ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (15 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการจัดประมูลอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศให้เอกชนที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์จำนวน 3 รายผ่านเข้าร่วมประมูล โดยคณะทำงานได้เริ่มประมูลวงโคจรดาวเทียมชุดที่ 4 วงโคจร 126 อี ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการรายเล็ก เนื่องจากมีราคาเริ่มต้น 8.6 ล้านบาท ซึ่งใช้เวลา 2 นาที มีผู้สนใจเคาะประมูล 1 ราย คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคาะจบที่ราคา 9,076,200 ล้านบาท เป็นผู้ชนะประมูล
จากนั้น เป็นการประมูลวงโคจรดาวเทียม ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5 อี และวงโคจร 120 อี สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397,532,000 ล้านบาท ใช้เวลาประมูล 6 นาที มีผู้เคาะประมูล 1 ราย จบที่ราคา 417,408,600 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
ขณะที่การประมูลในชุดที่ 5 วงโคจร 142 อี ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาทเศษ ราคาตั้งต้น 198,654,250 ล้านบาท ใช้เวลา 7 นาที ไม่มีผู้สนใจการประมูล จากนั้นในเวลา 11.00 น. จึงเริ่มประมูลชุดที่ 2 วงโคจร 78.5 อี ซึ่งเป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ราคาเริ่มต้น 360,017,850 ล้านบาท มีการแข่งขันเคาะประมูล 2 รอบ ใช้เวลาประมูลราว 10 นาที โดยมีผู้สนใจ 2 ราย จบที่ราคา 380,017,850 ล้านบาท โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
และประมูลชุดสุดท้าย ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5 อี(องศาตะวันออก) และวงโคจร 51 อี เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ยุโรป โดยมีราคาเริ่มต้น 374,156,000 ล้านบาท ใช้เวลา 6 นาที แต่ไม่มีผู้สนใจเคาะราคา
ทั้งนี้ ผลการประมูลทั้ง 5 ชุด ใช้เวลาประมูลไปเพียง 31 นาทีเท่านั้น สามารถประมูลออก 3 ชุด คือ ชุดที่ 2 ชุดที่ 3 และชุดที่ 4 โดย กสทช. มีรายได้จากค่าธรรมเนียมรวมเป็นเงิน 806,502,650 ล้านบาท ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. จะมีการประชุมในวันที่ 15 ม.ค. หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการต่อไป และจะรับรองผลการประมูลในการประชุมบอร์ดวันพุธที่ 18 ม.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน การประมูลสิทธิการเข้าใช้งานวงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 ม.ค.นี้ โดยอ้างว่า เนื่องจากวงโคจรดาวเทียมถือว่าเป็นสมบัติของชาติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 ซึ่งระบุไว้ชัดว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติมาเปิดประมูลประเคนให้เอกชนดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60
โดยในส่วนนายอนุดิษฐ์ ระบุว่า จะทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) เพื่อขอให้เรียก กรรมการ กสทช. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการดีอีเอส เพื่อให้พิจารณาทบทวน และชะลอการเปิดประมูลการให้สิทธิตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไว้ก่อน พร้อมเสนอให้พิจารณาจัดสรรวงโคจรดาวเทียมให้หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดีอีเอส เป็นต้น เพื่อนำไปจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ หากมีสล็อตที่เหลือก็สามารถนำไปให้เอกชนไปใช้งานโดยใช้วิธีสัมปทานต่อไป