นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และอดีตเลขาธิการ กสทช. โพสต์ในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?” โดยระบุว่า
เศรษฐกิจดิจิทัล โดยทั่วไปหมายถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายปีจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เกิดเป็นกระแสการส่งเสริมในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยในขณะที่มีเทคโนโลยี 5G เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ก็ได้เห็นประโยชน์ของเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพใหญ่ไปบ้างแล้ว
แต่เศรษฐกิจดิจิทัลของพรรคไทยสร้างไทย จะไปไกลกว่านั้น กล่าวคือ จะเป็นระบบเศรษฐกิจคู่ขนานที่จะสร้างโอกาสที่ “จับต้องได้” อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจไทย ด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การซื้อ-ขาย สินค้าและบริการ ผ่านช่องทางดิจิทัลควบคู่ไปกับเศรษฐกิจแบบเดิม และเพิ่มเติมการสนับสนุนให้เกิดผู้ซื้อและผู้ขายที่เป็นคนไทยเข้าสู่โลกออนไลน์ให้มากขึ้น ให้แข่งกับต่างชาติได้ สร้างรายได้ให้ประชาชนโดยตรง
วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อม จากสถิติ ธปท. ล่าสุดเดือน มกราคม 2566 เรามีจำนวนบัญชี Mobile Banking ประมาณ 97 ล้านบัญชี และ e-Money หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ 124 ล้านบัญชี ในขณะที่ประชากรไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประมาณ 53 ล้านคน อาจกล่าวได้ว่า แทบทุกคนอยู่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว และไม่เพียงแค่นั้น พบว่า มีการใช้จ่ายเงินในรูปแบบ e-payment สูงถึง 47 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของการใช้จ่ายเงินรวมทุกช่องทาง ดังนั้น ประเทศไทยไม่เพียงมีทุกคนอยู่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ยังมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลกดิจิทัลในระดับสูง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการต่อยอด “สร้างโอกาส” ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานเดียวกันทำให้ทุกคนเห็นและจับต้องได้
สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ สร้างระบบนิเวศน์เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Ecosystem: DEE) บนฐานเดิม คือ การต่อเติมบ้านให้พร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่ระบบนี้ ด้วยการสร้างโอกาสที่ “ดี” ให้กับองค์ประกอบสำคัญในระบบนี้ ได้แก่ ประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงในระยะยาวและพร้อมส่งต่อสิ่งที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างภาคภูมิ
2. ประโยชน์ของระบบนิเวศนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ “ดี” และจับต้องได้
2.1 สร้างโอกาส “ดี” ให้คนไทยมีธุรกิจ Start-Up ที่เติบโตในโลกดิจิทัล
สร้างโอกาสให้คนไทยสร้างธุรกิจของไทยโดยมีรัฐร่วมด้วยเพื่อลดความเสี่ยงและอำนวยความสะดวกให้เติบโตได้เร็วในโลกดิจิทัล ด้วยการจัดตั้งหรือจัดสรรเงินทุนของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ Start-Up หรือธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในโลกออนไลน์ โดยรัฐ “ร่วมลงทุน” บางส่วน และประชาชนที่สนใจเข้าเงื่อนไขลงทุนบางส่วน อาจเลือกกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มเยาวชนหรือนักเรียน นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือแบ่งเป็นพื้นที่ ชุมชน จังหวัด และภูมิภาค ทั้งนี้ ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างธุรกิจที่เหมาะสมและมีแนวโน้มเติบโตสร้างประโยชน์ประเทศไทยในระยะยาว เช่น กลุ่ม Online Marketplace ที่เน้นสินค้าของคนไทยหรือผลิตในประเทศไทย กลุ่ม Content ที่คนไทยสร้างเป็น soft power ทางอ้อม หรือกลุ่ม Digital Service ต่างๆ อาทิ การชำระเงิน การขนส่งของ เพื่อเป็นธุรกิจที่จะสร้างเม็ดเงินที่เติบโตพ่วงไปกับธุรกิจอื่นด้วย
2.2 สร้างโอกาส “ดี” ให้ธุรกิจของคนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในราคาถูก
สร้างโอกาสให้ธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลของไทยทางอ้อม ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งเป็นสัญชาติไทย เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการทางเทคโนโลยีเพื่อประกอบการดำเนินธุรกิจ เช่น การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) สำหรับโรงงานของไทย หรือ การใช้งาน software ที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ มีเป้าหมายธุรกิจในภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร
2.3 สร้างโอกาส “ดี” ให้มีรายได้เข้าประเทศจากเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน
สร้างโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการลงทุนทางตรงในอุตสาหกรรมดิจิทัล และพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทย เพื่อจะใช้สร้างรายได้จากการลงทุนของต่างชาติได้ต่อไปในระยะยาว โดยการพัฒนากฏ กติกา ให้มีการลงทุนจากต่างชาติในโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสินค้าและบริการดิจิทัลในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเน้นการดำเนินการเชิงรุก เช่น กำหนดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์การลงทุน อาจลดหรือเว้นการเก็บภาษีสำหรับธุรกิจที่ลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยต้องมีการจ้างงานคนไทยมากขึ้น มีการส่งคนไทยไปอบรมหรือฝึกทักษะชั้นสูงที่จะเป็นองค์ความรู้ติดตัวไปใช้ได้ในอนาคต รวมทั้งมีการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับคนไทยด้วย โดยมีกลยุทธ์ที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบโครงข่าย server ระบบ gateway เชื่อมต่อต่างประเทศ และระบบประมวลผล cloud computing เป็นต้น เพราะนอกจากจะสร้างเม็ดเงินลงทุนและการจ้างงานในระดับสูงแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานที่สำคัญรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป