การยื่นเรื่องให้ กกต. พิจารณาการถือหุ้นไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สอดคล้องกับกรณีของ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ซึ่งเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จำเป็นที่ กกต.ต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ช่วงโค้งสุดท้ายก่อน ที่จะหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ซึ่งถือว่ากระทบโดยตรงต่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) กรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายต้องห้าม ในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่?
"เรื่องนี้อยากให้ กกต. ดำเนินการโดยเร็ว เพราะผลที่ออกมาก่อนและหลังเลือกตั้งจะแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นความผิดเฉพาะตัวแต่ถ้าศาลตัดสินเรื่องใหญ่มาก ถ้าทำเสร็จหลังการเลือกตั้ง ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเหมือนกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นวีลัค มีเดีย จะทำให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงเรื่องยุบพรรค และยังมีข้อกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง แต่ขอรอให้ศาลตัดสินก่อน แต่บอกได้ว่าจะมีผลกระทบมหาศาล" นายเรืองไกร กล่าว
ตามขั้นตอนหลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของ กกต. จะต้องพิจารณาว่า การถือหุ้นดังกล่าว เข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่ แน่นอนภายในเวลา 1-2 วัน คงดำเนินการไม่ทัน ซึ่งก็ต้องปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปก่อน แล้วค่อยตามสอยทีหลัง
อย่างไรก็ตาม ณ สถานกาณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า กระแสความนิยมของพรรคก้าวไกล และตัวของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" นั้น พุ่งทะลุเพดาน โพลแทบทุกสำนัก ยกให้ติดรายชื่อบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เทียบเคียงกับ "อุ๊งอิ้ง" แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย (พท.) เท่ากับว่า ฟากฝ่ายขั้วเสรีประชาธิปไตยกำลังมาแรง และมีแนวโน้มชนะเลือกตั้งค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอนุรักษ์นิยม จากพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ของทั้ง “สองลุง”
จึงไม่แปลกใจ ว่า การขุดเรื่อง "หุ้นไอทีวี" ขึ้นมาในเวลานี้ เป็นการจงใจสกัด เตะตัดขา "ก้าวไกล" กันอย่างชัดเจน ซึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า
"ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว ทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้ ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตนขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว"
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อ คะแนนนิยมของ "ก้าวไกล" หากคิดว่า ถ้าเลือก "พิธา" ไป แล้วถูก กกต.ตามสอยทีหลัง คะแนนที่ลงให้ไป เท่ากับ "เสียเปล่า" ขณะที่ฝ่ายตรงข้าม ย่อมนำไปเป็นประเด็นโจมตี รู้ว่าไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง แต่ยังดันทุรังฝ่าฝืนกฎหมาย เท่ากับ "ไม่มีเจตนาสุจริต"
แน่นอนว่า กระแสสังคม ณ เวลานี้ มีความเห็นแตกต่าง หลากหลาย ซึ่งมีทั้ง สนับสนุน และ คัดค้าน
“สมชาย แสวงการ” สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า "คดีพิธา ถือหุ้นสื่อ itv 42,000 หุ้น จะอ้างเรื่องการเป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่บิดาเสีย เมื่อ2549 ผ่านมา 17 ปียังไม่ได้แบ่งมรดก ก็ยังปฏิเสธการเป็นผู้ถือหุ้น itv ไม่ได้ เพราะการเป็นเจ้าของหุ้น เริ่มตั้งแต่เจ้ามรดกเสียขีวิต หุ้นนั้นตกเป็นของทายาททันทีที่เจ้ามรดกเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น การที่นายพิธา อ้างว่า "ไม่ใช่หุ้นของตน เป็นกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก" นั้นจึงไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ บริษัท ITV แจ้งว่า ยังประกอบกิจการอยู่และมีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่า จะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ ว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้น itv ที่เป็นสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีธนาธร ถือหุ้นสื่อมวลชนมวีลักซ์มีเดีย ทำให้ขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิทางการเมือง"
