นักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ และ นิติศาสตร์ จากภาครัฐและเอกชน แสดงความเห็นต่อประเด็นร้อนทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ว่าด้วยการแข่งขันของ 2 ขั้วอำนาจ “อนุรักษ์นิยม-เสรีประชาธิปไตย” สุดท้ายแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ประมวลความเห็นนักวิชาการ ต่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย วันที่ 14 พ.ค.2566 มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการแบ่งขั้วชัดเจน ระหว่าง "กลุ่มอนุรักษ์นิยม" และ "กลุ่มเสรีประชาธิปไตย" ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกนิยามว่า จะเป็น "จุดเปลี่ยน" ประเทศไทย จะมีทิศทางอย่างไร
รวมถึงประเด็นร้อนว่า ด้วยการถือหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนนิยมอย่างสูง จากประชาชน คนรุ่นใหม่ ที่โพลส่วนใหญ่ เชื่อว่า จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิ่งทีเราเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เราเห็น 1. สภาพแวดล้อมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไป เราเห็นสเปคตรัม เฉดสี ทางการเมือง เห็นจุดยืนซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในเรื่องตั้งครั้งนี้
“อย่างน้อยครั้งนี้ เราเห็นก้าวไกล อยู่ขวา-ซ้าย รวมไทยสร้างชาติและไทยภักดี ซึ่งกระจุกส่วนใหญ่อยู่ตรงกลางค่อนไปทางขวา ตรงนี้บอกอะไรเรา มันบอกว่า 1.ความคาดหวังของสังคมเปลี่ยน ว่าพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของเรามากขึ้น ประการที่ 2.เราเห็นพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เครือข่ายนักวิจัยตามจุดต่างๆ เล่าให้ฟัง อย่างที่ จ.ปราจีนบุรี มีผู้สมัครที่รณรงค์เรื่องขยะ หลายพรรคเน้นการทำประมง เรื่อง LGBTQ เพศสภาพ สุราก้าวหน้า ต้องบอกว่าก้าวไกลมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่เยาวชน ในการประท้วงเท่านั้น”
การเปลี่ยนแปลงที่ 2 คือ ประชาชนขยับบออกจากตะกร้าของขั้วอนุรักษนิยมมากขึ้น หลังผ่านการเลือกตั้งปี 2562 ที่พูดแบบนี้เพราะเราไม่ได้ขยับมาตั้งแต่รัฐประหาร ถ้าไปดูการเลือกตั้งปี 2562 ตัวเลขของกลุ่มที่เลือกฝั่งอนุรักษนิยมประมาณ 14.5 ล้านเสียง เพื่อไทย ก้าวไกล รวมพรรคประชาชาติ เสรีรวมไทย ประมาณ 14.2 ล้านเสียง ห่างกันนิดเดียว โดยที่ความจริงตอนนั้นฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่าด้วยซ้ำ
แต่ทุกวันนี้เราเห็นตัวเลขโพล ถ้าเราเชื่อว่าโพลใกล้เคียงกับความเป็นจริง ก็ขยับออกมาแล้ว ตอนแรกบัญชีรายชื่อ ระหว่าง "เสรีประชาธิปไตย" กับ "อนุรักษ์นิยม" น่าจะ 60 : 40 แต่ตอนนี้อยากจะบอกว่ามันขยับมาที่ 70 : 30 แล้ว บ่งบอกว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สังคมขยับและขยับมาทางซ้ายขึ้น มีพรรคที่ซ้ายขึ้น
"เดิม เพื่อไทยก็ขวา ตอนนี้เกิดพรรคใหม่ขึ้นมา เชื่อว่าเพื่อไทยขยับไปซ้ายหน่อยเหมือนกัน ในช่วงเวลาที่พรรคก็ขยับ สังคมก็ขยับ มันเกิดอะไรขึ้น"
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า ถ้าเราดูเพื่อไทย ย้อนหลังกลับไปเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยได้ 204 ที่นั่ง จาก 375 ที่นั่งของ ส.ส.เขต หรือ 45% ในการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อไทยส่ง 250 เขต ได้ 136 ที่นั่ง คิดเป็น 54% เหมือนกัน ถามว่าครั้งนี้จะได้ 54% หรือไม่ ถ้า 54% ของเพื่อไทยครั้งนี้คือ 216 ที่นั่ง ยังไม่รวมบัญชีรายชื่อ สมมุติได้ 35 ที่นั่ง 216+35 =251 ที่นั่ง แต่เราก็คิดว่าเพื่อไทยพรรคเดียวไม่น่าเกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ‘เพื่อไทยทะลุเพดาน’
