จดหมายเปิดผนึกของ ”บิ๊กป้อม” ตีแผ่ถึงการรัฐประหาร ที่ผ่านมา สะท้อนภาพอะไรหลายๆ อย่าง ต่อความสัมพันธ์ของ “พี่น้อง2 ป.” และพุ่งเป้าไปสู่การแข่งขันทางการเมืองอย่างดุเดือด ในช่วงใกล้ทำศึกเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสข่าว “ยุบสภา” เพื่อชิงความได้เปรียบระหว่างสองขั้วอำนาจ และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
เป็นการออกมาเปิดใจอย่างหมดเปลือก สำหรับ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต่อกรณี "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึก ฉบับล่าสุด แสดงท่าทีโจมตีการรัฐประหาร และสรุปตบท้ายอย่างเจ็บปวดว่า ในฐานะที่เติบโตมาในกองทัพ และได้เข้าสู่วงการเมือง พบว่า อำนาจที่มาจากรถถัง และปากกระบอกปืน ส่วนใหญ่ไม่ยืนยง และในที่สุดจะพ่ายแพ้ต่อระบอบประชาธิปไตย จากเสียงของประชาชน
ไปดูคำตอบของ "บิ๊กตู่" ชัดๆ อีกครั้ง ..."ก็แล้วแต่ท่าน จะเขียนอะไรเป็นสิทธิ์ของท่าน ถามว่าวันนี้ใครจะรัฐประหาร ใครจะทำ ผมถาม ผมเคยพูดไปตั้งนานแล้วว่า มันเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว มันไม่ควรจะมีอีกแล้ว และมันอยู่ที่พวกเราจะช่วยกันได้อย่างไร ถ้าขัดแย้งรุนแรงกัน ผมก็ไม่รู้มันจะแก้ปัญหาด้วยอะไร เพราะผมไม่เกี่ยวแล้ว"
...ส่วนเมื่อถามว่า ที่มีกระแสพูดถึงเรื่องการรัฐประหารในช่วงนี้ เป็นการดิสเครดิตนายกฯ ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นายกฯ มีที่มาแบบนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "นานแล้วนะ เธอก็ชอบมาถามมาแบบนี้ ก็แน่นอน เขาต้องดิสเครดิตเราแน่นอน แต่ก็อธิบายชี้แจงไปก็หลายครั้ง ว่าทำไมต้องทำ ในสภาก็พูด อะไรก็พูด ก็คิดเอาเองแล้วกัน"....
ฟังแล้วก็ไม่ต้องไปตีความ ให้มันยุ่งยาก “บิ๊กตู่" ยืนยัน หากจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก "ผมไม่เกี่ยวแล้ว" และเมื่อถูกสื่อจี้ถามย้ำว่า หากผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร , เศรษฐา ทวีสิน และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ชนะการเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงฝั่งประชาธิปไตย จากพรรคก้าวไกล เสรีรวมไทย และพรรคอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งเดียวกัน จัดตั้งรัฐบาลได้
ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ กระแสข่าวการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง เพื่อไทย กับ พลังประชารัฐ โดยเปิดทางให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่มีนโยบายสลายขั้วความขัดแย้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี เพื่อไทย ร่วมเป็นรัฐบาล โดยปล่อยให้ “บิ๊กตู่” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม แม้กรณีดังกล่าว จะเป็นแค่การจินตนาการของใครบางคนที่อยู่รอบกาย “บิ๊กป้อม” และเป็นข้อเสนอที่ส่งให้คนแดนไกลที่อยู่เหนือ เพื่อไทย เพื่อพิจารณา ซึ่งอาจจะผ่านเลยไป ล่องลอยเหมือนปุยเมฆบนท้องฟ้า ที่เอาแน่อะไรไม่ได้ แต่ที่สำคัญ ย่อมใส่ลิ้นชักลั่นดานเก็บไว้ และอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมามาพิจารณา เมื่อถึงความจำเป็น ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ! ตามสัจธรรมที่ว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”
สื่อไม่ได้ตั้งคำถามนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยังพยามนำความสนใจถึงเรื่องเดิม คือ รัฐประหาร ถึงบทบาทของ กองทัพ หลังการเลือกตั้ง กองทัพจะไม่ทำรัฐประหาร เหมือนอดีตที่ผ่านมา จากรัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ กลายเป็น ประวัติศาสตราซ้ำรอย อีกครั้งหรือไม่ ???
