ค้าชายแดนไทยเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลธุรกิจขนส่งได้รับอานิสงส์เต็มๆ ผู้ประกอบการมือเก๋าดำเนินธุรกิจผ่านฉลุย ขณะที่บางส่วนไม่อัพเดทกฎระเบียบและมาตรการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศ ทำให้การดำเนินกิจการเกิดอาการสะดุด เป็นจุดอ่อนที่ผู้ประกอบการต้องรีบปรับปรุง กรมพัฒน์ฯ ไม่รอช้า เร่งให้ความรู้การจัดการขนส่งสินค้าชายแดนและข้ามแดนแบบ 360 องศา รู้ก่อน..รู้ลึก..รู้จริง ช่วยบริหารธุรกิจราบรื่น รับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อัพเดทพร้อมทำความเข้าใจรายละเอียดกฎเกณฑ์/ระเบียบ/ข้อบังคับแต่ละประเทศ ช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย อบรมวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเอส หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 20 มิถุนายน 2566 ทาง www.dbd.go.th หรือสมัครผ่านลิงก์ https://forms.gle/mi2FzfxkqvQkdTYf8
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลายลง การค้าชายแดนของไทยกลับมาฟื้นตัวและสดใสอีกครั้ง โดยมีบริบทด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศคู่ค้าที่สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ แก่ภาคธุรกิจไทย ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้การค้าชายแดนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ ภาคบริการด้านโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ประเภทการขนส่ง สะท้อนถึงภาคการค้า การลงทุนของไทยที่กำลังเดินไปข้างหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญและเติบโตตามสัดส่วนการค้าของไทย ผนวกกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลเชิงบวกและสนับสนุนให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยมีเสถียรภาพ มั่นคง และทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น ขณะที่ รัฐบาลมีเป้าหมายให้ระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญในอนุภูมิภาคและภูมิภาค
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยจำเป็นต้องศึกษา/อัพเดท กฎระเบียบ และข้อบังคับมาตรการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้ศึกษาและอัพเดทรายละเอียด/ข้อบังคับเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคและทำให้การบริหารจัดการธุรกิจเกิดอาการสะดุด เป็นจุดอ่อนที่ผู้ประกอบการต้องรีบปรับปรุง ที่อาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการสัมมนา "การจัดการขนส่งสินค้าชายแดนและข้ามแดน : Cross Border Transportation" เพื่อให้ความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพ และลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้าข้ามแดนของผู้ประกอบการ โดยหัวข้อการบรรยายจะเน้นที่การรู้ลึก รู้จริง ถึงภาพรวมการค้าชายแดนและโอกาสทางการค้าของไทย รูปแบบการขนส่ง/เส้นทางการข้ามแดน/จุดผ่านแดน ศึกษามาตรการ กฎระเบียบและข้อควรระวัง ขั้นตอนการขนส่งสินค้าและพิธีการศุลกากร เทคนิคการทำสัญญาทางการค้าให้ปลอดภัยและลดภาษี รวมถึง ความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าชายแดน ฯลฯ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชายด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ อาจารย์สุภาวดี คุ้มราษฎร์ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ (ธุรกิจระหว่างประเทศ) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ความคาดหวังที่ได้รับ คือ ให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาและอัพเดทข้อมูลการค้าระหว่างประเทศให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด จะช่วยให้การบริหารจัดการธุรกิจมีความคล่องตัว สามารถจัดการเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น รวมถึง สามารถรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในงานนอกจากจะรับฟังการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วย เป็นการเปิดโลกทัศน์ของผู้ประกอบการให้กว้างไกลมากขึ้น และได้เรียนรู้กรณีตัวอย่างที่มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจหรือใช้แก้ไขปัญหาของธุรกิจตนเองได้
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หรือ ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เข้าร่วมโครงการสัมมนา "การจัดการขนส่งสินค้าชายแดนและข้ามแดน : Cross Border Transportation" อบรมวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเอส หาดใหญ่ จ.สงขลา และเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 20 มิถุนายน 2566 หรือ จนกว่าที่นั่งจะเต็ม ทาง www.dbd.go.th หรือสมัครผ่านลิงก์ https://forms.gle/mi2FzfxkqvQkdTYf8 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์ 0 2547 5955 e-Mail : logisticsdbd@gmail.com และ www.dbd.go.th” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย เดือนมีนาคม 2566 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 9.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการค้า 163,714 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 88,673 ล้านบาท ในขณะที่การค้าผ่านชายแดนไปประเทศที่สาม ได้แก่ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ มีมูลค่ารวม 75,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้ามูลค่าการค้าชายแดนของไทยตลอดปี 2566 สูงถึง 1.06 ล้านล้านบาท
และข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ตามประเภทการขนส่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2566 การขนส่งทางเรือมีมูลค่าการค้ารวม 1.04 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 69) รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ 3.05 แสนล้านบาท (ร้อยละ 20.3) การขนส่งทางถนน 1.51 แสนล้านบาท (ร้อยละ 10) และ การขนส่งทางราง 1.58 พันล้านบาท (ร้อยละ 0.1)