอน"
ลำพังแค่ “คำสบถ” หลุดออกจากปาก “ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ” ซีกรัฐบาล ก็ดูแย่สุดๆ อยู่แล้ว แต่คนพูด...ยังมีตำแหน่งเป็นถึง “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” คนที่ 2 ที่หลายครั้ง...ถูกตั้งคำถาม ทั้งจาก ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และสังคมไทย ถึงการปฏิบัติหน้าที่ แทนประธานสภาฯ ในทุกๆ ครั้งที่ตัวหน้าที่ตรงนั้น
ว่าที่สุดแล้ว... มันยืนอยู่บนหลักการแห่งอำนาจนิติบัญญัติ และผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนมากน้อยแค่ไหน? หรือจงใจจะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนตัวเอง ทั้งพรรคต้นสังกัดและฝ่ายรัฐบาล และดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม คือ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน
แม้จะมีคำสารภาพกลางสภาฯ จากเจ้าตัวตามมา ทว่าก็ไม่ได้ทำให้วลี “ไอ้โง่” จางหายไปความทรงจำในทางการเมืองของคนไทยแต่อย่างใด
โชคดีที่ “สหายแสง” ไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย เลยไม่ส่งผลสะเทือนไปถึงการยุบพรรคฯ ที่อาจจะมีตามมา และที่สำคัญ...ไอ้โง่ คงไปไม่ถึงแผนการสกัดกั้นมิให้ “หัวหน้าพรรคฯ” ของตัวเอง ได้ก้าวสู่ฝั่งฝันเป็น...นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในความคิดของพวกเขา
ประเด็นสำคัญตามมา คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีสิทธิ์ “ขึ้นชั้น” เถลิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป....ได้จริงหรือ?
คำตอบ ณ นาทีนี้ คือ มีโอกาสสูงทีเดียว!!!
เหตุผลสนับสนุน ก็คือ...พลังดูด! ที่ก่อนหน้านี้ พรรคอันดับสองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้เปิดแผนปฏิบัติการ “ดูด ส.ส.” ทั้งที่เป็น “กลุ่มงูเห่า” จากพรรคฝ่ายค้าน และแผน “ตกปลาในบ่อเพื่อน” จากพรรคร่วมรัฐบาล
ภาพที่บรรดา ส.ส. แห่กันมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยรวม 34 คน เมื่อวัน “หวยออก” กลางเดือนธันวาคม 2565 นั้น ทำให้ยอด ส.ส. ของพรรคแห่งนี้ มีรวมกันมากกว่า 100 คนเข้าไปแล้ว
ทว่า ลำพัง ส.ส.ในมือเพียงแค่นี้...คงไม่สามารถจะดันให้ นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจ ขึ้นไปชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ จำเป็นจะต้องประสานกับบรรดา “พี่บิ๊ก” ในฝั่งรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะ “2 ลุง” ที่วันนี้...ต่างก็จำนนต่อโชคชะตา “ไปต่อไม่ได้” จำต้องเลือกหนทางเดิมที่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
นั่นคือ แผนการปฏิบัติการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เพื่อทำลายฝัน “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ผ่านวิธีคิด...แยกพื้นที่ที่ ผู้สมัคร ส.ส.ฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีฐานคะแนนเสียงเสียง ออกจากพื้นที่ที่คะแนนเสียงต่ำ แล้วนำไปมัดรวมกับพื้นที่ที่มีคะแนนสูงอื่น ที่อยู่ในแอเรียใกล้กัน
ปล่อยให้มีการ “มัดก้อน” พื้นที่ที่ตัวเองมีฐานคะแนนเสียงต่ำรวมกันให้ผู้สมัคร ส.ส.ของฝ่ายค้าน ได้ไป...
นั่นเท่ากับ...ได้หนึ่ง เสียหนึ่ง ซึ่งมันดีกว่าโดนกินรวบทั้ง 2 เขต และนำไปสู่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า...เกิดเป็นสภาวะ “แลนด์สไลด์”
ด้วยกลยุทธ์ ดับ “แลนด์สไลด์” ในทุกวิถีทาง
หันไปดู...เหตุผลที่บรรดา ส.ส.เหล่านั้น จำต้องหาพรรคใหม่สังกัด ก็ด้วยเพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุเอาไว้ว่า...
รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีครบวาระสภา หรือ 30 วัน กรณียุบสภา
ปรากฏการณ์ “ย้ายคอก” จึงมีให้เห็นในวันลุ้นรวยจากหวยรัฐ..
ส.ส.ที่พากันมาสมัครเข้าพรรคฯ รองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แยกเป็น...ส.ส.จากพรรคอันดับหนึ่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พลังประชารัฐ ที่มีมากถึง 13 คน จาก พรรคเพื่อไทย 8 คน จาก พรรคก้าวไกล 5 คน จาก พรรคเศรษฐกิจไทย 2 คน และจากพรรคเล็กอื่นๆ อีก 6 คน รวมเป็น ส.ส. 34 ชีวิต ที่ย้ายสังกัดเข้าคอกแห่งใหม่ “เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียงลุงเน” แล้ว
และผลจากการที่ ส.ส.แห่กันเข้าสมัครพรรคภูมิใจไทย เป็นเหตุให้พวกเขาต้องลาออก ก่อเกิดเป็นสถานะการ “สิ้นสภาพ” ความเป็น ส.ส.ไปในบัดดล
ทำให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่เหลือน้อยในปัจจุบันอยู่แล้ว เหลือน้อยเข้าไปอีก
ทั้งการลาออกของ ส.ส. ล็อตใหญ่ 34 คน ทำให้เหลือ ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้แค่เพียง 439 คน แบ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 247 คน และฝ่ายค้าน 192 คน ขณะที่การนับจำนวนของภาวะที่เรียกว่า “ครบองค์ประชุม” จะอยู่ที่ 220 คน
หมายความว่า รัฐบาลมีเสียงเกินองค์ประชุมอยู่ 27 เสียง อย่างไรก็ตาม หากหัก “เสียงรัฐมนตรี” ที่เป็น ส.ส. จำนวน 12 คนออกไป รัฐบาลก็จะเหลือเสียงในสภา 235 เสียง เกินองค์ประชุมมา 15 เสียง
เรียกว่า...เสียงปริ่มน้ำในยามที่ต้องอาศัยเสียงโหวตผ่านกฎหมายสำคัญๆ จาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาล และ 15 เสียงที่เกินมานั้น ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยเพราะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเอง มีบางส่วนที่จะขอย้ายกลับมายังพรรคการเมืองหลักในฟากของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เมื่อรวมกับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ที่อยากเห็นการยุบสภาฯ เกิดขึ้นได้เร็วกว่าการจะปล่อยให้ “ลูงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชิงประกาศยุบสภาฯ
เมื่อ “2 กฎหมายลูก” เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้รับการประทานลงมาในห้วงเวลาก่อนหรือหลังปีใหม่ไม่นาน อาจเป็นสาเหตุที่จะบีบให้ พลเอกประยุทธ์ ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ โดยที่เจ้าตัวเองก็คงไม่อยากจะทำสักเท่าใดนัก?
แต่เพราะเสียง ส.ส.โหวตหนุนในสภาฯ มีไม่มีเพียงพอ เลยต้องไหลไปตามแรงบีบจากพรรคฝ่ายค้าน
ถึงบรรทัดนี้ สำนักข่าวเนตรทิพย์ มองเห็นปรากฏการณ์ที่ว่า...การยุบสภาฯ อาจเกิดขึ้น ภายหลังจากที่คนไทยได้จัดงานเลี้ยงรื่นเริงเฉลิมฉลองในห้วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปแล้ว..ไม่นานนัก!