"เรื่องอำนาจนิยม และ การรัฐประหาร เลิกได้แล้วตั้งแต่ปีไหนมาแล้ว ผมมายืนตรงนี้มายืนด้วยอะไร รัฐธรรมนูญไม่ใช่เหรอ ด้วยระบบสภาไม่ใช่เหรอ แล้วในช่วงก่อนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ลองดูซิว่า ถ้ามันไม่มีอะไรที่ทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น ถึงวันนี้เราจะยืนอยู่แบบนี้ได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย"
เป็นคำตอบสุดท้าย ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารคนสุดท้ายของประเทศไทย
ดังนั้น นับจากนี้ การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายรอคอยกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการระบุวันชัดเจนว่า จะ "ยุบสภา" เมื่อไหร่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แย้มๆ มาว่า การประชุม ครม. จะเหลืออีก 1-2 นัดสุดท้าย
ซึ่งถ้าเทียบไทม์ไลน์ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. หลังจากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ไม่นับรวมคนต่างด้าว เป็นราษฎร ใช้คำนวณ ส.ส. กกต. ได้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นตามคำวินิจฉัย โดยเฉพาะใน 8 จังหวัด มีการเปลี่ยนแปลง จำนวน ส.ส.โดย มี 4 จังหวัด ได้ ส.ส. เพิ่ม คือ อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช และปัตตานี ขณะที่ 4 จังหวัดมี ส.ส. ลดลง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และ สมุทรสาคร
โดยมีการนับจำนวนประชากรตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 โดยไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย มีทั้งสิ้น 65,106,481 คน กกต.คำนวณ ส.ส. พึงมี ณ วันที่ 3 มี.ค. 2566 จำนวนราษฎร 162,766 คน จะได้ ส.ส. 1 คน
หลังจากนี้ ไม่ว่าจะมีการ "ยุบสภา" หรือ รัฐบาล "ครบวาะ" ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก เอากันง่ายๆ รัฐบาลชุดนี้เข้าบริหารบ้านเมือง เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2562 ดังนั้น 23 มี.ค.2566 คือ วันครบวาระ 4 ปี โดย กกต. กำหนดไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ไว้เรียบร้อยนานแล้ว ดีเดย์ วันเลือกตั้ง คือ 7 พ.ค.2566
แต่ถ้า "บิ๊กตู่" ประกาศ "ยุบสภา" ซึ่งจะเป็น เมื่อไร ไม่ชัดเจน เพราะนายกฯ พูดเรื่องนี้มาหลายครั้ง ซึ่งถ้านับห้วงเวลาตามกฎหมาย ไม่ต่างกันนัก นั่นคือ ถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ จะต้องเลือกตั้งในเวลา 45 วัน แต่ถ้ายุบสภา ต้องเลือกตั้งในเวลา 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุถึง กระแสข่าวอาจยุบสภา วันที่ 20 มี.ค.66 ซึ่งใกล้วันครบวาระของรัฐบาล วันที่ 23 มี.ค. จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ว่า "ไม่มีปัญหา เพราะในข้อกฎหมายสามารถทำได้ แม้จะเหลือแค่ 1 วัน ก่อนครบวาระก็สามารถทำได้ เหมือนกรณีรัฐบาลนายชวนหลีกภัย 2 นั้น ก็ยุบสภาแม้จะใกล้เลือกตั้งแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเลือกใช้วิธียุบสภา คือการให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย"
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ นับจากวินาทีนี้ ไม่ใช่ "ยุบสภา" แต่คือ การเปิดหน้าชูนโยบายหาเสียง เพื่อเตรียมทำศึกเลือกตั้ง เป็นการงัดกลยุทธ์ กระสุนดินดำ ทำทุกวิธี เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง และทั้งหมด คือ ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้มาพร้อมกับความคาดหวังของประชาชน ซึ่งต่างอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความเป็นอยู่และปากท้อง รวมถึงนโยบายแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
เสียงสะท้อนนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายการเลือกตั้ง 2566 ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รวบรวมผ่านตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยากเห็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ว่าจะวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างไร รวมทั้งตรวจสอบได้ และที่สำคัญมีรายละเอียดเกี่ยวกับกับการใช้งบประมาณ
ในผลการสำรวจ ยังระบุถึงปัญหาที่ต้องการเร่งให้มีการจัดการแก้ไขมากที่สุด คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมาเป็นการศึกษา และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นทิศทางที่คนไทยอยากเห็นจากการเลือกตั้ง 2566
การเลือกตั้งแต่ละครั้ง สามารถแบ่งนักการเมืองได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยากเข้าสู่อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และกลุ่มที่เข้าสู่อำนาจโดยยอมหลับตาข้างเดียว เพื่อให้อยู่ในอำนาจ ทั้ง 2 กลุ่มนี้ คนไทยไม่อยากเห็น และอยากเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย
ที่สำคัญ การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่สมาชิกวุฒิสภาจะมีโอกาสได้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงยิ่งมีความสำคัญในการวางรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคง แต่การหาเสียงกำหนดนโยบายแบบ "เกทับบลัฟแหลก" เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะมีแนวโน้มว่า
หลังเลือกตั้งจะได้รัฐบาลผสม หากต้องนำทุกนโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลมาดำเนินการ อาจสร้างความเสียหาย จนนำไปสู่วิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 61 ของจีดีพี เพราะหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้ทุกพรรคการเมืองทบทวนนโยบายหาเสียง ห้ามใช้เงินเกินกว่าวงเงินที่เคยเสนอต่อ กกต. และไม่ใช้เงินนอกงบประมาณ เพื่อสร้างความรับผิดชอบในการดำเนินนโยบายต่อประชาชน
การเลือกตั้ง วันที่ 7 พ.ค.นี้ ถือเป็นวาระคนไทยที่ต้องร่วมกันกำหนดอนาคตชาติ เพราะอำนาจในมือประชาชนมีแค่ก่อนหย่อนบัตร แต่เมื่อบัตรลงกล่องไปแล้ว อำนาจจะเปลี่ยนมือไปเป็นของผู้แทน อยากเห็นการบริหารที่โปร่งใส จึงต้องไม่เลือกคนซื้อเสียง หยุดขายเสียง สร้างจุดเปลี่ยนประเทศ ที่ประชาชนคือผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง!
ไม่เปิดช่องให้คนใช้เงินลงทุนซื้ออำนาจ นำอำนาจนั้นมาสูบเลือด สูบเนื้อจากภาษีประชาชน !!