หลังจากมี พ.ร.ก.ยุบสภา ตามขั้นตอนไม่เกิน 60 วัน ก็จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายก่อนดีเดย์ให้ประชาชน เจ้าของสิทธิ กากบาทเลือกตัวแทนจากพรรคการเมือง เข้ามาบริหารบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางการแข่งขันฝุ่นตลบของพรรคการเมือง เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญและน่าสนใจยิ่ง
"วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี เจ้าของฉายา "เนติบริกร" ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างสั้นๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้าฯ พ.ร.ก.ยุบสภาแล้ว และจะมีผลทันทีหลังประกาศลงในราชกิจจาณุเบกษา โดยหลังจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่า จะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.2566
กรณีดังกล่าว ไม่เหนือความคาดหมายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะ "บิ๊กตู่" ได้ประกาศมาหลายครั้งแล้วว่า จะ "ยุบสภา" เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ รวมถึง การย้ายพรรคย้ายขั้ว ได้ทันเวลาต่อสถานการณ์ทางการเมือง ที่สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา
นั่นคือ การเลือกตั้ง ครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น !
จับยามสามตา ส่องภาพรวม สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จะเห็นว่า เกิดปรากฏการณ์ "ฝุ่นตลบ อบอวล" ทั่วทุกสารทิศ ทุกพรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงกันจ้าละหวั่น ที่สำคัญ ภาพการเตรียมจับขั้วผนึกกำลัง หรือการเลือกข้าง แบ่งพรรคแบ่งฝ่ายเกิดขึ้นแล้ว เป็นการเตรียมพร้อม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง !
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ยังมี "ตัวแปร" สำคัญ อันเป็น "กับดัก" ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 วางไว้ คือ วุฒิสภา 250 เสียง ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นปัญหาหนักอึ้งของ พรรคการเมือง ซีกประชาธิปไตย นำโดยเพื่อไทยและก้าวไกล จึงทำให้นโยบาย "แลนด์สไลด์ 310 เสียง" ของพรรคเพื่อไทย ปรากฏขึ้น!
จากการตระเวนหาเสียง ตั้งเป้าต้องทำให้ได้ ล่าสุดการลงพื้นที่ จ.ระยอง น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศบนเวที ด้วยความมั่นใจว่า เพื่อไทย จะได้ ส.ส.ตามเป้า ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว โดยไม่สนใจ ส.ว. 250 เสียง พร้อมกับ ชู "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
เหตุผลประการสำคัญ ที่ "หมอชลน่าน" มั่นใจ มาจากสถานการณ์ทำศึกเลือกตั้งครั้งนี้ของเพื่อไทย (พท.) ต่างจากปี 2562 เนื่องจากขุมกำลังสำคัญ คือ กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี อย่าง สนธยา คุณปลื้ม และกลุ่มสามมิตร ซึ่งมีแกนนำทั้งสมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยตีจากไปอยู่พลังประชารัฐ (พปชร.) วันนี้กลับมาอยู่กับเพื่อไทยแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์การเมือง เชื่อว่า สถานการณ์ของเพื่อไทยดีขึ้นแน่นอน!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอดรับการประกาศของ "มังกรการเมือง" อย่าง "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ซึ่งบอก ตรงๆ ว่า ท่าทีของตัวเขาและ กลุ่มสามมิตร มีเป้าหมายเพื่อร่วมรัฐบาลเท่านั้น และเป็นเหตุผลทำไมต้องกลับมาอยู่กับ พรรคเพื่อไทย
ส่วนพรรคเพื่อไทย จะกวาด ส.ส.ได้ 310 เสียง เป็นตามเป้าอันยิ่งใหญ่หรือไม่ ผลจะปรากฏชัดหลังการเลือกตั้ง แต่ที่แน่ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ในขณะนี้ คือ ภาพรวมการบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจปากท้อง ที่มีความเคลื่อนไหว จากภาคเอกชน เรียกร้องให้รัฐบาลล้างไพ่ยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่มีความหวังในการพึ่งรัฐบาล ที่ขณะนี้ไร้เอกภาพ การจะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจช่วยเหลือประชาชน น่าจะไปต่อไม่ได้ ขณะเดียวกัน สภาพการเมืองไทยมีแต่ปัญหา หนำซ้ำสภาฯ ล่มบ่อยซ้ำซาก องค์ประชุมไม่ครบ
