แม้ว่าพรรคก้าวไกล จะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด และทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้นำประเทศคนต่อไปจะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ เมื่อสำรวจตรวจสอบกันอย่างละเอียดแล้ว ยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมากมายรอขวางทางอยู่
เส้นทางการขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ดูช่างมีอุปสรรค ขวากหนามมหาศาลกองพะเนิน สกัดกั้น เต็มไปหมด
ล่าสุด แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะมีมติยกคำร้องของการถือหุ้นสื่อ หรือ "หุ้นไอทีวี" ที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ , ศรีสุวรรณ จรรยา และ สนธิญา สวัสดี โดยให้เหตุผลว่า เป็น "คำร้อง" ที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งว่า มีคุณลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
แต่เห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และ มาตรา 151
สรุปชัดๆ ง่ายๆ ว่า "รู้ว่าไม่มีสิทธิ แต่ยังจงใจ" !
ซึ่งกรณีนี้ หนักหนาสาหัสกว่าเดิม เพราะหากผิดจริง! จะมีโทษจำคุก 1-10 ปี และที่สำคัญ ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี เรียกว่า "หมดอนาคตบนถนนการเมือง" โดยปริยาย ล่าสุด กกต.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว
นอกจากหุ้นสื่อแล้ว ยังมีเรื่องการไปค้ำประกันเงินกู้ จำนวนก้อนหนึ่ง ที่ไปเซ็นค้ำประกันเอาไว้ ตัวเลขเท่าไร ยังไม่มีการเปิดเผย โดย นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาฯ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า นายพิธา เคยยื่นการค้ำประกันเงินกู้เข้ามาแล้ว 1 ก้อน ก่อนหน้านี้ แต่ไม่แน่ใจว่า เป็นก้อนเดียวกันหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน แต่จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา
ส่วนกรณีมีการตั้งคำถามว่า เมื่อมีการค้ำประกันแล้ว ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินจะมีความผิดหรือไม่นั้น เลขาฯ ป.ป.ช. บอกว่า การค้ำประกันถือว่า ยังไม่มีหนี้ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงสิทธิจากการกู้ยืมเงิน หากลูกหนี้ตัวจริงผิดนัดชำระก็จะไปเรียกจากคนค้ำประกันที่ต้องเป็นคนรับผิดชอบ
"แต่ตอนนี้ เป็นสิทธิของลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันเท่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่า จำเป็นต้องยื่นรายการนี้ด้วยหรือไม่ แต่การตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่านายพิธาเคยยื่นมา 1 บัญชีเกี่ยวกับการค้ำประกัน"
ทั้งหมด น่าจะเป็นสองเรื่องหลัก ทั้ง "หุ้นสื่อ-ค้ำประกันเงินกู้" ที่เป็นด่านสกัดกั้น การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย สำหรับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว ตามกระบวนการขั้นตอน เมื่อตรวจสอบจากบรรดา ผู้รู้และกูรู ทั้งหลาย เชื่อว่า อย่างน้อยต้องใช้เวลา 3-5 ปี
ดังนั้น "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และพรรคก้าวไกล คงพอมีเวลาหายใจหายคอ สามารถเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งต้องรอ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ภายในเวลา 60 วัน โดยผลการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย ก้าวไกล, เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย, เพื่อไทรวมพลัง, เป็นธรรม และ พลังสังคม รวบรวมเสียงได้ 313 เสียง ประกาศจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว และกระแสข่าววงใน ระบุว่าถึงขั้นเจรจา จัดสรรตำแหน่ง รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ กันแล้ว โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงผ่านสื่อว่า
"ทุกพรรคขอขอบคุณทุกเสียงที่ประชาชนมอบให้ เสียงของประชาชนทุกเสียงคือเสียงแห่งความหวัง คือเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน ทุกพรรคขอประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนร่วมกัน ด้วยความเคารพในฉันทามติของประชาชน"
“อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมพิธีวันพืชมงคลที่ผ่านมา ว่า กกต.จะเร่งรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จทัน 60 วัน มั่นใจว่าทำได้เร็วขึ้น 3-5 สัปดาห์ โดยมีเรื่องร้องเรียนทุจริตการเลือกตั้ง ประมาณ 280 เรื่อง และ พบบุคคลที่ชนะเลือกตั้ง เข้าข่ายทำผิดประมาณ 20 ราย โดยตามขั้นตอนต้องเร่งรับรองให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา เลือกประธานสภาฯ และ นายกรัฐมนตรี
ซึ่งการเลือกนายกฯ จะเป็นด่านชั้นที่ 3 สำหรับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เพราะมีกับดัก 250 ส.ว. รออยู่ข้างหน้า ถือเป็นด่านหิน หนักหนาอันรุนแรงที่สุด เพราะต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียงจากทั้งหมด 2 สภา คือ จากสภาผู้แทนราษฎร 500 เสียง และ สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง
ขณะที่ ณ เวลานี้ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมีอยู่แล้ว 313 เสียง จึงต้องหาเสียง ส.ว. มาเพิ่มอีกอย่างน้อย 63 เสียง!!
แต่โดยนัยทางการเมือง ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกล กับวุฒิสมาชิก ถือ เป็น "ไม้เบื่อ ไม้เมา" ที่ไม่ลงรอยกัน อย่าลืมว่า ประเด็นหาเสียงของ "ก้าวไกล" ที่ประกาศมาตลอด จนได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคือ "มีเราไม่มีลุง" นั่นหมายความว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบาย ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นคือ ไม่จับมือ กับ "รวมไทยสร้างชาติ" และ "พลังประชารัฐ" แน่นอน
รวมทั้งกรณี มีนโยบาย จะแก้ไข มาตรา 112 ที่ส่อกระทบถึงสถาบัน เป็นเหตุผลให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ ยกเป็นข้ออ้างที่จะไม่ลงคะแนนให้
เรียกว่าแบ่งขั้วชัดเจน ระหว่าง เสรีประชาธิปไตย กับ อนุรักษ์นิยม และนั่นจึงเป็นอุสรรคอย่างมากในการก้าวสู่เก้าอี้นายกฯ เพราะวุฒิสมาชิกทั้ง 250 เสียงนั้น ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้พิจารณามาทั้งหมด
เมื่อมีธง "มีเราไม่มีลุง" ก็อย่าหวังจะได้เสียง จากวุฒิสมาชิก แม้จะมี ส.ว.บางราย ประกาศตัวเป็นประชาธิปไตย ยอมรับเสียงประชาชน จะยกมือให้ พิธา เป็นนายกฯ แต่ตรวจสอบดูแล้ว มีอย่างมากไม่ถึง 20 ราย
ดังนั้น ด่าน "250 ส.ว." จึงถือเป็นด่านหิน ที่ยากจะผ่านไปได้ง่ายๆ ของเป้าหมายการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ คือ ตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่จนถึงป่านนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ เมื่อ "อดิสร เพียงเกษ" อดีต ส.ส.ขอนแก่น เพื่อไทย ออกมาระบุว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นของเพื่อไทย เพราะเมื่อ ก้าวไกล พรรคอันดับหนึ่ง ได้เก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว พรรคที่ ส.ส.ลำดับที่ 2 ควรได้เก้าอี้ ประธานสภาฯ เป็นตรรกะง่ายๆ ที่แกนนำเพื่อไทย ยกมาเป็นข้ออ้าง
ขณะที่ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ตามธรรมเนียมแล้ว ต้องเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง และที่สำคัญ ก้าวไกล มีวาระพิเศษหลายกรณี จากนโยบายหาเสียง จำเป็นต้องใช้เก้าอี้ประธานสภาฯ เป็นเครื่องมือเร่งรัดดำเนินการ !
เรียกว่า ทั้ง "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ต่างปักหลัก ไม่ยอมกันง่ายๆ จนเกิดวิวาทะออกมาหลายกรณี จนทำให้ "ชวน หลีกภัย" อดีตประธานสภาฯ ต้องออกมาสอนมวยว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้อง "วางตัวเป็นกลาง" ไม่มีหน้าที่จะต้องทำตามนโยบายทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง!
ก็เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่ต้องจับตาว่า จะลงเอยได้ข้อยุติอย่างไร เพราะทั้งสองฝ่าย ได้วางตัวบุคคลที่จะมารับตำแหน่งประธานสภาฯ กันแล้ว โดย เพื่อไทย สนับสนุน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ขณะที่ ก้าวไกล วางตัว "ณัฐวุฒิ บัวประทุม" และ "ธีรัจชัย พันธุมาศ" โดยทั้ง 3 รายชื่อนี้ "หมอชลน่าน" ได้รับเสียงหนุนมากที่สุด เพราะมีดีกรี และคุณสมบัติ เหมาะสมมากที่สุด จากการเป็น ส.ส.มาแล้วถึง 6 สมัย
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นร้อน กรณี "ถือหุ้นสื่อ" จนมาถึง "จงใจสมัคร" ส.ส.ทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิ อาจเป็น "อุบัติเหตุ" การเมืองรุนแรง ถึงขั้นกระเด็นพ้นเก้าอี้ ส.ส. และไม่มีสิทธิเป็นนายกฯ และ ที่สำคัญพรรคก้าวไกล วางตัว "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นหนึ่งเดียว ในแคนดิเดตนายกฯ ต่างจากเพื่อไทย ที่วางตัวไว้ถึงสามคน คือ เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ
จึงมีกระแสข่าว เปลี่ยนสูตรจัดตั้งรัฐบาล ให้เพื่อไทย พลิกขึ้นมาเป็นแกนนำ ผลักก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน และหันไปจับขั้วกับ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยให้ "บิ๊กป้อม" ลาออกจากหัวหน้าพรรค พปชร. และให้สมาชิก พปชร.ทั้งหมด ยกทีมโผซบเพื่อไทย แก้ปัญหา 250 ส.ว. โดยพร้อมโหวตให้แคนดิเดตของเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี
เกมนี้ แก้ปัญหาได้หมด และทำได้ง่ายดาย แต่จะทำให้ภาพของเพื่อไทย กลายเป็นคนทรยศ หักหลังเพื่อน ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียทางการเมืองในอนาคต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ในเมื่อสัจจธรรมของการเมือง คำว่า "ไม่มีมิตรแท้ และ ศัตรูถาวร"
มักจะเกิดขึ้นได้เสมอ ในบริบทของ การเมืองไทย !!