ยิ่งเข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง อุณหภูมิทางการเมืองก็ยิ่งระอุแดดเป็นปรอทแตก เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ต่างงัดนโยบายหาเสียงออกมาเกทับบลั๊ฟแหลกกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อแย่งซีนในโค้งสุดท้าย
โดย 1 ในนโยบายที่ทุกพรรคต่างหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในเวลานี้ หนีไม่พ้นเรื่องของค่าไฟฟ้าและค่า FT สุดมหาโหดที่กำลังทำเอาประชาชนคนไทยขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน เพราะเจอบิลล์ค่าไฟราวกับเจอโจรกรรโชคทรัพย์ไม่จ่ายก็ไม่ได้เสียด้วย
เครือข่ายนักวิชาการต่างหยิบยกเอาประเด็นค่าไฟแพงบรรลัยกัลป์นี้ขึ้นมาวิเคราะห์กันอย่างถึงพริกถึงขิง ขณะที่ทุกพรรคการเมืองต่างชูนโยบายปรับลดค่าเอฟทีนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงหลัก อย่าง พรรคเพื่อไทยประกาศประชุม ครม. นัดแรกจะสั่งลดค่าไฟให้ประชาชนทันที เพราะมีแนวทางอยู่แล้ว ส่วน พปชร.ที่ร่วมหอลงโลงกับรัฐบาลลุงตู่มาตั้ง 4 ปี ก็ประกาศจะปรับลดค่าไฟค่าเอฟทีให้เหลือ 2.50 บาท แถมจะปรับลดราคาเบนซินและดีเซลลงเหลือลิตรละ 25 บาทด้วย
พรรคไทยสร้างไทยก็ไม่น้อยหน้า นอกจากปรับลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 2.50 บาทแล้ว ยังจะปลดล็อคเปิดเสรีให้ประชาชนเลือกซื้อไฟจากผู้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเสรีอีกด้วย เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่ประกาศจะรื้อโครงสร้างการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ถูกจัดสรรไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก แทนจะจัดสรรมายังโรงไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟราคาถูก
วันวาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกโรงชี้แจงกรณี การคำนวณไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve margin ที่ถูกระบุว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนคนไทยต้องถูกโขกสับจ่ายค่าไฟแพงระยับ เพราะต้องถูกบังคับจ่ายค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง จากสำรองไฟฟ้าที่ทะลักล้นไปกว่า 50-60% แม้ในช่วงวิกฤติโฑควิด-19 ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องก็ยังได้ค่าพร้อมจ่ายที่ว่านี้ไปเปล่าปรี้
โดย สนพ. ออกโรงยืนยัน วิธีการคำนวณ Reserve Margin ที่ถูกต้อง ไม่สามารถนำผลรวมของกำลังผลิตไฟฟ้าของทุกโรงไฟฟ้ามาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรงได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางประเภทโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ ความสามารถในการผลิตจะขึ้นอยู่กับปริมาณ แดด ลม และน้ำ ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนชีวมวลก็ขึ้นกับฤดูกาล
จึงต้องใช้ตัวคูณลดทอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดและนำเอาแต่เฉพาะ “กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้” หรือ Dependable Capacity มาคำนวณเป็น Reserve Margin โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา ณ ปี 2565 เป็น 52,566 MW คิดเป็น Dependable Capacity ประมาณ 45,225 MW จะคิดเป็น Reserve Margin ประมาณ 36% เท่านั้น
อ่านคำชี้แจงของ สนพ. ข้างต้นแล้ว ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อกังขา หากการคำนวณไฟฟ้าสำรองของประเทศจะเอาแต่ Dependable capacity มาคำนวณ และยังต้องลดทอนคิดแต่เฉพาะส่วนที่คาดว่าจะผลิตได้จริง ไม่ใช่ Full capacity ที่ทำสัญญาเอาไว้แล้ว
กระทรวงพลังงาน จะตะบี้ตะบันตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานชีวมวลไปเพื่อ? และหากการซื้อไฟจากพลังงานทดแทนเหล่านี้ ไม่มีผลใดๆ ต่อไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin แล้ว ผลจากการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเหล่านี้ มีส่วนในการนำมาคำนวณค่าไฟฟ้า ค่า FT ด้วยหรือไม่?