ทั้งหมดคือ มุมมองของภาคเอกชน ด้วยความห่วงใย! และย่อมสร้างความได้เปรียบจากฝั่งประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ที่อีกด้านหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ ด้วยเปิดตัว ส.ส.ของพรรค "ภูมิใจไทย" ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ ที่ทำการพรรค โดยมี "อนุทิน ชาญวีรกูล" ถือธง โบกสะพัดปล่อยรถขบวน นำ ส.ส. กทม. ทั้ง 33 เขต เคลื่อนกระจายหาเสียง ทุกพื้นที่ กทม. ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก ติดตามรายงานข่าวทุกระยะ พร้อมกับคำประกาศลั่นของ "เสี่ยหนู" พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยนโยบายประชานิยม ผ่านวลีสวยหรู "พูดแล้วทำ" ที่ขนมาเป็นกระบุงโกย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันชีวิต 60 ปี ให้ผู้สูงอายุ ได้รับสิทธิกู้เงินได้ 20,000 บาท หรือถ้าเสียชีวิต ให้ครอบครัวได้ 100,000 บาท , ฟอกไตฟรี , พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย , เพิ่มค่าตอบแทน อสม.จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็มีการปล่อยภาพแกนนำภูมิใจไทย ทั้ง อนุทิน, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และ ชาดา ไทยเศรษฐ ร่วมโต๊ะอาหารมื้อกลางวัน กับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรค พปชร. หรือภาพอนุทินเยี่ยมอาการป่วยของ "บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) รวมทั้ง ท่าทีอันสนิทมสนมกับ "สมศักดิ์-สุริยะ" และพูดผ่านสื่อ "ยังรักและเคารพ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ อดีตผู้บังคับชา สมัยร่วมรัฐบาล กับพรรคไทยรักไทย"
ภาพต่างๆ ที่โผล่ว่อนในโลกโซเชียล ทำให้สื่อต้องนำมาเสนอ เป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ต่างและล้วนเป็น "ยุทธศาสตร์" ของพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงว่า พร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกับทุกซีกการเมือง ทั้งฝั่งประชาธิปไตย และอนุรักษ์นิยม
เช่นเดียวกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อาณาจักรซึ่งเป็นฐานที่มั่นแห่งใหม่ของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคย์” หัวหน้าพรรค ประกาศชัดเจน ส่งชื่อ "บิ๊กตู่" เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่ตามกติกาของ กกต. สามารถส่งรายชื่อได้ถึง 3 คน
รวมถึง การดึงตัวบุคคลจากหลากหลายพรรคการเมือง ที่ล้วนอยู่ในระดับ "บิ๊กเนม" มาร่วมงาน ไล่มาตั้งแต่ "เสี่ยเฮ้ง" สุชาติ ชมกลิ่น "นักเลงเมืองชล", ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีต รมต.หลายกระทรวง แกนนำคนสำคัญของประชาธิปัตย์, ชุมพล กาญจนะ มหาเศรษฐีพันล้าน อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ การเกิดขึ้นของพรรค รทสช. ถูกจับตามองว่า นอกจากเป็น "ลมใต้ปีก" ให้ “บิ๊กตู่" แล้ว ยังเป็นการ “ตกปลาในบ่อเพื่อน” ซึ่งในทางการเมือง แม้ว่าจะทำได้ แต่โดยมารยาทแล้ว เขาไม่ทำกัน
กลับไปที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของสถานที่ "มูลนิธิผืนป่ารอยต่อ" ที่ตั้งอยู่ภายในกรมทหารราบที่หนึ่ง มหาดเล็กรักษาพระองค์ เจ้าของนโยบาย "ขจัดความขัดแย้ง" กล่าวได้ว่า ณ.ที่แห่งนี้ เป็น "วอร์รูม" ทางการเมืองของ "บิ๊กป้อม" ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ที่เป็นหน้าเสื่อประสานสิบทิศให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มาตลอดนับตั้งแต่ ยึดอำนาจมากจากรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แต่วันนี้ "บิ๊กป้อม" ประกาศตัวอาสาขอเปลี่ยนบทบาทจาก "เบื้องหลัง" มาอยู่ "เบื้องหน้า" ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ขอแอ่นอกเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดย "พี่น้องสอง ป." มีแต้มต่อตุนอยู่ในมือจาก "250 ส.ว."
