ฉับพลันที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายชั้นบรมครูของรัฐบาล ออกมากล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับข้าราชการและบริษัทเอกชนรวม 13 คน รวมทั้ง “เจ้าสัว คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC กรณีที่ กทม.ว่าจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว!
โดยนายวิษณุออกตัวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลล้านเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ที่รัฐบาลคงไม่สามารถจะ “ก้าวล่วง” ลงไปทำอะไรได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ดำเนินการเอง หลักฐานทุกอย่างก็อยู่ที่ ป.ป.ช. ทั้งยังยอมรับด้วยว่าเรื่องนี้ เป็น “เรื่องการเมือง” นั้น
ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติแน่ การที่ ป.ป.ช. หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา “ทิ้งบอมบ์” ในห้วงเวลานี้ น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแอบแฝงแน่ !
แม้กรณีการจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 สายทางดังกล่าว จะเป็นเรื่องที่ถูกร้องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.เอง ก็มีการตั้งอนุกรรการไต่สวนมาตั้งแต่ปีมะโว้ แต่ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีกระแสยืนยันชัดเจนว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ “ยกคดี” ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2563
เพียงแต่ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า หากจะยกคดีไปเลยก็อาจถูกมองว่าช่วยเหลือบีทีเอสซี เพราะราคาหุ้น BTS ในช่วงเวลานั้นพุ่งกระฉูดอย่างเห็นได้ชัด จึงได้เก็บงำแฟ้มคดีดังกล่าวเอาไว้อย่างนั้นโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ
วันดีคืนดีขณะที่ถนนทุกสายต่างพุ่งเป้าไปยังการตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่กำลังระอุแดด โดยที่โครงการดังกล่าวก็ถูกร้องมายัง ป.ป.ช. ด้วย หลายฝ่ายได้แต่ตั้งคำถาม เหตุใดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงไม่มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนกรณีดังกล่าว
เท่านั้นแหละ จู่ๆ กรรมการ ป.ป.ช. ที่ทุกฝ่ายต่างก็รู้กันดีว่ามีสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝ่ายการเมืองที่กำลังตกเป็น “เป้ากระสุนตก” ก็ให้อนุกรรมการไต่สวนคดี BTS ขึ้นมาพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เมื่อ 30 พฤศจิกายน 65 ก่อนมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์” และผู้เกี่ยวข้องทั้ง 13 คน
โดยไม่มีใครทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดผลสรุปของคดีนี้จึงพลิกผันไปชนิด “หน้าเมือเป็นหลังมือ” ไปได้ แน่นอน! เมื่อเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว สังคมคงได้แต่เงียบกริบ และรอฟังบทสรุปสุดท้ายของเส้นทางจะจบลงอย่างไร จะมีการ “ชี้มูลความผิด” ถึงขั้นดำเนินคดีกับใครหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของบริษัทเอกชน BTSC นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เพียงจะทำให้หุ้นของบริษัทไหลรูดไปมากกว่า 10-15% และคงอีกนานกว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ยังทำให้เส้นทางการทวงหนี้ค้างกว่า 40,000 ล้าน ที่บริษัทยื่นโตติ๊สไปยัง กทม. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองก่อนหน้านั้น เกิดความชะงักงัน ไม่รู้จะไปจบกันตรงไหน?
และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม. และบริษัทกรุงเทพธนาคม ต้องร่วมกันชดใช้หนี้ค้างก้อนนี้ที่มีกว่า 40,000 ล้าน รวมทั้งหนี้เดินรถในอนาคตที่จะเกิดตามมาร่วมแสนล้าน ก็ไม่รู้ กทม. จะถือปฏิบัติอย่างไร เพราะ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดสัญญาจ้างเดินรถที่ว่านี้ไปแล้วเช่นนี้
แถมยังทำให้เส้นทางการต่อขยายสัญญาสัมปทานที่ กระทรวงมหาดไทย และ กทม. “ตั้งแท่น” ดำเนินการเจรจาจนได้ข้อยุติ เตรียมนำเสนอผลการเจรจาต่อสัมปทานสายสีเขียว 30 ปี ให้แก่บริษัท จากที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ไปเป็นปี 2602 ต้องถูก “ปิดประตูลั่นดาน” ลงไปด้วยอีก
ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีทำสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าออกมาเช่นนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและสั่งให้บริษัทต้องยุติการเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายทุกเส้นทางในทันทีหรือไม่? หาไม่แล้วก็อาจถูกลากเข้าปิ้งฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอาได้อีก!