ขณะที่ “ไพศาล พืชมงคล” นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า เป็นการปล้นอำนาจประชาธิปไตย ด้วยความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของขั้วอำนาจเก่า เพราะเกิดก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน เท่ากับมีความพยายามไม่เคารพอำนาจประชาธิปไตยของเสียงข้างมาก ที่ได้เลือกพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชน แต่พยามเคลื่อนไหว โดยเอาเสียง ส.ว.250 เสียงเป็นตัวตั้ง กับ ส.ส.ที่ได้มาแค่ 120 เสียง รวมกันเพื่อดันทุรังจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เท่านั้น ไม่คำนึงถึงเสถียรภาพ และผลกระทบที่ตามมาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ สถานะปัจจุบันของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นอย่างไร ยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ เพราะตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ที่ห้ามนักการเมือง ถือหุ้นสื่อ เพราะเกรงว่า จะใช้สื่อที่มีอยู่ในมือ เป็นเครื่องมือในการ โฆษณา หาเสียง จูงใจ ประชาชนให้มาเลือกตัวเองและพวกพ้อง
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จากรายงานประจำปี 2565 ของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รายงานว่า เคยประกอบธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) ภายใต้สัญญา เข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ในลักษณะ สร้าง-โอน-ดำเนินงานที่ทำกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 โดยใช้ชื่อ สถานีโทรทัศน์ ไอทีวี
สถานะปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 เวลา 24.00 น. บริษัทจำเป็นต้องหยุดการประกอบธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี สืบเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน ของ สปน. และต่อมาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป
ดังนั้น ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ปิดกิจการไปนานแล้ว เท่ากับว่าการถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สามารถให้สื่อไอทีวี มาช่วยสร้างผลประโยชน์ใดๆ ในการเลือกตั้ง วันที่14 พ.ค.2566 !!!
อีกประเด็นที่สอดคล้องกัน กรณี "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์" ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งถูก กกต.จังหวัดนครนายก ตัดสิทธิการสมัคร ส.ส. จากการถือหุ้นของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS โดยอ้างเหตุว่า เข้าข่ายตามลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัคร ส.ส. โดยนายชาญชัย ได้มายื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่ง ผู้อำนวยการ กกต. เขต 2 จ.นครนายก ในการคืนสิทธิการรับสมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีที่วินิจฉัยว่า ตนเป็นผู้ถือหุ้น AIS ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นคำสั่งไม่ชอบ เพราะตีความกฎหมายเกินขอบเขต
เนื่องจากบริษัท AIS มิได้เป็นสื่อสารมวลชน แต่เป็นผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรคมนาคม อีกทั้ง ส่วนตัวไม่มีอำนาจบริหาร หรือ ครอบงำสั่งการใดๆ ในบริษัทดังกล่าว ที่สำคัญในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีการตีความ โดยใช้ดุลพินิจที่ขยายขอบเขตกฎหมายและอำนาจของ กกต. ที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 8-1 9/2563 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 ที่ชี้ขาดแล้วว่า องค์ประกอบต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นเจ้าของกิจการจริง และมีการกระทำเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จริง และมีรายได้จากสื่อดังกล่าวจริง โดยเคยมีการสร้างมาตรฐานการวินิจฉัยไว้แล้วให้ กกต. ปฏิบัติ ดังนั้น จึงมายื่นคำร้องขอความเป็นธรรม
คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล แต่นายชาญชัย ขอให้ กกต.ชี้แจงภายในวันที่ 14 พ.ค.66 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนี้ แต่เมื่อปี 2562 ตนได้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ กกต.พิจารณาอนุญาติให้ลงสมัครได้ แต่ครั้งนั้นไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่คราวนี้ สมัคร ส.ส.เขต2 นครนายก กลับถูกตัดสิทธิ์ จึงอยากทราบถึงการทำงานของ กกต.ที่ขัดแย้งกันทั้งที่เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่สอดคล้องกับ ระหว่าง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" กับ "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์" ซึ่งจำเป็นที่ กกต. ต้องรีบออกมาให้ความกระจ่างต่อสาธารณชนโดยเร็ว !