ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมงงเป็นไก่ตาแตก!
กับเรื่องที่ นายไตรรัคน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อวันวานถึงกรณีที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ AIS รุกคืบเข้าซื้อกิจการ 3BB มูลค่ากว่า 32,000 ล้าน หวังผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้านบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
ที่จริงดีลการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของ AIS นั้น มีมาตั้งแต่กลางปีก่อนแล้ว แต่ในช่วงนั้นถนนทุกสายมัวไปให้ความสนใจกับดีลควบรวมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมระหว่าง “ทรูและดีแทค” จนกลบกระแส AIS-3BB ซะมิด กระทั่ง กสทช. ปิดดีลควบรวมทรูดีแทคไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กระแสดีลเข้าซื้อกิจการ 3BB จึงโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กสทช. ยังไม่ได้อนุมัติ เพราะบริษัทยังส่งเอกสารไม่ครบ ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมงงเป็นไก่ตาแตก ที่จู่ๆ กสทช. ลุกขึ้นมาตรวจสอบและบอกว่า ตัวเองมีอำนาจที่จะพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ขึ้นมา
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึงขวบเดือน กสทช. ออกมายืนยัน นั่งยันว่า ตนเองไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาดีลควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค ทั้งที่เข้าประกาศควบรวมธุรกิจกันโครมๆ สะเทือนฟ้าสะเทือนดินขนาดนั้น กลับบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ทำได้แค่เพียงนำมาตรการเฉพาะ หรือมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะมาใช้บังคับก่อน-หลังการรวมธุรกิจเท่านั้น
ทำเอานักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกือบทุกสถาบันในไทยและในโลกแทบจะลุกขึ้นมาแหกอก กสทช. และเผาตำราควบรวมกิจการทิ้งกันไปซะให้รู้แล้วรู้แร่ด
แล้วจู่ๆ กสทช. ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวว่า ตนเองมีอำนาจที่จะพิจารณาดีควบรวม หรือการซื้อกิจการที่ว่านี้ตั้งแต่เมือไหร่? ในเมื่อกรณีนี้ก็เจริญรอยตามการควบรวมธุรกิจ หรือเข้าซื้อกิจการตามรอยทรูและดีแทคทุกกระเบียดนิ้ว! ยิ่งกรณีควบรวม “ทรูและดีแทค” นั่น เป็นการควบรวมธุรกิจและเข้าถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันแท้ๆ ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาตำราควบรวมธุรกิจ เปิดอำนาจตามกฎหมาย กฎระเบียบและประกาศ กสทช. ข้อไหนๆ ทุกฝ่ายต่างก็ยืนยัน นั่งยันว่า เป็นกรณีที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมปี 2549 ที่ กสทช. มีหน้าที่ต้องพิจารณาอนุมัติ-หรือไม่อนุมัติ
ที่ไหนได้ กสทช. กลับตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี “หักดิบ” กฎหมายที่ตนเองมีอยู่ โดยมีมติเสียงข้างมากยืนยันว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมทรูและดีแทคที่ว่านี้ เพราะถือเป็นการเข้าถือครองธุรกิจที่ไม่อยู่ในขายตามประกาศ กทช. ปี 2549 ที่ต้องขออนุมัติจาก กสทช.
แต่พอ AIS ประกาศเข้าซื้อบริการ 3BB เพื่อหวังทะยานขึ้นเป็นเจ้าตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้เป็นการผูกขาดธุรกิจหรือจะส่งผลให้ตลาดบรอดแบนด์ถูกผูกขาดอะไรไปแม้แต่น้อย เพราะไม่ได้เป็นกิจการที่ต้องใช้คลื่นความถี่หรือผูกขาดโดยใช้คลื่นความถี่ ใครอยากจะลุยกำถั่วธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างไรก็สามารถจำไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. ทุกเมื่อ
แต่กรณีดังกล่าว กสทช. กลับอ้างว่า มีอำนาจพิจารณาขึ้นมาทันที
คงต้องถามกลับไปยัง กสทช. ว่า ช่วยหาเหตุผลที่จะติดเบรกสั่งระงับดีลควบรวมกิจการ AIS-3BB มาสัก 3 ข้อทีว่ามีอะไรบ้าง ทำไมจู่ ๆ กสทช. กลับจะมา “มีอำนาจ” ในการพิจารณาดีลซื้อกิจการหรือถือครองธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตขั้นมาได้ จู่ๆ อำนาจที่ว่า มันลอยมาจากไหนหรือ?
ทำไมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันน้อยราย และองค์กรกำกับทั่วทั้งโลกเขาไม่ยอมให้มีการควบรวมที่จะนำไปสู่การผูกขาด และถนนทุกสายต่างก็ยืนยัน นั่งยันว่า กรณีดังกล่าว กสทช. จะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น แต่ กสทช. กลับไฟเขียวเห็นชอบดีลควบรวมไปด้วยเหตุผลที่ทำเอาทุกฝ่ายอึ้งกิมกี่มาแล้ว
หากจะอ้างว่า การควบรวมธุรกิจหรือการรุกคืบเข้าเทคโอเวอร์ 3BB ของ AIS มีความแตกต่างกับดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค จึงทำให้ กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ หรือมีอำนาจพิจารณาขึ้นมาได้ ก็คงต้องย้อนถามท่านเลขาธิการ กสทช. และ กสทช. ว่า “แตกต่างกันตรงไหนเอาปากกามาวง”
แก่งหิน เพิง