ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โพสต์ระบุว่า.. หลายท่านคงได้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรลแบบคร่อมรางกันแล้ว ผมเคยบอกว่า โมโนเรลมี 2 แบบ คือ แบบคร่อมราง และแบบแขวนห้อยใต้ราง วันนี้ขอแนะนำให้รู้จักเพิ่มอีก 1 แบบ นั่นคือแบบ “วิ่งไม่ใช้ล้อ บินไม่ใช้ปีก”1. โมโนเรลแบบ “วิ่งไม่ใช้ล้อ บินไม่ใช้ปีก”โมโนเรลแบบ “วิ่งไม่ใช้ล้อ บินไม่ใช้ปีก” ก็คือ แม็กเลฟ นั่นเองแม็กเลฟ คือ รถไฟแบบแรงแม่เหล็กยก (Magnetic Levitation หรือ Maglev) โดยใช้พลังแม่เหล็กยกรถไฟขึ้นเหนือราง ซึ่งบางระบบใช้รางเดี่ยว และผลักให้วิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง เนื่องจากไม่มีการเสียดสีระหว่างล้อกับรางหลักการทำงานของแม่เหล็กไม่ยุ่งยาก โดยมีขดลวดเพื่อรับกระแสไฟฟ้าติดอยู่ที่ราง และมีแม่เหล็กติดอยู่ที่ตัวรถไฟ ในขั้นแรกขดลวดจะสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อยกรถไฟขึ้นเหนือราง ต่อจากนั้น ขดลวดอีกชุดหนึ่งจะสร้างสนามแม่เหล็กเพื่อให้บริเวณด้านหน้าของรถไฟมีแรงลากรถไฟ และบริเวณด้านหลังมีแรงผลัก แรงทั้งสองนี้จะช่วยทำให้แม็กเลฟกระโจนไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง ถึงเวลาเบรกก็เพียงแค่ทำให้แรงจากสนามแม่เหล็กมีทิศทางย้อนกลับเท่านั้นแม็กเลฟเป็นรถไฟที่ไม่ใช้ล้อ แต่วิ่งด้วยความเร็วสูงมาก จึงได้รับลักษณะเด่นว่า “วิ่งไม่ใช้ล้อ บินไม่ใช้ปีก” 2. เทคโนโลยีของแม็กเลฟแม็กเลฟมี 2 เทคโนโลยี คือเทคโนโลยีของเยอรมนี และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ซึ่งใช้หลักการเดียวกัน แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่เห็นชัดๆ ก็คือ แม็กเลฟของญี่ปุ่นช่วงออกตัวต้องใช้ล้อจนกระทั่งวิ่งถึงความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงเก็บล้อแล้วลอยตัวขึ้น ในขณะที่ของเยอรมนีไม่ใช้ล้อ วิศวกรญี่ปุ่นคุยว่าเทคโนโลยีของเขามีข้อได้เปรียบ เพราะเมื่อกระแสไฟฟ้าขัดข้องก็สามารถใช้ล้อแทนได้ แต่วิศวกรเยอรมนีโต้ว่าของเขามีแบตเตอรี่สำรองไว้จ่ายไฟกรณีฉุกเฉินอยู่แล้วถึงเวลานี้แม็กเลฟของญี่ปุ่นสามารถวิ่งบนเส้นทางทดสอบ (Test Track) ได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 603 กิโลเมตร/ชั่วโมง3. แม็กเลฟที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปี พ.ศ. 2547 จีนเปิดให้บริการแม็กเลฟเชิงพาณิชย์ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นโมโนเรลแบบคร่อมราง ใช้เทคโนโลยีของเยอรมนี เชื่อมสนามบินผู่ตงและย่านหลงหยาง ระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้เวลา 7 นาทีครึ่ง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 431 กิโลเมตร/ชั่วโมงปี พ.ศ. 2564 จีนเผยโฉมต้นแบบแม็กเลฟวิ่งระหว่างกรุงปักกิ่งกับนครเซี่ยงไฮ้ ระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 600 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงซึ่งใช้เวลา 5 ชั่วโมงครึ่ง แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นโมโนเรลหรือไม่ ? และจะเปิดใช้เมื่อไหร่ ? ปี พ.ศ. 2570 ญี่ปุ่นมีแผนที่จะเปิดใช้แม็กเลฟระหว่างกรุงโตเกียว-นาโกย่า ระยะทาง 286 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 505 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 40 นาที เร็วกว่าชินคันเซ็นซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง แม็กเลฟสายนี้ไม่ถือว่าเป็นโมโนเรล4. สรุปเราคนไทยทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตารอใช้รถไฟความเร็วสูงสายแรก เชื่อมกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงปกติ ไม่ใช่แม็กเลฟมาอย่างยาวนาน ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ ? ดังนั้น อย่าเพิ่งวาดฝันที่จะใช้แม็กเลฟเลยครับ