แน่นอน! หากไม่มีผลหรือไม่มีนัยสำคัญต่อค่า FT ของประเทศแล้ว ประชาชนคนไทยคงไม่อินังขังขอบอะไรด้วยหรอก หากกระทรวงพลังงาน และ กกพ. จะไฟเขียวให้การไฟฟ้าก็ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าต่อไป แต่หากการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อ Reserve margin และค่า FT ด้วยแล้ว กระทรวงพลังงานก็สมควรคต้องหวนกลับมาทบทวนนโยบายการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้กันเสียใหม่ ไม่ใช่ยังคงตะบี้ตะบันตั้งโต๊ะรับซื้อกันอย่างที่เป็นอยู่
ส่วนประเด็นข้อกังหาในเรื่องของค่าไฟและค่าเอฟทีล่าสุด ที่กำลังพุ่งทะลักปล้นกระเป๋าประชาชนผู้ใช้ไฟ แม้ กกพ. จะยอมปรับลดค่าเอฟทีล่าสุดลงมาเหลือ 4.70 บาท สำหรับครัวเรือนและ 5.33 บาท สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ความรู้สึกของผู้คนก็ยังคงรู้สึกว่ากำลังถูกปล้นสดมภ์วันยังค่ำ
เครือข่ายนักวิชาการและคนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ต่างออกมาตีปี๊บทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าเอาแต่ ”บอนไซ” กฟผ. และระงับไม่ให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้า แต่หันไปรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ (IPP) หรือ SPP จนทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เหลือกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่แค่ 34% ของกำลังการผลิตรวมเท่านั้น
คงต้องการสื่อให้ประชาชนคนไทยได้เห็นว่า หาก กฟผ.ได้รับสิทธิ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเช่นเดิมแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และที่ขายให้ประชาชนคนใช้ไฟถูกลงไปได้ ซึ่งก็คงต้องย้อนถามกลับไปยัง กฟผ.ด้วยเช่นกันว่า มีหลักประกันอะไรหรือ ที่จะบ่งบอกว่า หาก กฟผ.ยังคงเป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จะทำให้ค่าไฟในมือประชาชนถูกลง ช่วยหาข้อมูลต้นทุนโรงไฟฟ้าของตนเองสักแห่งออกมาตีแผ่ยืนยันให้ประชาชนคนไทยได้กระจ่างสักทีเถอะว่า โรงไฟฟ้าที่กฟผ.ก่อสร้างเองนั้น มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยถูกกว่าเอกชน
หาข้อมูลออกมายืนยันให้สังคมได้เห็นสักโรงก็ยังดี
มีด้วยหรือที่หน่วยงานรัฐ อย่างองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) หรือกรมทางหลวง กรมชลประทาน ตลอดจนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สามารถจะตั้งโต๊ะประมูลจัดซื้อจัดจ้างได้ต่ำกว่าที่เอกชนเขาทำกัน ที่เห็นและเป็นไปอย่างกรณีเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะ ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดแค่หลักพันหรือหมื่นต้น ๆ แต่หน่วยงานรัฐ อปท. กลับประมูลจัดซื้อกันมาถึงต้นละเป็นแสนหรือหลายแสนบาท ขนาดโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กที่อีเกียเขาขายออนไลน์แค่ 790 บาท พ่อยังประมูลจัดซื้อมาได้ตัวละกว่า 20,000 บาท
ต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เองก็เช่นกัน ที่เห็นและเป็นไปตามรายงานที่กระทรวงพลังงานเองเคยจัดทำไว้ก็ระบุชัดเจนว่า ประเคนค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปยังต้นทุนก่อสร้างกันทั้งนั้น
สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงระยับราวกับปล้นสดมภ์ประชาชนคนใช้ไฟนั้น ก็เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปพลังงานของประเทศมันยังไป “ไม่สุดซอย” การเปิดเสรีพลังงาน เปิดเสรีไฟฟ้ายังไปไม่สุดซอย เพราะระบบสายส่งของประเทศยังคงอยู่ในเงื้อมมือของ กฟผ. ที่ผูกขาดระบบสายส่งและการจำหน่ายไฟให้บ้านเรือนประชาชนผ่าน 2 การไฟฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงของระบบ
ดังนั้น ต่อให้ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนจะ IPP-SPP หรือจัดซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนราคาต่ำแค่หน่วยละ 2 บาท เมื่อต้องจำหน่ายไฟเหล่านั้นผ่านระบบสายส่งของ กฟผ. และ2 การไฟฟ้า ที่ต้องถูกบวกค่าบริหารจัดการและกำรี้กำไรเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร หล่อเลี้ยงโบนัสและสวัสดิการอันพึงมีของพนักงานแล้ว สุดท้ายค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายมันจึงแพงบรรลัยกัลป์อย่างที่เห็น
ก็ลองปฏิรูปพลังงานไปให้สุดซอย “ปลดล็อค” ระบบสายส่ง หรือแยกระบบสายส่งออกมาจากอ้อมอก กฟผ. จะจัดตั้งองค์กรรัฐใดขึ้นมาบริหารจัดการระบบสายส่งของประเทศอย่างเป็นธรรม ใครใช้-ใครจ่ายอย่างที่เครือข่ายพลังงานทั้งหลายเรียกร้องกันก่อนหน้า
รวมทั้งปลดล็อค “เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า หรือ Mitering” เปิดทางให้ประชาชนผู้ใช้ไฟได้เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟฟ้าได้โดยตรงเช่นในต่างประเทศ อย่างในออสเตรเลีย ที่เราส่งคนไปดูงานกันดีนัก เปิดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้แข่งขันกัน แบบบริการโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตดูซิอยากรู้นักว่าราคาค่าไฟฟ้าในมือประชาชนมันจะถูกลงไหม
ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนจะ IPP-SPP จะมีปัญญาแข่งกันกับ กฟผ. และ 2 การไฟฟ้าไหม จะโขกสับค่าบริการค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจริงหรือไม่ ไม่ต้องปูพรมทำกันทั้งประเทศหรอก เอาแค่ทดลองกันในบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ดูกันก่อนก็ได้เป็น Pilot Project
พรรคการเมืองใดกล้าประกาศนโยบายนี้ออกมา ขอให้กาพรรคนั้น จบ!!!