นอกจากนี้ ผลสรุปของ ป.ป.ช.ที่ออกมา ยังทำให้สังคมตั้งข้อ “กังขา” หากกรณีการทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางไปจนถึงปี 2585 เป็นการขยายสัญญาสัมปทานที่แหกกฎหมายร่วมทุน ปี 35 ดั่งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว
แล้วกรณีที่ กทม. และกระทรวงมหาดไทย “ตั้งแท่น” เตรียมนำเสนอผลการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ของ กทม. ที่มีอยู่กับ BTSC ตามคำสั่ง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่ใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ 3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาสัมปทานสายสีเขียว จนนำมาสู่ข้อยุติที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้แก่ BTSC ออกไป 30 ปีจากปี 2572-2602 นั้น คืออะไร?
ตกลง กทม. และบริษัทเอกชน BTS ดอดขยายสัญญาสัมปทานกันไปก่อนหน้าแล้วกระนั้นหรือ หากเป็นเช่นนั้น กทม. - มท. จะ “ตั้งแท่น” ชงแก้ไขและต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส 30 ปี ไปเพื่ออะไรกันอีก?
“แก่งหินเพิง” ที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ “เนตรทิพย์” อดีตคอลัมนิสต์ “นสพ.ไทยรัฐ” ผู้ที่คว่ำหวอดอยู่กับกฎหมายฉบับนี้ และเคยตีแผ่และรวบรวมเนื้อหาของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 เป็นตำราที่ชื่อ “พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 : หนามยอกอกเมกะโปรเจ็กต์” ซึ่งได้ตีแผ่เนื้อหากฎหมายฉบับนี้อย่างละเอียด ตั้งแต่แนวคิดในการยกร่าง มาจนถึงพิษสงทั้งหลายทั้งปวงของกฎหมายฉบับนี้ ที่ทำให้โครงการเมกะโปรเจ็กต์น้อย-ใหญ่ทั้งหลายแหล่พากันขยาดกลัว ขนหัวลุกกันมาแล้ว
โดย 1 ในโครงการที่มีการเขียนถึงเอาไว้เป็นกรณีศึกษาในพ็อคเก็ตเล่มดังกล่าว ก็คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่กำลังเป็นประเด็นสุดฮอตอยู่เวลานี้ ซึ่งเจ้าตัวได้ให้ความเห็นอำไว้อย่างน่าคิดว่า การที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม. ทำสัญญาจ้าง BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย 2 สายทางนั้น หากจะถามว่า เป็นการดำเนินการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 35 หรือไม่นั้น
สำหรับ “เนตรทิพย์” แล้ว ฟันธงเลยว่า แม้เป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน แต่นั่นเพราะโครงการดังกล่าว “ไม่เข้าข่าย” ที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
โดยเหตุผลที่ กทม. ต้องลากส่วนต่อขยาย 2 สายทางหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 35 นั้น ก็เพราะ กทม.นั้น เคยมีความพยายามจะดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนในกฎหมายฉบับนี้ทุกกระเบียดนิ้วมาตั้งแต่ ปี 2543 แต่ต้อง “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง!
