ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 13 มีนาคม 2566 ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ “ปมร้อนรถไฟฟ้าสีส้ม” โดยระบุว่า..
ประเด็นที่ รฟม. กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล ไม่เคยแจกแจงให้สมเหตุสมผลได้เลยว่า “จริงเท็จอย่างไร” ที่ผลประโยชน์ของรัฐมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท อาจสูญเสียไปกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐสภา นักวิชาการและประชาชนทั่วไป
เงิน 6.8 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนเป็นอะไรให้ประชาชนได้บ้าง หากปกป้องไว้ได้
1. เราจะมีเงินมากพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายให้ประชาชนในจังหวัดใดของประเทศไทยก็ได้ เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มูลค่า 43,104 ล้านบาท สายสีชมพู มูลค่า 45,764 ล้านบาท สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต – ลำลูกกา มูลค่า 9,803 ล้านบาท และสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ – บางปู มูลค่า 12,146 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดขอนแก่น มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท
2. เป็นการสร้างบรรทัดฐานและป้องกันค่าโง่ในอนาคตสำหรับโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) 110 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ในช่วง พ.ศ. 2563 – 2570 และช่วยให้เรามองย้อนไปได้อีกว่า บรรดาโครงการที่ลงทุนไปแล้วมากมายตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีเรื่องถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร
3. สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของคนไทย ว่ายังมี “ผู้นำ” หรือสถาบันที่เชื่อถือได้ว่า ผดุงความยุติธรรมและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมือง
4. ชื่อเสียง ความสง่างามและความมั่นใจของระบบราชการไทยในสายตานักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ
การวิเคราะห์แจกแจงข้อมูลอาจทำได้หลายวิธี เช่น
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน การศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอของเอกชนอื่นจากการประมูลรอบแรกและรอบที่สองประกอบกับผลประกอบการธุรกิจการเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแล้วเชิญชวนสถาบันวิชาการและองค์กรวิชาชีพที่สังคมเชื่อถือมาวิเคราะห์ร่วมกัน เป็นต้น
คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของผู้มีอำนาจในโครงการ ด้วยการยืนยันว่า ทุกอย่างถูกระเบียบเป็นไปตามขั้นตอนแล้วเหมือนกับที่หน่วยงานของรัฐนิยมกล่าวอ้างกัน ดูเป็นเรื่องน่าละอาย เพราะการประมูลโครงการนี้ไม่สง่างาม ทำผิดธรรมเนียมปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาแต่แรก ดังนั้น การลุแก่อำนาจเพื่อเอาชนะจะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน
ตามความจริง รฟม. และ ครม. มีอำนาจหน้าที่มากกว่าอนุมัติตามกฎระเบียบ กล่าวคือ ยังมีอำนาจในการปฏิเสธผลการประมูลที่สร้างภาระต่อประชาชนสูงเกินความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการประมูลที่ไม่มีคู่แข่งขัน และไม่ยอมเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการประมูลที่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย
สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การบริหารบ้านเมืองโปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน ทุกข้อกังขาต้องถูกขจัดด้วยการเปิดเผยและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตัดสินด้วยความจริงทางธุรกิจและความสมเหตุสมผลบนหลักการ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
#อย่าลักไก่ #สายสีส้ม #คอร์รัปชัน #รฟม #ActAi