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้ง ปัจจัยที่จะชี้ขาด ว่าใครจะขึ้นเป็นนายกฯ ระหว่าง "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" คือ จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ระหว่าง "รทสช.-พปชร." ใครจะได้ตัวเลขมากกว่ากัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ ความได้เปรียบเสียเปรียบทั้งสองพรรค พอๆ กัน แต่ "บิ๊กป้อม" ดูจะมีภาษีดีกว่า ตรงที่ได้ "ลูกน้องเก่า" อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาเป็น "ขุมกำลังสำคัญ" และจากการตระเวนเดินสายหาเสียงของ พปชร. ที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากทุกฝ่าย
และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จะต้องมีผลสำรวจคะแนนนิยมจากสำนักโพลต่างๆ ออกมาให้สาธารณชนรับรู้ โดยเฉพาะจาก "ซูเปอร์โพล" และ "นิด้าโพล" ซึ่งถือเป็นสำนักโพลระดับแนวหน้าของไทย
เริ่มจาก”ซูเปอร์โพล" ระบุว่า “อุ๊งอิ๊ง” นำลิ่ว ประชาชนอยากกาบัตรให้นั่งนายกฯ ส่วน “บิ๊กตู่-ลุงป้อม” รั้งที่ 4-5 ชี้พรรคร่วมรัฐบาล ฆ่ากันเองเพื่อการแย่งปลาในบ่อเดียวกันจะพังทั้งแถบ เผยพลังเงียบมีผล โดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจ เรื่อง ประเมินความเสี่ยง ความล้มเหลวการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,061 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม พ.ศ.2566 พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.7 ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อ ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ขออยู่ตรงกลาง พลังเงียบ และร้อยละ 28.1 ไม่สนับสนุนรัฐบาล
ซูเปอร์โพล ชี้ว่า ถ้านักการเมือง ห้ำหั่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งปลาในบ่อเดียวกัน ก็อาจจะพังกันไปทั้งแถบ แต่ถ้าตกลงกันได้ เพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนเดินหน้าถึงเป้าหมาย แบบเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้เหมือนเดิม เพราะคะแนนวันนี้ของฝั่งรัฐบาลรวมกันแล้วจะพบว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ การเจรจาตกลงกันได้ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งแท้จริงจึงเป็นแนวทางที่น่าพิจารณาเพราะต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพคงไม่มีใครยอมตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว
ทางด้าน "นิด้าโพล" ฟันธงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “พท.-ก.ก.” ชนะถล่มทลาย! โดยทำการสำรวจความเห็นประชาชน เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2566 ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ครั้งที่ 1 พบ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.20 อยากให้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ตามด้วย ”พิธา ลิมเจริญรัตน์” ขณะที่ร้อยละ 49.85 เลือกพรรคเพื่อไทย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 15.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 15.65 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 ระบุว่า ยังหาคนที่ เหมาะสมไม่ได้
สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.75 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 17.40 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.75 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 5.40 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.95 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.70 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.60 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 9 ร้อยละ 2.15 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 2.95 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคกล้า พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย และ พรรคเพื่อชาติ
ทั้งหมด คือ ภาพรวม ปรากฏการณ์ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส่วนที่ว่า ใคร และ พรรคการเมืองใด จะเดินทางไปถึงฝั่งฝัน หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางอำนาจ ผลประโยชน์ ที่กำลังจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น !