โดยในเวลานั้น กทม. มีโครงการขยายโครงข่ายส่วนต่อขยาย 3 สายทางด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 8.9 กม. วงเงินลงทุน 15,154 ล้านบาท 2. ส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสาทร-ตากสิน ระยะทาง 2.2 กม. วงเงินลงทุน 4,568 ล้านบาท และ 3. ส่วนต่อขยายช่องนนทรี นราธิวาส-สาธุประดิษฐ์ ระยะทาง 8.5 กม. วงเงินลงทุน 12,798 ล้านบาท และนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2543
แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 32,000 ล้านบาท จึงเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 35 จึงมีการตั้ง “คณะกรรมการตามมาตรา 13” ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 โดยมี “นายประเสริฐ สมะลาภา” ปลัดกรุงเทพมหานคร ในเวลานั้นเป็นประธาน เพื่อจัดทำร่างเงื่อนไขในการประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนส่วนต่อขยาย 3 สายทางที่ว่านี้ ซึ่งก็รวมไปถึง การเปิดโอกาสให้คู่สัญญาเดิมของ กทม. คือ BTS ยื่นข้อเสนอลงทุนโครงการส่วนต่อขยายนี้ด้วย
แม้คณะกรรมการตามมาตรา 13 จะเห็นชอบที่จะดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย 3 สายทางด้วยวิธีพิเศษ (ตามมาตรา 16 ) ในการเชิญชวนบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและรับสัมปทานส่วนต่อขยาย ซึ่งก็รวมไปถึงการให้สิทธิ์แก่คู่สัญญาเดิม BTS เข้ายื่นข้อเสนอด้วย เพราะไม่สามารถจะ “ประเคน” โครงการนี้ไปให้แก่ BTS ตั้งแต่แรก ด้วยเกรงว่า หากจะให้สิทธิ์แก่บีทีเอสเป็นผู้ดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย โดยไม่ประมูลจะไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ และยังเกิดข้อครหาเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายเดียวได้
อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า กทม.นั้นมีความพยายามดำเนินโครงการนี้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 35 มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่เส้นทางการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวกลับต้อง “ล้มลุกคลุกคลาน” แม้จะล่วงเลยมากว่า 5 ปี ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ด้วยข้อจำกัดของการเชื่อมต่อโครงข่ายสัมปทานเดิมที่บีทีเอสให้บริการอยู่ และไม่อาจจะเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาประกอบการร่วมได้
จึงทำให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 สายทางต้องค้างเติ่งคาราคาซัง ไม่มีความคืบหน้า
แม้ กทม. จะพยายามผลักดันส่วนต่อขยาย 2 สายทาง คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สาทร-ตากสิน) และ สายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) ขึ้นมาดำเนินการก่อน โดยจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของระบบงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานเอง ภายใต้วงเงินรวม 9,500 ล้านบาท แต่แนวทางดังกล่าวก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน
ท้ายที่สุดในปี 2547 เมื่อ “นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. และเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 29 สิงหาคม 47 กทม. ได้ปัดฝุ่นโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสขึ้นมาพิจารณาอีกหน โดย กทม. ตัดสินใจที่จะลงทุนระบบงานโยธาและโครงสร้างส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ที่คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนราว 8,900 ล้านบาทเอง และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถไฟฟ้า แต่ก็ติดขัดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณลงทุนของ กทม.เอง รวมทั้งข้อจำกัดในการเดินรถไฟฟ้าที่จะต้องข้ามโครงข่ายมายังสัมปทานเดิมของ กทม.ที่ให้สัมปทานแก่บีทีเอสไปแล้วอยู่ดี
ท้ายที่สุด กทม. จึงตัดสินใจ “ผ่าทางตัน” ปัญหานี้ ด้วยการให้ “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” วิสาหกิจของ กทม. ที่มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดของหน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นผู้ลงทุน และบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าโดยตรง ในลักษณะ “สัญญาจ้าง-Outsource” โดยแยกเส้นทางส่วนต่อขยายน 2 สายทาง (และที่จะมีการขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต) ออกมาดำเนินการเพื่อจะได้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม
ก่อนที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จะเจรจาว่าจ้างให้ BTS เข้ามาเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอีกทอดหนึ่ง ในลักษณะของสัญญาจ้าง Outsource เช่นกัน ซึ่งถือเป็นหนทาง “ผ่าทางตัน” ที่ไม่เข้าข่ายให้ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 35 แต่อย่างใด เนื่องจากการให้สิทธิแก่บริษัทกรุงเทพธนาคม ที่เป็นวิสาหกิจของ กทม.เอง เป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุน และบริหารจัดการเดินรถโดยตรงนั้น ไม่เข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะบริษัทกรุงเทพธนาคม ถือเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันนั่นเอง
ส่วนที่ว่า แล้วเหตุใด กรุงเทพธนาคม จึงไปว่าจ้าง BTS เข้ามาเป็นผู้เดินรถแทนจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป จนกลายเป็นประเด็น “สุดดราม่า” ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า “เอื้อประโยชน์เอกชน” นั้น
หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงของ “ส่วนต่อขยาย” 3 สายทางเดิมของ กทม. ก่อนจะหดลงมาเหลือเพียง 2 สายทาง คือ 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 8.9 กม. วงเงินลงทุน 15,154 ล้านบาท และ 2. ส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสาทร-ตากสิน ระยะทาง 2.2 กม. วงเงินลงทุน 4,568 ล้านบาทนั้น
จะเห็นได้ว่า ขนาดส่วนต่อขยาย 3 สายทาง ที่มีระยะทางรวม 19.6 กม. วงเงินลงทุนรวมกว่า 32,000 ล้านบาท ยังไม่มีเอกชนรายใดเสนอตัวเข้ามาร่วมลงทุนแม้แต่รายเดียว เพราะแต่ละเส้นทางที่ว่าอยู่กันคนละฟากโลก คนละโครงข่าย ไม่สามารถจะวิ่งเข้าโครงข่าย รวมทั้งไม่สามารถจะวิ่งผ่านแบบ Through Operation เข้าไปยังโครงข่ายสายสีเขียวของ BTS ได้
ยิ่งเมื่อหดเส้นทางมาเหลืออยู่เพียง 11 กม. (8.9-2.2 กม.) เช่นนี้ด้วยแล้ว แถมไม่ได้เป็นโครงข่ายเดียวกัน แต่ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งของโลกด้วยแล้ว จะมีเอกชนหน้าไหนสนใจเข้ามาลงทุนกระนั้นหรือ? หรือหากเสนอตัวเข้ามา ต้นทุนในการเดินรถที่ต้องแยกกันอยู่คนละฟากฝั่งโลกคงสูงลิ่วเกินกว่าที่ กทม.และกรุงเทพธนาคมจะแบกรับได้แน่!
ด้วยเหตุนี้ การที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีนี้ โดยระบุว่า การทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าข้างต้นเป็นการดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายเดียว เป็นการดำเนินการที่ขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องให้ กทม. (หรือบริษัทกรุงเทพธนาคม) เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างหรือให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย 2 สายทาง (หรือจะกี่สายทางในอนาคต) อย่างนั้นจริงๆ หรือ จึงจะได้ชื่อว่า ถูกต้อง-เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม พ.ศ.2542?
คนที่คิดประเด็นอย่างนี้ได้ “ถ้าไม่เมาไวน์หนัก” ก็คง “สติเฟื่อง” เท่านั้นแหล่ะ
เหนือสิ่งอื่นใด การที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ว่านี้ ด้วยเข้าใจว่านี่เป็นการดำเนินการที่ขัด พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 35 ทั้งที่เป็นคนละกรณีกันนั้น วันนี้เริ่มมีคนตั้งคำถามไปยัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ก่อนหน้าเคยออกมาเรียกร้อง ให้นำเอาโครงการนี้กลับเข้าไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรวมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
กทม. ต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัท BTSC และต้องสั่งให้บริษัทยุติการให้บริการเดินรถสายสีเขียว ส่วนต่อขยายในทุกเส้นทางด้วยหรือไม่? เพราะหากยังคงปล่อยให้บริษัทดำเนินการต่อไป ก็อาจถูกมองว่า กทม. ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนอาจถูกลากเข้าปิ้งตามมาได้อีก
ถึงเวลานั้นคงสนุกพิลึก! หาก “เจ้าสัวคีรี” สุดทนกับความบ้อท่า และความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ จนประกาศยุติการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ในทุกเส้นทางตามมาเพื่อรอความชัดเจนทางกฎหมายแล้ว ถึงเวลานั้นก็ไม่รู้ ทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ว่าฯ กทม. จะแบกรับความเสียหายและรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
จากการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็น Abuse of Power จนเลยเถิดขนาดนี้ จริงไม่จริง ท่าน “ณัฐจักร” และท่านประธาน ป.ป.ช.ที่เคารพ!!!
แก่งหิน เพิง