“แต่ในสังคมไม่ได้มีเฉพาะกระแส กระแสที่เราเห็นตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่เลือกก้าวไกล เขามีความเข้มข้นของความชอบจริงๆ นั่งมอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหมือนดาราเคป๊อป ตาลอย ไปเมืองไหน ไฟมา แต่ในการเลือกตั้งมันเริ่มมาตั้งแต่เลือกตั้งท้องถิ่น 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเวลาเลือกจริงๆ เขตเลือกตั้งกระจัดกระจาย นี่คือ 400 เขต ดังนั้น Intensity of Influence ที่เราเห็นจากโพลทั้งหลายคือ 100 ที่นั่ง จากโพลมติชน -เดลินิวส์ ผู้ชาย คนทำงานออฟฟิศก็โหวตมากกว่า ดังนั้นโพลไม่ได้สะท้อนเท่าไหร่นัก”
สำหรับก้าวไกล โจทย์เดียวกันกับเพื่อไทย ถ้าหากเพอร์ฟอร์มทะลุเพดานเหมือนกัน เราประเมินว่า เขตเมืองทั้งหลาย 76 ที่นั่ง ไม่นับ กทม. ซึ่งเราให้ 20-25 ที่นั่งถ้าหากเพอร์ฟอร์มดีมาก
กรุงเทพฯ คิดว่าเพื่อไทย ก้าวไกลขี่กันมา สมมุติ 33 ที่นั่ง ให้ไว้ 14 และปริมณฑลอีก 6 รวมเป็น 45 เสียง สมมุติบวกบัญชีรายชื่ออีก 35 คิดว่าเพดานของก้าวไกล คือ 80 พูดแบบนี้ก้าวไกลอาจจะไม่พอใจเพราะตัวเลขตอนนี้ไปเป็น 100 เพื่อไทยก้าวไกล รวมกันคือ 331 บวก พรรคประชาชาติ เสรีรวมไทย ประชาชาติ คือ พรรคพันธมิตรที่เข้าร่วมแน่ๆ ก็จะได้ 343 และอาจจะไปดึงชาติไทยพัฒนา หรือ ไทยสร้างไทย จะได้ตัวเลข 345 นั่นคือเพดาน แสดงว่าต้องการ ส.ว. 31 คน นี่คือโจทย์ใหญ่ว่า ส.ว. 31 คน ไม่มา ยากมาก เพราะเราเห็นว่าอย่างมากที่สุดที่ ส.ว.จะเป็นอิสระคือ 5
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นว่า การเมืองไทย เป็นเรื่องของ กระแส กระสุน และ ความเป็น เจนเนอร์เรชั่นที่3 ที่ตกลงว่ารอบนี้เราจะกลับไปอธิบายในส่วนของเจนเนอร์เรชั่นนี้อย่างไร เพราะเท่าที่ฟังมาคิดว่าในตอนนี้เจนเนอร์เรชั่นมันปนกันมาก
“เจนเนอร์เรชั่นนี้ไม่ง่ายขนาดนั้นแล้ว คนที่เป็นเจนเนอร์เรชั่นรุ่นใหญ่ๆ หน่อย ก็อาจจะอยากเป็นเด็ก สะวิงไปอีกฝั่งหนึ่งก็มีเยอะ พูดตรงๆ นะ เช่น คุณจะอธิบายกองเชียร์ประชาธิปัตย์ที่ย้ายไปเลือกก้าวไกลได้อย่างไร ผมงงมากและเยอะมากเลยรอบตัว พ่อแม่หลายคนจากประชาธิปัตย์ย้ายไปก้าวไกลเลย อันนี้งงมากก แต่ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่”
นอกจากนี้ ในเรื่องของการเมือง เราไม่ได้คุยกันแบบการเมืองสภากาแฟ แต่มันอยู่ในกรอบทฤษฎีเรื่องของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ว่าประชาธิปไตยจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร เพราะการเปลี่ยนผ่านมีได้หลายรูปแบบ ไม่ได้มีเพียงการเลือกตั้งและการปฏิวัติ ซึ่งการดีลของพรรคการเมือง เป็นเรื่องปกติในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน แต่จะดีลอย่างไรไม่ให้กองเชียร์หนักใจ
“การดีลเป็นเรื่องปกติในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน แต่จะดีลยังไงไม่ให้นายแบก นางแบกหนักใจ และดีลยังไงไม่ให้กองเชียร์หนักใจว่า เอ้า ทำไมไม่เหมือนที่พูดกันไว้ จะดีลแบบติสท์แตกขนาดนี้ได้ด้วยเหรอ”
ขณะเดียวกันยังมีความเห็นนักวิชาการกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อาจมีผลทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือไม่
ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า ในกฎหมายมีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. เป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ด้วย หนึ่งในนั้นคือการถือหุ้นสื่อ จริงๆ เป็นปัญหามาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ คราวที่แล้วจะเห็นการไปร้อง ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังนั้น ตรงนี้ต้องตีความที่เจตนารมณ์ว่าหุ้นที่ถืออยู่ในขณะนั้นเป็นหุ้นของสื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อจริงหรือไม่
กรณีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหุ้นไอทีวี ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาประกาศแล้วว่า ยุติการซื้อขายบนแพลตฟอร์มภายในตลาดหุ้น และต้องดูว่าบริบทของไอทีวีในขณะนี้ มีลักษณะอย่างไร ในปี 2538 ไอทีวีเข้าร่วมงาน กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลักษณะของการทำสัญญาเข้าร่วมงานแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เมื่อทางสำนักปลัดฯ ยกเลิกสัญญาและมีการปิดการดำเนินการไปแล้ว
ต้องถามว่า เวลานี้หุ้นไอทีวีมีสถานะเป็นหุ้นสื่อหรือไม่ เพราะดูรายได้ของไอทีวีตอนนี้ก็ไม่ได้มาจากการประกอบกิจการสื่อและมีหนังสือออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า หยุดประกอบกิจการไปแล้ว เพราะฉะนั้นหุ้นนี้ในทางกฎหมายมีลักษณะเป็นการถือหุ้นเพื่อให้มีความเป็นนิติบุคคลในทางคดีมากกว่า ส่วนการดำเนินการหรือไม่นั้น ต้องไปอ่านรายงานผลประกอบการของบริษัทว่าดำเนินการสื่อจริงหรือไม่ ถ้าศาลหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีความแบบทื่อๆ ผมว่า ส.ส.จะหายไปเกินครึ่งสภา
สำหรับประเด็นผู้จัดการมรดก สามารถตีความได้หลายทาง ในทางกฎหมายผู้จัดการมรดกไม่ใช่เจ้าของทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือไม่ใช่เลยก็ได้ ต้องไปดูในพินัยกรรมว่ากำหนดให้เป็นผู้จัดการมรดกส่วนหนึ่ง หรือถ้ามีพินัยกรรมจริง จะต้องดูว่าการระบุถึงหุ้นส่วนนี้หรือไม่ หากไม่มีการระบุ ก็ถือว่ายังไม่ถือว่าเป็นของใคร
ประเด็นต่อมา คือ เท่าที่ดูตัวเลขสัดส่วนหุ้นคือ 42,000 หุ้น เท่ากับ 0.03% ถ้ามองจากสัดส่วนถือว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะครอบงำได้ มีสิทธิเพียงเข้าประชุมรับฟัง แต่ก็ไม่แน่ใจในข้อบังคับบริษัท ดังนั้น ตรงนี้จึงมีการตีความค่อนข้างยาก แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นของหุ้นไอทีวีที่ มองว่ากำลังจะมีปัญหาในอนาคตคือ ตอนนี้ปลัดสำนักนายกฯ ยื่นอุทธรณ์มายังศาลปกครองสูงสุดในเรื่องของการเลิกสัญญา
ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยยกคำร้องไปแล้ว คือ ให้เป็นไปตามมติของคณะอนุญาโตตุลาการ ถ้าไปถึงศาลปกครองสูงสุดและยืนตามศาลชั้นต้น หมายความว่า การยกเลิกสัญญาระหว่างสำนักนายกฯ กับไอทีวีไม่มีผลทางกฎหมาย ถือเป็นการยกเลิกสัญญาที่ผิดกฎหมาย ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีว่าสถานะของไอทีวีจะกลับไปสู่บริษัทที่ทำสื่อ เพราะสัญญาถึงปี 2568 หรือ สัญญาได้ยกเลิกไปแล้วแต่ฝ่ายรัฐชดใช้ค่าเสียหายแทน คิดว่าเป็นประเด็นที่จะมีปัญหากันขึ้นมาอีกในอนาคต
คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่ต่างกัน เพราะตอนนั้นคือ บริษัทจดทะเบียนชำระบัญชีและปิดบริษัทไปแล้ว แต่นี่บริษัทยังไม่ปิด เพราะยังต้องคงสถานะเพื่อจัดการในเรื่องของกฎหมายอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูในทางข้อเท็จจริงว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ต้องเข้าใจองค์ประกอบของกิจการสื่อในบ้านเราก่อนว่า ไอทีวีเป็นสื่อใช้คลื่นความถี่ในการเผยแพร่ เมื่อถูกยกเลิกสัญญาก็ไม่มีสิทธิ และไม่ได้ดำเนินการในการขออนุญาตใช้กับสำนักงาน กสทช. แล้วเรายังจะถือว่าเขาประกอบกิจการสื่อได้อีกหรือไม่
เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าการประกอบกิจการสื่อในปัจจุบันต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เชื่อว่า ตอนนี้ไอทีวีไม่มี แต่หากถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดก็คงถูกตัดสิทธิและพรรคก้าวไกลอาจจะต้องหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะถูกตัดสิทธิเพราะถ้าเราเอาข้อเท็จจริงตามที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ไว้ คือคุณสมบัติการถือหุ้นสื่อเป็นข้อห้ามของ ส.ส. และได้เคยแจ้งกับสำนักงาน ป.ป.ช.ไปแล้ว คำถามคือ พิธา เป็น ส.ส.มา 4 ปี และ ป.ป.ช.รับทราบมาตลอด ไม่มีใครทักท้วงหรือว่ามีคุณสมบัติต้องห้าม ถ้ามีการผิดพลาดจริงใครเป็นคนต้องรับผิดชอบความเสียหายนี้ คือ ป.ป.ช.แน่นอน เพราะถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหาย กกต.เองก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นข้อมูลที่ทราบอยู่แล้ว
และการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้จะมีปัญหาทันที เพราะหลายคนมีหุ้นในบริษัท แม้ไม่ได้ผลิตสื่อแต่ในหนังสือบริคณห์สนธิกำหนดวัตถุประสงค์บอกว่าจะทำสื่อ ดังนั้นในการวินิจฉัยหากเรื่องเป็นคดีความไปถึงศาล เชื่อว่าศาลจะใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยถึงวัตถุประสงค์มากกว่าที่จะวินิจฉัยจากตัวถ้อยคำ
ดร. เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่า จากประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบแน่นอน ทำให้คนเริ่มสงสัยว่าจะเลือกพรรคก้าวไกลดีหรือไม่ ทั้งยังส่งผลต่อการตัดสินใจในวันที่ 14 พ.ค. นี้ แน่นอน แต่หากมองตามกฎหมายและตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าพิธาไม่มีทางจะไปชี้นำสื่อที่ปิดแล้วได้
ด้านความคิดเห็นเรื่องของกฎเกณฑ์การถือหุ้นสื่อ ส่วนตัวยังยืนยันว่าต้องมองเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญห้ามมิให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น อาจมีผู้สมัครบางท่านชี้นำสื่อ หรือสร้างกระแสให้กับตนเองได้
ดังนั้น ในแต่ละกรณีต้องวิเคราะห์ ดูให้ละเอียดว่าการถือหุ้นนั้นมีเจตนาชี้นำ หรือ ครอบงำกิจการสื่อนั้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทมหาชนที่มีหุ้นมากกว่า 1,000 ล้านหุ้น หากมองตามความเป็นจริงคือเป็นไปไม่ได้ บริษัทมหาชนอาจจะกำหนดไว้เป็นกฎหมายว่า หากถือหุ้นถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีการแจ้งการครอบครองหุ้นนั้นให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบ เป็นต้น
ย้อนกลับไปประเด็นที่พูดไปข้างต้น คือบริษัทนี้ปิดไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เหลือแต่หุ้นยังไม่ถูกกระจายออกไป เพราะว่ายังคงมีคดีฟ้องร้องกับทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ศาลยังตัดสินคดีไม่ถึงที่สุด ส่งผลให้ยังคงต้องมีบริษัทนี้จนกว่าศาลจะมีการพิพากษาว่าในอนาคตจะเป็นไปในทางใด
ในส่วนของกรณีที่เกิดขึ้น เป็นการนำช่องโหว่ทางกฎหมาย มาใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ส่วนตัวเห็นว่าไม่ว่าจะเกลียดกันมากขนาดไหนก็ตาม แต่การแข่งขันต่อสู้กันอย่างตรงไปตรงมา ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยในเรื่องที่ว่าพิธาจะมีโอกาสแพ้น็อกเหมือนอย่างกรณีของธนาธรได้
ด้านภาพรวมของคดีที่เกิดขึ้น ในแง่ของกรณีการถือหุ้นสื่อระหว่าง ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น หากคดีความถึงศาลรัฐธรรมนูญและมีการวินิจฉัยก็ขอให้ศาลท่านมองดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย และดูข้อเท็จจริงว่า สื่อไอทีวี ปิดกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ไม่มีพนักงานใดๆ ไม่มีการทำธุรกิจสื่อนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถ้าหากดูข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ ก็อยากขอให้ศาลยึดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า พิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่หากถูกตัดสินว่า มีความผิด อาจจะมีโอกาสซ้ำรอยกับกรณีของธนาธรถูกตัดสิทธิทางการเมือง อาจมีโอกาสที่ กกต.อาจจะยื่นคำร้องว่าพิธานั้นทราบอยู่แล้วหรือไม่ว่าตนเองมีลักษณะต้องห้าม ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ถ้าหาก กกต.คิดเห็นเช่นนี้ ในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความคิดเห็นทั้งหมดนี้ยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
ก็เป็นความเห็นของฝั่งนักวิชาการ ต่อประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็สามารถใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนประเทศไทย!